Main navigation

สุญญตสมาบัติ

ว่าด้วย
(จูฬสุญญตสูตร)
เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ เรื่อง สุญญตวิหารธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ว่า ทั้งเมื่อก่อนและบัดนี้ ทรงอยู่มากด้วยสุญญตวิหารธรรม

สุญญตสมาบัติ

มนสิการสัญญาว่า ป่า

ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่าบ้าน ไม่ใส่ใจสัญญา ว่ามนุษย์ ใส่ใจสิ่งเดียวคือ สัญญาว่าป่า จิตย่อมตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในสัญญาว่าป่า

รู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าบ้าน ว่างจากสัญญาว่ามนุษย์ และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว คือ สัญญาว่าป่าเท่านั้น
ด้วยอาการนี้ จึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นที่ยังมีอยู่ ว่ามี

เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ 

มนสิการสัญญาว่า แผ่นดิน

ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่ามนุษย์ ไม่ใส่ใจสัญญาว่าป่า ใส่ใจสิ่งเดียวคือ สัญญาว่าแผ่นดิน จิตย่อมตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในสัญญาว่าแผ่นดิน

รู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่ามนุษย์ ว่างจากสัญญาว่าป่า และรู้ชัดว่า มีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว คือ สัญญาว่าแผ่นดินเท่านั้น
ด้วยอาการนี้ จึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นที่ยังมีอยู่ ว่ามี

เป็นการก้าวลงสู่ความว่างตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ 

มนสิการ อากาสานัญจายตนสัญญา

ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่าป่า ไม่ใส่ใจสัญญาว่าแผ่นดิน ใส่ใจสิ่งเดียวคือ อากาสานัญจายตนสัญญา จิตย่อมตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในอากาสานัญจายตนสัญญา

รู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าป่า ว่างจากสัญญาว่าแผ่นดิน และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว คือ อากาสานัญจายตนสัญญาเท่านั้น
ด้วยอาการนี้ จึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี

เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ 

มนสิการ วิญญาณัญจายตนสัญญา

ภิกษุไม่ใส่ใจสัญญาว่าแผ่นดิน ไม่ใส่ใจอากาสานัญจายตนสัญญา ใส่ใจสิ่งเดียวคือ วิญญาณัญจายตนสัญญา จิตย่อมตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในวิญญาณัญจายตนสัญญา

รู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากสัญญาว่าแผ่นดิน ว่างจากอากาสานัญจายตนสัญญา และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว คือ วิญญาณัญจายตนสัญญาเท่านั้น
ด้วยอาการนี้ จึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี

เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์ของภิกษุนั้น

มนสิการ อากิญจัญญายตนสัญญา

ภิกษุไม่ใส่ใจอากาสานัญจายตนสัญญา ไม่ใส่ใจวิญญาณัญจายตนสัญญา ใส่ใจสิ่งเดียวคือ อากิญจัญญายตนสัญญา จิตย่อม ตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในอากิญจัญญายตนสัญญา

รู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากอากาสานัญจายตนสัญญา ว่างจากวิญญาณัญจายตนสัญญา และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว คือ อากิญจัญญายตนสัญญาเท่านั้น
ด้วยอาการนี้ จึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี

เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์

มนสิการ เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา

ภิกษุไม่ใส่ใจวิญญาณัญจายตนสัญญา ไม่ใส่ใจอากิญจัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวคือ เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา จิตย่อมตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา

รู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากวิญญาณัญจายตนสัญญา ว่างจากอากิญจัญญายตนสัญญา และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่สิ่งเดียว คือ เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญาเท่านั้น
ด้วยอาการนี้ จึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในสัญญานั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในสัญญานั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี

เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์

มนสิการ เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต

ภิกษุไม่ใส่ใจอากิญจัญญายตนสัญญา ไม่ใส่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวคือ เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต จิตย่อมตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต

รู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากอากิญจัญญายตนสัญญา ว่างจากเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เพราะชีวิตเป็นปัจจัย
ด้วยอาการนี้ จึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี

เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์

มนสิการ เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต

ภิกษุไม่ใส่ใจอากิญจัญญาตนสัญญา ไม่ใส่ใจเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา ใส่ใจแต่สิ่งเดียวคือ เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต จิตย่อมตั้งมั่น และนึกน้อมอยู่ในเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต

จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่า เจโตสมาธิอันไม่มีนิมิตนี้ ยังมีปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้ ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง จูงใจได้นั้น ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา เมื่อเธอรู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นแม้จากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

จึงรู้ชัดอย่างนี้ว่าในญาณนี้ไม่มีความกระวนกระวายชนิดที่อาศัยกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ มีอยู่ก็แต่เพียงความกระวนกระวาย คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เพราะชีวิตเป็นปัจจัย

เธอรู้ชัดว่า สัญญานี้ว่างจากกามาสวะ ว่างจากภวาสวะ ว่างจากอวิชชาสวะ และรู้ชัดว่ามีไม่ว่างอยู่ก็คือ ความเกิดแห่งอายตนะ ๖ อาศัยกายนี้เพราะชีวิตเป็นปัจจัย
ด้วยอาการนี้ จึงพิจารณาเห็นความว่างนั้นด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในเจโตสมาธินั้นเลย และรู้ชัดสิ่งที่เหลืออยู่ในเจโตสมาธินั้นอันยังมีอยู่ ว่ามี

เป็นการก้าวลงสู่ความว่าง ตามความเป็นจริง ไม่เคลื่อนคลาด บริสุทธิ์

สมณะหรือพราหมณ์ในอดีตกาล ในอนาคตกาล และในบัดนี้ ไม่ว่าพวกใดๆ ที่บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดอยู่ทั้งหมดนั้น ก็ได้บรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์ เยี่ยมยอดนี้เองอยู่

เพราะฉะนั้น พวกเธอพึงศึกษาไว้อย่างนี้ว่า เราจักบรรลุสุญญตสมาบัติอันบริสุทธิ์เยี่ยมยอดอยู่

 

อ่าน จูฬสุญญตสูตร

อ้างอิง
จูฬสุญญตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๓๓๓-๓๔๒ หน้า ๑๘๐-๑๘๔
ลำดับที่
32

อารมณ์

สงบ มั่นคง

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย