Main navigation

วาจาสุภาษิตเหมือนดอกไม้

เหตุการณ์
พระศาสดาทรงปรารภฉัตตปาณิอุบาสก ผู้เป็นคฤหัสถ์อนาคามี

อุบาสกคนหนึ่งชื่อฉัตตปาณิ เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก เป็นอนาคามี อุบาสกนั้นเป็นผู้รักษาอุโบสถแต่เช้าตรู่ ได้ไปเฝ้าพระศาสดา นั่งฟังธรรมกถา เมื่อฉัตตปาณิเห็นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมา ฉัตตปาณิไม่ลุกรับเสด็จพระราชาด้วยคิดว่า ถ้านั่งในสำนักของพระราชา ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ ก็ไม่ควร พระราชาจะกริ้ว แต่ถ้านั่งในสำนักของพระศาสดา เมื่อเห็นพระราชาแล้ว ลุกขึ้นเป็นการทำความเคารพพระราชาแต่ไม่ทำความเคารพพระศาสดา ถึงพระราชาจะกริ้ว ก็จะไม่ลุกขึ้น
 
ก็ธรรมดาบุรุษผู้เป็นบัณฑิต เห็นคนที่นั่งในสำนักของท่านที่ควรเคารพกว่าตน ไม่ลุกขึ้นต้อนรับ ย่อมไม่โกรธ แต่พระราชาเห็นอุบาสกนั้นไม่ลุกขึ้นต้อนรับ มีพระมนัสขุ่นเคือง ถวายบังคมพระศาสดา แล้วประทับนั่ง พระศาสดาทรงทราบความที่พระราชากริ้ว จึงตรัสกถาพรรณนาคุณของอุบาสกว่า ฉัตตปาณิอุบาสกเป็นบัณฑิต มีธรรมเห็นแล้ว ทรงพระไตรปิฎก ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ เมื่อพระราชาทรงสดับคุณกถาของอุบาสก พระหฤทัยก็อ่อน
 
วันหนึ่ง พระราชาเห็นฉัตตปาณิอุบาสกผู้ทำภัตกิจเสร็จแล้ว กั้นร่ม สวมรองเท้า เดินไปทางพระลานหลวง จึงรับสั่งให้ราชบุรุษเรียกมา อุบาสกนั้นหุบร่มและถอดรองเท้าออก แล้วเข้าไปเฝ้าพระราชา พระราชาจึงตรัสถามว่าทำไมวันนี้อุบาสกจึงหุบร่มและถอดรองเท้าออก แต่ไม่ลุกขึ้นต้อนรับในสำนักของพระศาสดา อุบาสกจึงตอบว่าเพราะพระราชาสั่งหา เมื่อนั่งในสำนักของพระศาสดา เมื่อเห็นพระราชาแล้ว ลุกขึ้นต้อนรับ พึงเป็นผู้ไม่เคารพในพระศาสดา เพราะฉะนั้น จึงไม่ลุกขึ้นต้อนรับ
 
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ยินคำเลื่องลือว่าฉัตตปาณิเป็นผู้ฉลาดในประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรมและสัมปรายภพ ทรงพระไตรปิฎก จึงขอให้เขาบอกธรรมแก่พระองค์ภายในวัง
 
ฉัตตปาณิตอบว่าไม่สามารถบอกธรรมได้ เพราะพระราชมณเทียรย่อมเป็นสถานที่มีโทษมาก ในพระราชมณเทียรนี้ กรรมที่บุคคลประกอบชั่วและดี ย่อมเป็นกรรมหนัก อุบาสกบอกให้นิมนต์บรรพชิตรูปหนึ่งมาให้บอกธรรม พระราชาจึงให้อุบาสกไป
 
พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปสู่ที่เฝ้าพระศาสดา ทูลขอพระศาสดาว่า พระนางมัลลิกาเทวีและพระนางวาสภขัตติยาจะเรียนธรรม จึงขอพระพุทธเจ้ากับภิกษุ ๕๐๐ รูป เสด็จไปพระราชวังเพื่อทรงแสดงธรรมแก่พระราชเทวีทั้งสองเป็นเนืองนิตย์
 
พระศาสดาตรัสว่าธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีไปในที่แห่งเดียวเนืองนิตย์ พระศาสดาได้ทรงมอบให้เป็นภาระแก่พระอานนท์เถระ พระเถระไปแสดงพระบาลีแก่พระนางเหล่านั้นเนืองนิตย์ พระนางมัลลิกาเทวีได้เรียน ได้ท่อง และให้พระเถระรับรองพระบาลีโดยเคารพ ส่วนพระนางวาสภขัตติยาไม่เรียน ไม่ท่องโดยเคารพ และ ไม่อาจให้พระเถระรับรองพระบาลีโดยเคารพได้
 
พระศาสดาตรัสถามพระเถระว่าพระนางทั้งสองยังเรียนธรรมอยู่หรือไม่ พระอานนท์ได้ทูลตอบ เมื่อพระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพระเถระแล้ว ตรัสว่า
 
ธรรมดาธรรมที่พระตถาคตกล่าวแล้ว ย่อมไม่มีผลแก่ผู้ไม่ฟัง ไม่เรียน ไม่ท่อง ไม่แสดงโดยเคารพ ดุจว่าดอกไม้สมบูรณ์ด้วยสี แต่ไม่มีกลิ่นหอม ฉะนั้น แต่ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มากแก่ผู้ทำกิจทั้งหลายมีการฟังโดยเคารพเป็นต้น
 
ดังนี้แล้ว ได้ตรัสสองพระคาถาเหล่านี้ว่า
 
ดอกไม้งามมีสี แต่ไม่มีกลิ่นหอม แม้ฉันใด วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น ย่อมไม่มีผล แก่ผู้ไม่ทำอยู่  ส่วนดอกไม้งาม มีสีพร้อมด้วยกลิ่นหอม แม้ฉันใด วาจาสุภาษิตก็ฉันนั้น ย่อมมีผลแก่ผู้ทำดีอยู่
 
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น



อ่าน ฉัตตปาณิอุบาสก
อ่าน คาถาธรรมบท ปุปผวรรค

 

อ้างอิง
ฉัตตปาณิอุบาสก พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏ ฯ เล่มที่ ๔๑ หน้า ๖๖-๗๒
ลำดับที่
24

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ