Main navigation
เวทนา
Share:

(๑) เวทนาโดยปริยายต่าง ๆ

โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๕ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๖ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี
โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี

ก็เวทนา ๒ เป็นไฉน คือ

เวทนาทางกาย ๑
เวทนาทางใจ ๑
เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๒

ก็เวทนา ๓ เป็นไฉน คือ

สุขเวทนา ๑
ทุกขเวทนา ๑
อทุกขมสุขเวทนา ๑
เหล่านี้เรียกว่า เวทนา ๓

ก็เวทนา ๕ เป็นไฉน คือ

สุขินทรีย์ ๑
ทุกขินทรีย์ ๑
โสมนัสสินทรีย์ ๑
โทมนัสสินทรีย์ ๑
อุเบกขินทรีย์ ๑
เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ๕

ก็เวทนา ๖ เป็นไฉน

คือจักขุสัมผัสสชาเวทนา ๑
โสตสัมผัสสชาเวทนา ๑
ฆานสัมผัสสชาเวทนา ๑
ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา ๑ 
กายสัมผัสสชาเวทนา ๑
มโนสัมผัสสชาเวทนา ๑
เหล่านี้เรียกว่าเวทนา ๖

ก็เวทนา ๑๘ เป็นไฉน คือ

เวทนาที่สหรคตด้วยโสมนัส ๖
เวทนาที่สหรคตด้วยโทมนัส ๖
เวทนาที่สหรคตด้วยอุเบกขา ๖
เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๑๘

ก็เวทนา ๓๖ เป็นไฉน คือ

เคหสิตโสมนัส ๖
เนกขัมมโสมนัส ๖
เคหสิตโทมนัส ๖
เนกขัมมสิตโทมนัส ๖
เคหสิตอุเบกขา ๖
เนกขัมมสิตอุเบกขา ๖
เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๓๖

เวทนา ๑๐๘ เป็นไฉน คือ

เวทนาที่เป็นอดีต ๓๖
ที่เป็นอนาคต ๓๖
ที่เป็นปัจจุบัน ๓๖
เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ๑๐๘


(๒) ธรรมทั้งปวงมีเวทนาเป็นที่ประชุมลง


(๓) เวทนาและอนุสัย

ก็สุขเวทนาเป็นอย่างไร ทุกขเวทนาเป็นอย่างไร อทุกขมสุขเวทนาเป็นอย่างไร

ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขสำราญ อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต นี่เป็นสุขเวทนา

ความเสวยอารมณ์ที่เป็นทุกข์ไม่สำราญ อันเป็นไปทางกายหรือเป็นไปทางจิต นี่เป็นทุกขเวทนา

ความเสวยอารมณ์ที่มิใช่ความสำราญ และมิใช่ความไม่สำราญ (เป็นส่วนกลางมิใช่สุขมิใช่ทุกข์) อันเป็นไปทางกาย หรือเป็นไปทางจิต นี่เป็นอทุกขมสุขเวทนา

สุขเวทนา เป็นสุขเพราะตั้งอยู่ เป็นทุกข์เพราะแปรไป

ทุกขเวทนา เป็นทุกข์เพราะตั้งอยู่ เป็นสุขเพราะแปรไป

อทุกขมสุขเวทนา เป็นสุขเพราะรู้ชอบเป็นทุกข์เพราะรู้ผิด

ราคานุสัย นอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนา แต่ราคานุสัยทั้งหมดไม่ได้นอนเนื่องอยู่ในสุขเวทนา

ปฏิฆานุสัย นอนเนื่องอยู่ในทุกขเวทนา แต่ปฏิฆานุสัยทั้งหมดไม่ได้นอนเนื่องอยู่ในทุกขเวทนา

อวิชชานุสัย นอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา แต่อวิชชานุสัยทั้งหมดไม่ได้นอนเนื่องอยู่ในอทุกขมสุขเวทนา

ราคานุสัยจะพึงละได้ในสุขเวทนา แต่ราคานุสัยทั้งหมดไม่ได้ละได้ในสุขเวทนา ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตกมีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ ย่อมละราคะด้วยปฐมฌานนั้น ราคานุสัยไม่ได้ตามนอนอยู่ในปฐมฌานนั้น

ปฏิฆานุสัยจะพึงละได้ในทุกขเวทนา แต่ปฏิฆานุสัยทั้งหมดไม่ได้ละได้ในทุกขเวทนา ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นอยู่ว่า เมื่อไรเราจะได้บรรลุอายตนะที่พระอริยะทั้งหลายบรรลุแล้วอยู่ในบัดนี้ ดังนี้ เมื่อภิกษุนั้นเข้าไปตั้งความปรารถนาในวิโมกข์ทั้งหลายอันเป็นอนุตตรธรรมอย่างนี้ โทมนัสย่อมเกิดขึ้น เพราะความปรารถนาเป็นปัจจัย ท่านละปฏิฆะได้ด้วยความโทมนัสนั้น ปฏิฆานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในความโทมนัสนั้น

อวิชชานุสัยจะพึงละได้ในอทุกขมสุขเวทนา แต่อวิชชานุสัยทั้งหมดไม่ได้ละได้ในอทุกขมสุขเวทนา ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ย่อมละอวิชชาได้ด้วยจตุตถฌานนั้น อวิชชานุสัยมิได้ตามนอนอยู่ในจตุตฌานนั้น

ราคะเป็นส่วนเปรียบแห่งสุขเวทนา

ปฏิฆะเป็นส่วนแห่งเปรียบแห่งทุกขเวทนา

อวิชชาเป็นส่วนเปรียบแห่งอทุกขมสุขเวทนา


(๔) ความต่างกันแห่งเวทนา คือ

สุขเวทนาที่เจือด้วยอามิสมีอยู่
สุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิสมีอยู่

ทุกขเวทนาที่เจือด้วยอามิสมีอยู่
ทุกขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิสมีอยู่

อทุกขมสุขเวทนาที่เจือด้วยอามิสมีอยู่
อทุกขมสุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิสมีอยู่

วิบากแห่งเวทนา คือ

การที่บุคคลผู้เสวยเวทนาอยู่ ย่อมยังอัตภาพที่เกิดขึ้นจากเวทนานั้น ๆ ให้เกิดขึ้น เป็นส่วนบุญหรือเป็นส่วนมิใช่บุญ

ความดับแห่งเวทนา ย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ

ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนา คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ

เมื่อใดอริยสาวกทราบชัดเวทนา เหตุเกิดแห่งเวทนา ความต่างกันแห่งเวทนา วิบากแห่งเวทนา ความดับแห่งเวทนา ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนาอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัด พรหมจรรย์อันเป็นไปในส่วนแห่งการชำแรกกิเลสเป็นที่ดับเวทนานี้

(๕) ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมไม่รู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ๓ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ยังไม่นับว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้น ย่อมไม่กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะ หรือของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ๓ เหล่านี้ตามความเป็นจริง สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น นับว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์ของความเป็นสมณะหรือของความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่


(๖) ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นไฉน

เพราะผัสสะเกิดเวทนาจึงเกิด

ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นไฉน

ตัณหาเป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงเหตุเกิดแห่งเวทนา

ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน

เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ

ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ เป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา

อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา

สุขโสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยเวทนาอันใด นี้เป็นคุณแห่งเวทนา

อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา

เวทนาอันใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งเวทนา

อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา

ความกำจัด ความละฉันทราคะในเวทนา นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา


การเสวยเวทนา

(๗) เพราะอะไรจึงเรียกว่า เวทนา

เพราะเสวย จึงเรียกว่า เวทนา

เสวยอะไร

เสวยอารมณ์สุขบ้าง เสวยอารมณ์ทุกข์บ้าง เสวยอารมณ์ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง

บุคคลย่อมตามระลึกถึงเวทนาดังนี้ว่า ในอดีตกาล เราเป็นผู้มีเวทนาอย่างนี้

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า บัดนี้ เราถูกเวทนากินอยู่ แม้ในอดีตกาล เราก็ถูกเวทนากินแล้ว เหมือนกับที่ถูกเวทนาปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้ ก็เรานี้ พึงชื่นชมเวทนาอนาคต แม้ในอนาคตกาล เราก็พึงถูกเวทนากิน เหมือนกับที่ถูกเวทนาปัจจุบันกินอยู่ในบัดนี้

เธอพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมไม่มีความอาลัยในเวทนาอดีต ย่อมไม่ชื่นชมเวทนาอนาคต ย่อมปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับเวทนาในปัจจุบัน

(๘) ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อะไรเป็นความพิเศษ เป็นความแปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา ๒ อย่าง คือ เวทนาทางกายและเวทนาทางใจ

เขาเป็นผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมนอนตามเขาผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา

เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลินกามสุข เพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนานอกจากกามสุข และเมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่ ราคานุสัยเพราะสุขเวทนานั้นย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง

เมื่อเขาไม่รู้เหตุเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมนอนเนื่อง

เขาย่อมเสวยสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น

ย่อมเสวยทุกขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น

และย่อมเสวยอทุกขมสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ เราเรียกว่าเป็นผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วยทุกข์

ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความ
งมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ

เธอย่อมไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้นย่อมไม่นอนตามเธอผู้ไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา

เธอผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินกามสุข เพราะอริยสาวกผู้ได้สดับนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนานอกจากกามสุข เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง

เมื่อเธอรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้นตามความเป็นจริง อวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมไม่นอนเนื่อง

ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น

ถ้าเสวยทุกขเวทนาย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เราย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากทุกข์

นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลกกัน เป็นเครื่องกระทำให้ต่างกันระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

อริยสาวกนั้นเป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต ย่อมไม่เสวยทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา นี้แลเป็นความแปลกกันระหว่างธีรชนผู้ฉลาดกับปุถุชน ธรรมส่วนที่น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยีจิตของอริยสาวกนั้น ผู้มีธรรมอันรู้แจ้งแล้ว เป็นพหูสูตเห็นแจ้งโลกนี้และโลกหน้าอยู่ ท่านย่อมไม่ถึงความขัดเคืองเพราะอนิฏฐารมณ์ อนึ่งเวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะอริยสาวกนั้นไม่ยินดีและไม่ยินร้าย อริยสาวกนั้นรู้ทางดำเนินอันปราศจากธุลีและหาความโศกมิได้ ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพรู้โดยชอบ

(๙) ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา

เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมสงบ ย่อมระงับ


เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

(๑๐) ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ตาม ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอกมีอยู่ ภิกษุรู้ว่าเวทนานี้เป็นทุกข์ มีความพินาศเป็นธรรมดา มีความทำลายเป็นธรรมดา ถูกต้องความสิ้นไปอยู่ ย่อมคลายความยินดีในเวทนาเหล่านั้น ด้วยประการอย่างนี้

(๑๑) เพราะผัสสะเป็นปัจจัย ย่อมเกิดความเสวยอารมณ์ เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง

เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลิน พูดถึง ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงมีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่

อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ลำบาก ร่ำไห้ คร่ำครวญทุ่มอก ถึงความหลงพร้อม จึงมีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่

อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่ทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไป คุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงมีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่

ข้อที่บุคคลนั้นยังไม่ละราคานุสัยเพราะสุขเวทนา ยังไม่บรรเทาปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนา ยังไม่ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ยังไม่ทำวิชชาให้เกิดเพราะไม่ละอวิชชาเสีย แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้

เขาอันสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดำรงอยู่ด้วยความติดใจ จึงไม่มีราคานุสัยนอนเนื่องอยู่

อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากไม่ร่ำไห้ ไม่คร่ำครวญทุ่มอก ไม่ถึงความหลงพร้อม จึงไม่มีปฏิฆานุสัยนอนเนื่องอยู่

อันอทุกขมสุขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมทราบชัดความตั้งขึ้น ความดับไปคุณ โทษ และที่สลัดออกแห่งเวทนานั้น ตามความเป็นจริง จึงไม่มีอวิชชานุสัยนอนเนื่องอยู่

ข้อที่บุคคลนั้นละราคานุสัยเพราะสุขเวทนา บรรเทาปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนา ถอนอวิชชานุสัยเพราะอทุกขมสุขเวทนา ยังวิชชาให้เกิดขึ้นเพราะละอวิชชาเสียได้ แล้วจักเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันได้ นั่นเป็นฐานะที่มีได้

(๑๒) เวทนาเป็นอนัตตา ถ้าเวทนานี้จักได้เป็นอัตตาแล้ว เวทนานี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในเวทนาว่า เวทนาของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด เวทนาของเราจงอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ก็เพราะเวทนาเป็นอนัตตา ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในเวทนาว่า เวทนาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด เวทนาของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

(๑๓) ผู้ใดกล่าวว่า เวทนาเป็นอัตตา คำของผู้นั้นไม่ควร เวทนาย่อมปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม ก็สิ่งใดแล ปรากฏแม้ความเกิด แม้ความเสื่อม สิ่งนั้นต้องกล่าวได้อย่างนี้ว่า อัตตาของเราเกิดขึ้นและเสื่อมไปเพราะฉะนั้น คำของผู้ที่กล่าวว่า เวทนาเป็นอัตตานั้น จึงไม่ควรด้วยประการฉะนี้

(๑๔) บุคคลเมื่อเล็งเห็นเวทนาเป็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นว่า

๑. เวทนาเป็นอัตตาของเรา

๒. ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา

๓. เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย จะว่าอัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะฉะนั้นอัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา

๑. เวทนาเป็นอัตตาของเรา

ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรา จะพึงถูกซักถามอย่างนี้ว่า  บรรดาเวทนา ๓ ประการนี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ท่านเล็งเห็นอันไหนโดยความเป็นอัตตา

ในสมัยใด อัตตาเสวยสุขเวทนา ในสมัยนั้น ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนาคงเสวยแต่สุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น

ในสมัยใด อัตตาเสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา คงเสวยแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น

ในสมัยใด อัตตาเสวยอทุกขมสุขเวทนา ในสมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนาไม่ได้เสวยทุกขเวทนา คงเสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาอย่างเดียวเท่านั้น

เวทนาที่เป็นสุขก็ดี ที่เป็นทุกข์ก็ดี ที่เป็นอทุกขมสุขก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นเพียงปัจจัยปรุงแต่งขึ้น มีความสิ้นความเสื่อม ความคลาย และความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเขาเสวยสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ย่อมมีความเห็นว่า นี้เป็นอัตตาของเรา เมื่อเวทนานั้นๆ ดับไป จึงมีความเห็นว่า อัตตาของเราดับไปแล้ว

ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรานั้น เมื่อเล็งเห็นอัตตา ย่อมเล็งเห็นเวทนาอันไม่เที่ยง เกลื่อนกล่นไปด้วยสุขและทุกข์ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นอัตตาในปัจจุบันเท่านั้น เพราะเหตุนั้นแหละ จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า เวทนาเป็นอัตตาของเรา

๒. ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา

ผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา เขาจะพึงถูกซักอย่างนี้ว่า ในรูปขันธ์ล้วนๆ ก็ยังมิได้เสวยอารมณ์อยู่ทั้งหมด ในรูปขันธ์นั้น จะเกิดอหังการว่าเป็นเราไม่ได้

เพราะเหตุนั้นแหละ จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า ถ้าเวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราก็ไม่ต้องเสวยเวทนา

๓. เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่าอัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา

ส่วนผู้ที่กล่าวอย่างนี้ว่า เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราเลย อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่าอัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา เขาจะพึงถูกซักอย่างนี้ว่า อาวุโส ก็เพราะเวทนาจะต้องดับไปทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่เหลือเศษ เมื่อเวทนาไม่มีโดยประการทั้งปวง เพราะเวทนาดับไป ยังจะเกิดอหังการว่า เป็นเราได้หรือ ในเมื่อขันธ์นั้นๆ ดับไปแล้ว

เพราะเหตุนั้นแหละ จึงยังไม่ควรที่จะเล็งเห็นว่า เวทนาไม่เป็นอัตตาของเราแล้ว อัตตาของเราไม่ต้องเสวยเวทนาเลยก็ไม่ใช่ อัตตาของเรายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่า อัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา

คราวใดภิกษุไม่เล็งเห็นเวทนาเป็นอัตตา ไม่เล็งเห็นอัตตาว่าไม่ต้องเสวยเวทนาก็ไม่ใช่ ไม่เล็งเห็นว่าอัตตายังต้องเสวยเวทนาอยู่ เพราะว่าอัตตาของเรามีเวทนาเป็นธรรมดา ภิกษุนั้น เมื่อเล็งเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก และเมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะทกสะท้าน เมื่อไม่สะทกสะท้านย่อมปรินิพพานได้เฉพาะตน


การเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

(๑๕) เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อกำหนดรู้เวทนา ๓ ประการนี้

สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

ย่อมพิจารณาเห็นธรรมใน ธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ เพื่อกำหนดรู้เวทนา ๓ ประการนี้
 

(๑๖) ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเสวยสุขเวทนา
ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนา

เสวยทุกขเวทนา
ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนา

เสวยอทุกขมสุขเวทนา
ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนา

หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส
ก็รู้ชัดว่า เราเสวยสุขเวทนามีอามิส

หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส
ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส

หรือเสวยทุกขเวทนามีอามิส
ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนามีอามิส

หรือเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส
ก็รู้ชัดว่า เราเสวยทุกขเวทนาไม่มีอามิส

หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส
ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนามีอามิส

หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส
ก็รู้ชัดว่า เราเสวยอทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิส

ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง

พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในเวทนาบ้าง

พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้างอยู่

อนึ่ง สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้วและไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่


พุทธวิธีวิปัสสนา-วิราคะเวทนา

(๑๗) ถ้าเมื่อภิกษุมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรมีใจเด็ดเดี่ยวอยู่อย่างนี้ สุขเวทนาย่อมเกิดขึ้น เธอย่อมรู้อย่างนี้ว่า สุขเวทนาเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็สุขเวทนานั้นแล อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกาย/ผัสสะนี้เอง ก็แต่ว่ากาย/ผัสสะนี้ไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น

ก็สุขเวทนาซึ่งอาศัยกาย/ผัสสะอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วแก่เรา จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เธอย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมไป พิจารณาเห็นความคลายไป พิจารณาเห็นความดับไป พิจารณาเห็นความสละคืน

เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความเสื่อมไป พิจารณาเห็นความคลายไป พิจารณาเห็นความดับไป พิจารณาเห็นความสละคืน ในผัสสะและในสุขเวทนาอยู่ ย่อมละราคานุสัยในผัสสะและในสุขเวทนาเสียได้

ทุกขเวทนาย่อมเกิดขึ้น ฯลฯ

อทุกขมสุขเวทนาย่อมเกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า อทุกขมสุขเวทนานี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็อทุกขมสุขเวทนานั้นแล อาศัยจึงเกิดขึ้น ไม่อาศัยไม่เกิดขึ้น อาศัยอะไร อาศัยกาย/ผัสสะนี้แลบังเกิดขึ้น ก็กาย/ผัสสะนี้แลไม่เที่ยง อันปัจจัยปรุงแต่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น

ก็อทุกขมสุขเวทนาซึ่งอาศัยกาย/ผัสสะอันไม่เที่ยง ปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วแก่เรา จักเที่ยงแต่ที่ไหน ดังนี้ เธอย่อมพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เธอย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมไป พิจารณาเห็นความคลายไป พิจารณาเห็นความดับไป พิจารณาเห็นความสละคืน

เมื่อเธอพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความเสื่อมไป พิจารณาเห็นความคลายไป พิจารณาเห็นความดับไป พิจารณาเห็นความสละคืน ในผัสสะและในสุขเวทนาอยู่ ย่อมละอวิชชานุสัยในผัสสะและในสุขเวทนาเสียได้

ถ้าภิกษุนั้นเสวยสุขเวทนา เธอย่อมรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน

ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา เธอย่อมรู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน

ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา เธอย่อมรู้ชัดว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าหมกมุ่น ไม่น่าเพลิดเพลิน

ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น

ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น

ถ้าเธอเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น

ภิกษุนั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด รู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวง อันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว

เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้จึงติดอยู่ได้ เพราะสิ้นน้ำมันและไส้ ประทีปนั้นไม่มีเชื้อพึงดับไป ฉันใด ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า เมื่อตายไป เวทนาทั้งปวงอันไม่น่าเพลิดเพลิน จักเป็นความเย็นในโลกนี้ทีเดียว

(๑๘) เธอทั้งหลายพึงละราคานุสัยในสุขเวทนา พึงละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา พึงละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุขเวทนา เพราะเหตุที่ภิกษุละราคานุสัยในสุขเวทนา ละปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา ละอวิชชานุสัยในอทุกขมสุขเวทนา ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่มีราคานุสัย มีความเห็นชอบ ตัดตัณหาได้เด็ดขาด เพิกถอนสังโยชน์ได้แล้ว ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์แล้ว เพราะละมานะได้โดยชอบ

ราคานุสัยนั้นย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยสุขเวทนาไม่รู้สึกตัวอยู่ มีปรกติไม่เห็นธรรมเป็นเครื่องสลัดออก

ปฏิฆานุสัยย่อมมีแก่ภิกษุผู้เสวยทุกขเวทนา ไม่รู้สึกตัว มีปรกติไม่เห็นธรรมเป็นเครื่องสลัดออก

บุคคลเพลิดเพลิน อทุกขมสุขเวทนาซึ่งมีอยู่ อันพระผู้มีพระภาคผู้มีปัญญาประดุจปฐพีทรงแสดงแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์เลย

เพราะเหตุที่ภิกษุผู้มีความเพียรละทิ้งเสียได้ด้วยสัมปชัญญะ เธอชื่อว่าเป็นบัณฑิต ย่อมกำหนดรู้เวทนาทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในธรรมถึงที่สุดเวท เมื่อตายไป ย่อมไม่เข้าถึงความนับว่าเป็นผู้กำหนัด ขัดเคือง เป็นผู้หลง ดังนี้

(๑๙) จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

ผู้ใดเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวซึ่งธรรมเหล่านี้อย่างนี้ เรากล่าวผู้นี้ว่า สัทธานุสารี

ผู้ใดเพ่งธรรมเหล่านี้ด้วยปัญญา โดยประมาณอย่างนี้ เรากล่าวผู้นี้ว่า ธัมมานุสารี

ผู้ใดรู้เห็นธรรมเหล่านี้อย่างนี้ เรากล่าวผู้นี้ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า

(๒๐) เวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เกิดแต่ผัสสะ มีผัสสะเป็นมูล มีผัสสะเป็นเหตุ มีผัสสะเป็นปัจจัย

เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมดับย่อมเข้าไปสงบ

เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยทุกขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแลดับไป ย่อมรู้สึกว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนาย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ

เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิดอทุกขมสุขเวทนา บุคคลนั้นเมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้สึกว่า กำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแลดับไปย่อมรู้สึกว่าความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น คือตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ

เปรียบเหมือนเกิดความร้อน เกิดไฟได้ เพราะไม้สองท่อนประชุมสีกัน ความร้อนที่เกิดแต่ไม้สองท่อนนั้น ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ เพราะไม้สองท่อนนั้นเองแยกกันไปเสียคนละทาง

(๒๑) พึงเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์
พึงเห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นลูกศร
พึงเห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง

ก็เมื่อใดภิกษุเห็นสุขเวทนาโดยความเป็นทุกข์ เห็นทุกขเวทนาโดยความเป็นลูกศร เห็นอทุกขมสุขเวทนาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เมื่อนั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า เป็นพระอริยะผู้เห็นโดยชอบ ตัดตัณหาขาดแล้ว ล่วงสังโยชน์แล้ว ได้กระทำแล้วซึ่งที่สุดแห่งทุกข์เพราะการละมานะโดยชอบ

ภิกษุใดได้เห็นสุขโดยความเป็นทุกข์ ได้เห็นทุกข์โดยความเป็นลูกศร ได้เห็นอทุกขมสุขอันละเอียดโดยความเป็นของไม่เที่ยง ภิกษุนั้นแลเป็นผู้เห็นโดยชอบ ย่อมหลุดพ้นในเวทนานั้น ภิกษุนั้นอยู่จบอภิญญา ระงับแล้ว ก้าวล่วงโยคะได้แล้ว ชื่อว่าเป็นมุนี

(๒๒) เวทนาที่เกิดจากจักขุสัมผัส (จักขุสัมผัสสชาเวทนา)
เวทนาที่เกิดจากโสตสัมผัส (โสตสัมผัสสชาเวทนา)
เวทนาที่เกิดจากฆานสัมผัส (ฆานสัมผัสสชาเวทนา)
เวทนาที่เกิดจากชิวหาสัมผัส (ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา)
เวทนาที่เกิดจากกายสัมผัส (กายสัมผัสสชาเวทนา)
เวทนาที่เกิดจากมโนสัมผัส (มโนสัมผัสสชาเวทนา)

ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ควรที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา

เธอทั้งหลายจงละสุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนานั้นเสีย สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนานั้น เธอทั้งหลายละเสียแล้ว จักมีเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข

อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้

ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนาที่เกิดแต่จักขุสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนาที่เกิดแต่โสตสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนาที่เกิดแต่ฆานสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนาที่เกิดแต่ชิวหาสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนาที่เกิดแต่กายสัมผัส
ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนาที่เกิดแต่มโนสัมผัส

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า จิตหลุดพ้นแล้ว ดังนี้ อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

(๒๓) สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่น่าพอใจ ไม่น่าเพลิดเพลิน

ถ้าเขาเสวยสุขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน

ถ้าเสวยทุกขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า ทุกขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน

ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่ ย่อมรู้สึกว่า อทุกขมสุขเวทนานั้นไม่เที่ยง ไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน

หากว่าเสวยสุขเวทนา ก็ปราศจากความยินดียินร้ายเสวยเวทนานั้น

หากว่าเสวยทุกขเวทนา ก็ปราศจากความยินดียินร้ายเสวยเวทนานั้น

หากว่าเสวยอทุกขมสุขเวทนา  ก็ปราศจากความยินดียินร้ายเสวยเวทนานั้น

ถ้าเสวยสุขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย
ถ้าเสวยทุกขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย
ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนาก็เป็นผู้พรากใจเสวย

หากว่าเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด   

ถ้าเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็ทราบชัดว่า เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด

ทราบชัดว่า ก่อนจะสิ้นชีวิตเพราะกายแตก ความเสวยอารมณ์ทั้งมวลในโลกนี้ไม่น่ายินดี จักเป็นของเย็น (เมื่อตายไปแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ)

(๒๔) สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ไม่เที่ยงอันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา

เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมไม่วิวาทแก่งแย่งกับใคร ๆ โวหารใดที่ชาวโลกพูดกัน ก็พูดไปตามโวหารนั้น แต่ไม่ยึดมั่นด้วยทิฎฐิ

(๒๕) เปรียบเหมือนลมมากมายหลายชนิด พัดไปในอากาศ คือ บางครั้งลมทิศตะวันออกบ้าง บางครั้งทิศตะวันตกบ้าง บางครั้งทิศเหนือบ้าง บางครั้งทิศใต้บ้าง บางครั้งมีธุลีบ้าง บางครั้งไม่มีธุลีบ้าง บางครั้งลมหนาวบ้าง บางครั้งลมร้อนบ้าง บางครั้งลมแรงบ้าง บางครั้งลมอ่อนบ้าง ฉันใด

เวทนาย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน  คือสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง เมื่อใดภิกษุมีความเพียร รู้สึกอยู่ เข้านิโรธ เมื่อนั้น เธอผู้เป็นบัณฑิตย่อมกำหนดรู้เวทนา ได้ทุกอย่าง ภิกษุนั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ตั้งอยู่ในธรรม เรียนจบพระเวทในปัจจุบัน เพราะกายแตกย่อมไม่เข้าถึงซึ่งบัญญัติ


(๒๖) เวทนาขันธ์เป็นไฉน

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เวทนาอดีต เวทนาอนาคต เวทนาปัจจุบัน เวทนาภายใน เวทนาภายนอก เวทนาหยาบ เวทนาละเอียด เวทนาทราม เวทนาประณีต เวทนาไกล เวทนาใกล้ ประมวลย่อเข้าเป็นกองเดียวกัน นี้เรียกว่าเวทนาขันธ์

ในเวทนาขันธ์นั้น เวทนาอดีต เป็นไฉน

เวทนาใดล่วงไปแล้ว ดับแล้ว ปราศไปแล้ว แปรไปแล้ว ถึงความดับแล้ว ถึงความสิ้นแล้ว ที่เกิดขึ้นแล้วปราศไปแล้ว ที่เป็นอดีตสงเคราะห์เข้ากับส่วนอดีต ได้แก่สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นี้เรียกว่าเวทนาอดีต

เวทนาอนาคต เป็นไฉน

เวทนาใดยังไม่เกิด ยังไม่เป็น ยังไม่เกิดพร้อม ยังไม่บังเกิด ยังไม่บังเกิดยิ่ง ยังไม่ปรากฏ ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่เกิดขึ้นพร้อม ยังไม่ตั้งขึ้น ยังไม่ตั้งขึ้นพร้อม ที่เป็นอนาคตสงเคราะห์เข้ากับส่วนอนาคต ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นี้เรียกว่า เวทนาอนาคต

เวทนาปัจจุบัน เป็นไฉน

เวทนาใด เกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดยิ่งแล้ว ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ตั้งขึ้นแล้ว ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว ที่เป็นปัจจุบันสงเคราะห์เข้ากับส่วนปัจจุบัน ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นี้เรียกว่าเวทนาปัจจุบัน

เวทนาภายใน เป็นไฉน

เวทนาใดของสัตว์นั้น ๆ เองซึ่งมีในตน เฉพาะตน เกิดในตน เฉพาะบุคคล อันกรรมที่สัมปยุตด้วยตัณหาทิฐิยึดครอง ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นี้เรียกว่าเวทนาภายใน

เวทนาภายนอก เป็นไฉน

เวทนาใดของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นนั้น ๆ ซึ่งมีในตน เฉพาะตน เกิดในตน มีเฉพาะบุคคล อันกรรมที่สัมปยุตด้วยตัณหาทิฐิยึดครอง ได้แก่ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นี้เรียกว่าเวทนาภายนอก

เวทนาหยาบ เวทนาละเอียด เป็นไฉน

อกุศลเวทนาเป็นเวทนาหยาบ
กุศลเวทนาและอัพยากตเวทนาเป็นเวทนาละเอียด

กุศลเวทนาและอกุศลเวทนาเป็นเวทนาหยาบ
อัพยากตเวทนาเป็นเวทนาละเอียด

ทุกขเวทนาเป็นเวทนาหยาบ
สุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นเวทนาละเอียด

สุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นเวทนาหยาบ
อทุกขมสุขเวทนาเป็นเวทนาละเอียด

เวทนาของผู้ไม่เข้าสมาบัติเป็นเวทนาหยาบ
เวทนาของผู้เข้าสมาบัติเป็นเวทนาละเอียด

เวทนาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นเวทนาหยาบ
เวทนาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นเวทนาละเอียด

หรือพึงทราบเวทนาหยาบ เวทนาละเอียด โดยอาศัยเทียบเคียงเวทนานั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป

เวทนาทราม เวทนาประณีต เป็นไฉน

อกุศลเวทนาเป็นเวทนาทราม
กุศลเวทนาและอัพยากตเวทนาเป็นเวทนาประณีต

กุศลเวทนาและอกุศลเวทนาเป็นเวทนาทราม
อัพยากตเวทนาเป็นเวทนาประณีต

ทุกขเวทนาเป็นเวทนาทราม
สุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นเวทนาประณีต

สุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นเวทนาทราม
อทุกขมสุขเวทนาเป็นเวทนาประณีต

เวทนาของผู้ไม่เข้าสมาบัติเป็นเวทนาทราม
เวทนาของผู้เข้าสมาบัติเป็นเวทนาประณีต

เวทนาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นเวทนาทราม
เวทนาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นเวทนาประณีต

หรือพึงทราบเวทนาทราม เวทนาประณีต โดยอาศัยเทียบเคียงเวทนานั้น ๆ เป็นชั้น ๆ ไป

เวทนาไกล เป็นไฉน

อกุศลเวทนาไกลจากกุศลเวทนาและอัพยากตเวทนา
กุศลเวทนาและอัพยากตเวทนาเป็นเวทนาไกลจากอกุศลเวทนา

กุศลเวทนาเป็นเวทนาไกลจากอกุศลเวทนาและอัพยากตเวทนา
อกุศลเวทนาและอัพยากตเวทนาเป็นเวทนาไกลจากกุศลเวทนา

อัพยากตเวทนาเป็นเวทนาไกลจากกุศลเวทนาและอกุศลเวทนา
กุศลเวทนาและอกุศลเวทนาเป็นเวทนาไกลจากอัพยากตเวทนา

ทุกขเวทนาเป็นเวทนาไกลจากสุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา
สุขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นเวทนาไกลจากทุกขเวทนา

สุขเวทนาเป็นเวทนาไกลจากทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนา
ทุกขเวทนาและอทุกขมสุขเวทนาเป็นเวทนาไกลจากสุขเวทนา

อทุกขมสุขเวทนาเป็นเวทนาไกลจากสุขเวทนาและทุกขเวทนา
สุขเวทนาและทุกขเวทนาเป็นเวทนาไกลจากอทุกขมสุขเวทนา

เวทนาของผู้ไม่เข้าสมาบัติเป็นเวทนาไกลจากเวทนาของผู้เข้าสมาบัติ
เวทนาของผู้เข้าสมาบัติเป็นเวทนาไกลจากเวทนาของผู้ไม่เข้าสมาบัติ

เวทนาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นเวทนาไกลจากเวทนาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
เวทนาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นเวทนาไกลจากเวทนาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ

นี้เรียกว่าเวทนาไกล

เวทนาใกล้ เป็นไฉน

อกุศลเวทนาเป็นเวทนาใกล้กับอกุศลเวทนา
กุศลเวทนาเป็นเวทนาใกล้กับกุศลเวทนา

อัพยากตเวทนาเป็นเวทนาใกล้กับอัพยากตเวทนา
ทุกขเวทนาเป็นเวทนาใกล้กับทุกขเวทนา

สุขเวทนาเป็นเวทนาใกล้กับสุขเวทนา
อทุกขมสุขเวทนาเป็นเวทนาใกล้กับอทุกขมสุขเวทนา

เวทนาของผู้ไม่เข้าสมาบัติเป็นเวทนาใกล้กับเวทนาของผู้ไม่เข้าสมาบัติ
เวทนาของผู้เข้าสมาบัติเป็นเวทนาใกล้กับเวทนาของผู้เข้าสมาบัติ

เวทนาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นเวทนาใกล้กับเวทนาที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
เวทนาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะเป็นเวทนาใกล้กับเวทนาที่ไม่เป็นอารมณ์ของอาสวะ

นี้เรียกว่าเวทนาใกล้

หรือพึงทราบเวทนาไกลเวทนาใกล้ โดยอาศัยเทียบเคียงเวทนานั้น ๆ เป็น ชั้นๆ ไป


(๒๗) ลักษณะแห่งความเกิดขึ้น แปรไป ของเวทนา

เวทนาที่เกิดแล้ว เป็นปัจจุบัน ลักษณะความบังเกิดแห่งเวทนานั้น ชื่อว่าความเกิดขึ้น ลักษณะความแปรผันไป (แห่งเวทนานั้น) ชื่อว่าความเสื่อม ปัญญาที่พิจารณาเห็นดังนี้ ชื่อว่าอนุปัสสนาญาณ

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนาขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

พระโยคาวจรย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนาขันธ์ โดยความเกิดขึ้นแห่งปัจจัยว่า

๑. เพราะอวิชชาเกิด เวทนาจึงเกิด
๒. เพราะตัณหาเกิด เวทนาจึงเกิด
๓. เพราะกรรมเกิด เวทนาจึงเกิด
๔. เพราะผัสสะเกิด เวทนาจึงเกิด
๕. แม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความบังเกิด ก็ย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนาขันธ์

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นแห่งเวทนาขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการนี้

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเสื่อม (แห่งเวทนาขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

พระโยคาวจรย่อมเห็นความเสื่อมแห่งเวทนาขันธ์ โดยความดับแห่งปัจจัยว่า

๑. เพราะอวิชชาดับ เวทนาจึงดับ
๒. เพราะตัณหาดับ เวทนาจึงดับ
๓. เพราะกรรมดับ เวทนาจึงดับ
๔. เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ
๕. แม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความแปรผัน ก็ย่อมเห็นความเสื่อมแห่งเวทนาขันธ์

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเสื่อมแห่งเวทนาขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการนี้

เมื่อเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อม (แห่งเวทนาขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ ๑๐ ประการนี้


(๒๘) นิพพานไม่มีเวทนา นั่นแหละเป็นสุข

 

 
อ้างอิง:
(๑) ภิกขุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๒๕ หน้า ๒๔๑
     อัฏฐสตปริยายสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๓๑-๔๓๗ หน้า ๒๔๔-๒๔๕
(๒) มูลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๕๘ หน้าที่ ๑๐๙ - ๑๑๐
(๓) จูฬเวทัลลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๕๑๑-๕๑๒
(๔) นิพเพธิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๓๔ หน้า ๓๖๖-๓๖๗
(๕) สมณพราหมณสูตรที่ ๑-๓ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อท่ ๔๔๒-๔๔๔
(๖) ภิกขุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๔๓๘ หน้า ๒๔๕
      อานันทสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๙๙
(๗) ขัชชนิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๕๘-๑๖๐
(๘) สัลลัตถสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๖๙-๓๗๓
(๙) รโหคตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๙๑-๓๙๔
(๑๐) สุขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๖๒
(๑๑) ฉฉักกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๘๒๒-๘๒๓
(๑๒) อนัตตลักขณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๒๐
(๑๓) ฉฉักกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๘๑๙
(๑๔) มหานิทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๖๓-๖๔
(๑๕) เวทนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙  ข้อที่ ๘๓๖
(๑๖) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทย เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๓๙
(๑๗) เคลัญญสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๗๔-๓๘๑ 
        เคลัญญสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๘๒-๓๘๗
(๑๘) ปหานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๖๓-๓๖๔
(๑๙) เวทนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗  ข้อที่ ๔๗๓
(๒๐) ธาตุวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๖๙๐
        ผัสสมูลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๘๙-๓๙๐
(๒๑) เวทนาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๒๓๑
       ทัฏฐัพพสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๖๗-๓๖๘
(๒๒) เวทนาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖  ข้อที่ ๖๐๘-๖๐๙
        นตุมหากสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘  ที่ ๑๔๙
(๒๓) อัสสชิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๒๒๓-๒๒๔ หน้า ๑๒๒
        ธาตุวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๖๙๑-๖๙๒
(๒๔) ทีฆนขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๓/๒๗๓/๒๐๗
(๒๕) วาตสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๙๖ หน้า ๒๓๒
(๒๖) ขันธวิภังค์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๘-๑๓ หน้า ๓-๖
(๒๗) อุทยัพพยญาณนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๔๙
(๒๘) นิพพานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๓๘
 
 

คำต่อไป