Main navigation

ใจที่น้อมไปในบาป

เหตุการณ์
พระศาสดาทรงปรารภพราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก ได้ถวายผ้าห่มที่มีผืนเดียว ทานของพราหมณ์ให้ผล แต่ควรทำในทันทีที่จิตกุศลเกิดขึ้น กุศลที่บุคคลทำช้า เมื่อให้สมบัติ ย่อมให้ช้าเหมือนกัน

พราหมณ์คนหนึ่งชื่อจูเฬกสาฎก ในเมืองสาวัตถี เขาและนางพราหมณีมีผ้าสาฎกผืนเดียวเท่านั้น ในเวลาไปภายนอก พราหมณ์หรือพราหมณีจะผลัดกันห่มผ้าผืนนั้น วันหนึ่ง มีการประกาศการฟังธรรมในวิหาร นางพราหมณีได้ห่มผ้าสาฎกไปฟังในตอนกลางวัน พอถึงเวลากลางคืน พราหมณ์จึงได้ไปนั่งฟังธรรม

พราหมณ์ได้เกิดความปีติขึ้นทั่วสรีระของเขา พราหมณ์คิดบูชาธรรมด้วยผ้าสาฎกที่ห่มอยู่ แต่ก็คิดว่าถ้าถวายผ้าสาฎก เขาและนางพราหมณีจะไม่มีผ้าห่มอีก ขณะนั้น จิตประกอบด้วยความตระหนี่พันดวงเกิดขึ้นแก่เขา จิตประกอบด้วยสัทธาดวงหนึ่งเกิดขึ้นอีก จิตประกอบด้วยความตระหนี่พันดวงคอยกีดกันสัทธาจิตไว้ ขณะที่เขากำลังคิดว่าจักถวาย หรือจักไม่ถวาย ปฐมยาม และ มัชฌิมยามก็ล่วงไปแล้ว จนเมื่อถึงปัจฉิมยาม เขาได้คิดว่ารบกับสัทธาจิตและมัจเฉรจิตอยู่ ๒ ยามล่วงไปแล้ว ถ้ามัจเฉรจิตของเขาเจริญอยู่ เขาจักไม่อาจออกจากอบาย ๔ ได้ เขาข่มความตระหนี่ตั้งพันดวงได้แล้ว ทำสัทธาจิตให้เป็นปุเรจาริก เขานำผ้าสาฎกไปถวายพระศาสดา แล้วได้เปล่งเสียงอันดังขึ้น ๓ ครั้งว่า “ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว ข้าพเจ้าชนะแล้ว”
 
พระเจ้าปเสนทิโกศลกำลังทรงฟังธรรม ได้ยินเสียงเปล่งของพราหมณ์และเมื่อได้ทราบเรื่องและดำริว่าพราหมณ์ทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก พระองค์จักทำการสงเคราะห์เขา จึงพระราชทานผ้าสาฎก ๑ คู่ พราหมณ์ได้ถวายผ้านั้นแด่พระตถาคตเหมือนกัน พระราชาจึงพระราชทานเป็นทวีคูณอีก คือ ๒ คู่ ๔ คู่ ๘ คู่ ๑๖ คู่ เขาได้ถวายผ้าเหล่านั้นแด่พระตถาคต
 
ต่อมา พระราชารับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎก ๓๒ คู่แก่เขา พราหมณ์เพื่อจะป้องกันวาทะว่า พราหมณ์ไม่ถือเอาเพื่อตน สละผ้าที่ได้แล้ว ๆ เสียสิ้น พราหมณ์จึงเอาผ้าสาฎก ๒ คู่จากผ้า ๓๒ คู่นั้น คือ เพื่อตน ๑ คู่ เพื่อนางพราหมณี ๑ คู่ แล้วได้ถวายผ้าสาฎก ๓๐ คู่แด่พระตถาคต

ฝ่ายพระราชา เมื่อเห็นพราหมณ์นั้นถวายถึง ๗ ครั้ง จึงได้พระราชทานผ้ากัมพล ๒ ผืนมีค่าแสนหนึ่งแก่พราหมณ์ พราหมณ์คิดว่าผ้ากัมพลนั้นสมควรแก่พระพุทธศาสนาเท่านั้น เขาจึงได้ขึงผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ทำให้เป็นเพดานไว้เบื้องบนที่บรรทมของพระศาสดาภายในพระคันธกุฎี ขึงผืนหนึ่งทำให้เป็นเพดานในที่ทำภัตกิจของภิกษุ
 
ในเวลาเย็น พระราชาเสด็จไปสู่สำนักของพระศาสดา ทรงจำผ้ากัมพลนั้นได้ เมื่อได้ทราบว่าพราหมณ์เป็นคนถวายบูชา ทรงดำริว่า พราหมณ์และพระองค์เลื่อมใสในฐานะเหมือนกัน พระราชาจึงพระราชทานสรรพวัตถุอย่างละ ๔ แก่พราหมณ์นั้น คือ ช้าง ๔ ม้า ๔ กหาปณะ สี่พัน สตรี ๔ ทาสี ๔ บุรุษ ๔ บ้านส่วย ๔ ตำบล  
 
พวกภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่ากรรมของพราหมณ์น่าอัศจรรย์ ชั่วครู่เดียวเท่านั้น เขาได้สรรพวัตถุอย่างละ ๔ กรรมอันงามที่เขาทำในที่อันเป็นเนื้อนาบุญในบัดนี้ ให้ผลในวันนี้

เมื่อพระศาสดาได้ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุสนทนากัน จึงตรัสว่า
 
ถ้าพราหมณ์นี้ถวายผ้าในปฐมยาม เขาจักได้สรรพวัตถุอย่างละ ๑๖ ถ้าถวายในมัชฌิมยาม เขาจักได้สรรพวัตถุอย่างละ ๘ แต่เพราะถวายในเวลาจวนใกล้รุ่ง เขาจึงได้สรรพวัตถุอย่างละ ๔
 
แท้จริง กรรมงามอันบุคคลผู้เมื่อกระทำ ควรทำในทันทีนั้นเอง เพื่อไม่ให้จิตที่เกิดขึ้นเสื่อมเสีย ด้วยว่ากุศลที่บุคคลทำช้า เมื่อให้สมบัติ ย่อมให้ช้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พึงทำกรรมงามในลำดับแห่งจิตตุปบาททีเดียว
 
เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
 
บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิตเสียจากบาป เพราะว่าเมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่ ใจจะยินดีในบาป
 
ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากได้บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น



อ่าน พราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก
อ่าน คาถาธรรมบท ปาปวรรค

 

อ้างอิง
พราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏ เล่มที่ ๔๒ หน้า ๔-๘
ลำดับที่
16

สถานที่

วิหารเชตวัน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ