Main navigation

แก่นพรหมจรรย์

ว่าด้วย
(มหาสาโรปมสูตร)
เหตุการณ์
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ เมื่อพระเทวทัตหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัตต์ ได้ทรงอุปมาพรหมจรรย์กับแก่นไม้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า 

กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ท่วมทับแล้ว ถูกความทุกข์ท่วมทับแล้ว มีความทุกข์เป็นเบื้องหน้า ไฉนหนอ ความกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้จะพึงปรากฏ

กิ่งและใบของพรหมจรรย์

เขาบวชอย่างนั้นแล้ว ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้บังเกิดขึ้น มีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น แล้วยกตน ข่มผู้อื่นว่า เรามีลาภสักการะและความสรรเสริญ ส่วนภิกษุอื่นไม่มี มีศักดาน้อย มัวเมา ถึงความประมาทเพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้วย่อมอยู่เป็นทุกข์

เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้ เที่ยวเสาะหาแก่นอยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไปสำคัญว่าแก่น กิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นจักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา

ภิกษุนี้เราเรียกว่า ได้ถือเอากิ่งและใบของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กิ่งและใบนั้น

สะเก็ดพรหมจรรย์

เขาบวชอย่างนั้นแล้ว เขาไม่มีความยินดีด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญ ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งศีลให้สำเร็จ

เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยม ด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เขายกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีศีล มีกัลยาณธรรม เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลอันนั้น ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้เป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม เขามัวเมา ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์

เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือกไปเสีย ถากเอาสะเก็ดถือไป สำคัญว่าแก่น กิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา

ภิกษุนี้เรียกว่า ได้ถือเอาสะเก็ดของพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่สะเก็ดนั้น

เปลือกพรหมจรรย์

เขาบวชอย่างนั้นแล้ว เขามีความยินดีด้วยความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ยกตนไม่ ข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งศีลนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังความถึงพร้อมแห่งสมาธิให้สำเร็จ

เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมด้วยความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เขายกตนข่มผู้อื่นว่า เรามีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตหมุนไปผิดแล้ว เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธิอันนั้น  เขามัวเมาถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์

เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ถากเอาเปลือกถือไป สำคัญว่าแก่น กิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา

ภิกษุนี้เราเรียกว่า ได้ถือเอาเปลือกแห่งพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่เปลือกนั้น

กระพี้พรหมจรรย์

เขาบวชอย่างนั้นแล้ว เขามีความยินดีด้วย ความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะความถึงพร้อมแห่งสมาธินั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังญาณทัสสนะให้สำเร็จ

เขามีความยินดี มีความดำริเต็มเปี่ยมแล้วด้วยญาณทัสสนะนั้น เพราะญาณทัสสนะนั้น เขายกตนข่มผู้อื่นว่า เรารู้เราเห็นอยู่ ส่วนภิกษุอื่นนอกนี้ไม่รู้ ไม่เห็นอยู่ เขามัวเมา ถึงความประมาท เพราะญาณทัสสนะนั้น เมื่อเป็นผู้ประมาทแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์.

เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ถากเอากระพี้ถือไป สำคัญว่าแก่น กิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์แก่เขา

ภิกษุนี้เราเรียกว่า ได้ถือเอากระพี้แห่งพรหมจรรย์ และถึงที่สุดแค่กระพี้นั้น

แก่นพรหมจรรย์

เขาบวชอย่างนั้นแล้ว เขามีความยินดีด้วยญาณทัสสนะนั้น แต่มีความดำริยังไม่เต็มเปี่ยม เขาไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ไม่มัวเมา ไม่ถึงความประมาท เพราะญาณทัสสนะนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมยังสมยวิโมกข์ให้สำเร็จ ข้อที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากสมยวิมุตินั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้

เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการแก่นไม้ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ถากเอาแก่นถือไป รู้จักว่าแก่น กิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักสำเร็จประโยชน์แก่เขา

ข้อที่ภิกษุนั้นจะพึงเสื่อมจากอสมยวิมุตินั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้

พรหมจรรย์นี้จึงมิใช่มีลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ แต่พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ เป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด

 

อ่าน มหาสาโรปมสูตร

 

อ้างอิง
มหาสาโรปมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๔๗-๓๕๒ หน้า ๒๕๖-๒๖๓
ลำดับที่
2

อารมณ์

ขี้เกียจ

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรมวินัย

ธรรมวินัย