Main navigation

ผู้ฝึกตน

เหตุการณ์
พระศาสดาทรงปรารภสุขสามเณร

เมื่อบิดาคันธกุมารผู้เป็นเศรษฐีถึงแก่กรรม พระราชาได้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้แก่คันธกุมาร และได้ชื่อว่า คันธเศรษฐี เมื่อเศรษฐีได้เห็นทรัพย์ของบุรพบุรุษที่มี คิดว่า บุรพบุรุษเหล่านั้นพากันสั่งสมทรัพย์ไว้แล้ว ก็ละทิ้งไปเสียไม่เอาทรัพย์ไปด้วย เพราะพวกเขาเป็นคนโง่ เศรษฐีจึงจ่ายทรัพย์สร้างสิ่งต่างๆและเพื่อโภชนะจำนวนมาก มิได้คิดว่า จักให้ทานหรือจักทำการบูชา คิดแต่ว่าจักบริโภคทรัพย์นี้ให้หมด
 
คันธเศรษฐีได้สั่งจ่ายทรัพย์แสนหนึ่งเพื่อโภชนะและให้คนเที่ยวตีกลองประกาศให้มหาชนมาดูท่าทางแห่งการบริโภคภัตของเศรษฐี  มหาชนได้มาประชุมกัน มีชาวบ้านนอกผู้หนึ่งได้ไปดูและเมื่อได้สูดกลิ่นภัต ก็อยากกินก้อนภัตในถาด ถ้าไม่ได้กินจะอยู่ไม่ได้ จึงได้บอกกับคันธเศรษฐี เศรษฐีจึงให้เขารับจ้างในเรือน ๓ ปี แล้วจักให้ภัตแก่เขาถาดหนึ่ง  
 
ชาวชนบททำการรับจ้างในบ้านเศรษฐี  เขาได้ทำกิจทุกอย่างโดยเรียบร้อย ทั้งการงานที่ควรทำในบ้าน ในป่า ทั้งกลางวันและกลางคืน  มหาชนเรียกเขาว่า "นายภัตตภติกะ" เมื่อเขารับจ้างครบ ๓ ปี  เศรษฐีได้สั่งจ่ายทรัพย์เพื่ออาหารเช้าของนายภัตตภติกะและสั่งคนใช้ให้รับใช้นายภัตตภติกะเหมือนตน 
 
นายภัตตภติกะเตรียมบริโภคภัต ได้อาบน้ำ นุ่งผ้าสาฎก และนั่งบนบัลลังก์ของเศรษฐี ท่านเศรษฐีให้คนเอากลองเที่ยวตีประกาศให้มหาชนมาดู ในเวลาที่นายภัตตภติกะล้างมือจะบริโภคภัต พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งออกจากสมาบัติในวันที่ ๗ แล้ว ได้เห็นนายภัตตภติกะมีศรัทธาและสามารถทำการสงเคราะห์ได้ และจะได้มหาสมบัติเพราะอาศัยเหตุ คือการสงเคราะห์แก่ท่าน จึงได้เหาะมายืนอยู่ข้างหน้าของนายภัตตภติกะนั้น
 
เมื่อนายภัตตภติกะเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว คิดว่า การที่ตนต้องทำการรับจ้างในเรือนคนอื่นถึง ๓ ปี เพื่อภัตถาดเดียวเพราะความที่ไม่ได้ให้ทานในกาลก่อน ภัตนี้พึงรักษาตัวได้เพียงวันหนึ่งคืนหนึ่ง ถ้าถวายภัตนี้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ภัตนี้จะรักษาท่านได้พันโกฏิกัลป์ ท่านจึงถวายภัตทั้งหมดแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าและขอให้ความสุขจงมีแก่ตนในที่ที่ไปบังเกิดแล้ว และขอให้ตนพึงมีส่วนแห่งธรรมที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเห็นแล้ว 

พระปัจเจกพุทธเจ้าได้แบ่งบิณฑบาตนั้นถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ รูป พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ รูป ได้รับเอาภัตเพียงพอแก่ตน มหาชนเห็นบิณฑบาตที่พระปัจเจกพุทธเจ้าแบ่งถวายแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ได้พากันสาธุการ
 
คันธเศรษฐีได้ทราบเรื่อง คิดว่า ตนไม่เคยถวายสิ่งใดแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าเลย จึงให้ทรัพย์พันหนึ่งแก่นายภัตตภติกะและขอแบ่งส่วนบุญ ต่อมาได้แบ่งทรัพย์สมบัติครึ่งหนึ่งให้นายภัตตภติกะ
 
ด้วยอานุภาพแห่งสัมปทา ๔ คือ พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ขีณาสพเป็นทักขิไณยบุคคล ปัจจัยที่เกิดแล้วโดยธรรม โดยความที่ทำการจ้างได้แล้ว เจตนาบริสุทธิ์ใน ๓ กาล คือ ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้ออกจากสมาบัติเป็นผู้ยิ่งโดยคุณ สำเร็จแล้วแก่นายภัตตภติกะ นายภัตตภติกะจึงบรรลุมหาสมบัติในทันตาเห็น ได้สมบัติจากสำนักของเศรษฐี.
 
ต่อมา พระราชาทรงสดับกรรมที่นายภัตตภติกะทำแล้ว ได้พระราชทานทรัพย์ให้ทรัพย์พันหนึ่ง ทรงรับส่วนบุญ ทรงพอพระทัย พระราชทานโภคะเป็นอันมาก แล้วก็ได้พระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้ เขาได้มีชื่อว่า "ภัตตภติกเศรษฐี" ต่อมาได้บังเกิดในเทวโลก เสวยสมบัติอันเป็นทิพย์ ๑ พุทธันดร
 
ในพุทธุปบาทกาลนี้ นายภัตตภติกะได้ถือปฏิสนธิในครรภ์หญิงแห่งตระกูลอุปัฏฐากของพระสารีบุตรเถระ นางได้ตั้งชื่อบุตรว่า สุขกุมาร เพราะตั้งแต่ลูกของนางถือปฏิสนธิ ความทุกข์ ไม่เคยมีแก่ใครในเรือน
 
เมื่อสุขกุมารมีอายุได้ ๗ ขวบ ได้ขอออกบวชในสำนักของพระสารีบุตร มารดาบิดาของสุขกุมารได้ทำสักการะในการบรรพชา โดยถวายโภชนะมีรส ๑๐๐ ชนิดแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๓ พระสารีบุตรเถระให้สามเณรถือบาตรและจีวร เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ในระหว่างทาง สุขสามเณรเห็นคนไขน้ำเข้าเหมือง ช่างศรดัดศรให้ตรง ช่างถาก ถากทัพสัมภาระทั้งหลาย มีล้อเป็นต้นแล้ว สามเณรได้คิดว่า ถ้าคนทั้งหลายไขน้ำซึ่งไม่มีจิต ไปสู่ที่ ๆ ตนปรารถนาทำการงานได้ ถือเอาลูกศรอันไม่มีจิตลนไฟแล้ว ดัดให้ตรงได้ ถือเอาท่อนไม้ที่ไม่มีจิต ทำเป็นล้อเป็นต้นได้ เพราะเหตุไร คนผู้มีจิต จึงจักไม่อาจทำจิตของตนให้เป็นไปในอำนาจ แล้วบำเพ็ญสมณธรรม
 
สามเณรจึงกลับไปวิหารเพื่อทำสมณธรรม โดยได้เรียนพระเถระว่าเมื่อนำอาหารมาเพื่อสามเณร โปรดนำเอาโภชนะมีรส ๑๐๐ ชนิดมา โดยจะได้โภชนะนั้นด้วยบุญของพระเถระหรือบุญของสามเณร เมื่อสามเณรไปวิหารแล้ว นั่งหยั่งญาณลงในกายของตน ด้วยเดชแห่งคุณของสามเณร อาสนะของท้าวสักกะแสดงอาการร้อน ท้าวสักกะพิจารณาดูเห็นจึงรับสั่งให้เรียกท้าวมหาราชทั้ง ๔ ให้ไปไล่นกที่มีเสียงเป็นโทษที่ใกล้วิหารที่สามเณรทำสมณธรรม ให้หนีไป ท้าวสักกะทรงให้พระจันทร์และพระอาทิตย์หยุดเคลื่อนก่อน และท้าวสักกะเองก็ทรงรักษาอยู่ที่สายยู เพื่อให้วิหารสงบเงียบ ปราศจากเสียง สามเณรเจริญวิปัสสนาด้วยจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง บรรลุมรรคและผล ๓  
 
พระสารีบุตรเถระได้รับถวายโภชนะมีรส ๑๐๐ ชนิดแก่พระเถระ และชนเหล่านั้นได้รับถวายเพิ่มอีกชุดหนึ่ง พระเถระรับโภชนะนั้นแล้ว ก็รีบกลับวิหารด้วยเกรงว่าสามเณรจักหิว พระศาสดาทรงเห็นความที่สามเณรบรรลุมรรค ๓ แล้ว จึงทรงเห็นว่าสุขสามเณรจักบรรลุพระอรหัตในวันนี้ หากพระสารีบุตรนำภัตมาก่อนที่สามเณรจะบรรลุอรหัตจะเป็นอันตรายแก่สามเณร พระศาสดาจึงเสด็จไปประทับยืนยึดอารักขาอยู่ที่ซุ้มประตู เมื่อฝ่ายพระเถระก็นำภัตกลับมา พระศาสดาได้ตรัสถามปัญหา ๔ ข้อกะพระเถระใจความว่า พระเถระได้อาหารมา อาหารย่อมนำเวทนามา เวทนาย่อมนำรูปมา และรูปย่อมนำผัสสะมา
 
ในที่สุดแห่งการวิสัชนาปัญหา สามเณรก็บรรลุพระอรหัต พระศาสดาตรัสกับพระเถระให้ภัตแก่สุขสามเณร เมื่อสุขสามเณรทำภัตกิจแล้ว ท้าวมหาราช ๔ องค์ ก็พากันเลิกการรักษา พระจันทร์พระอาทิตย์ก็ปล่อยวิมาน ท้าวสักกะก็ทรงเลิกอารักขาที่สายยู พระอาทิตย์จึงคล้อยไปข้ามกลางฟ้า ภิกษุทั้งหลายพากันพูดว่าสามเณรเพิ่งทำภัตกิจเสร็จเดี๋ยวนี้เอง ทำไมหนอ วันนี้เวลาเช้าจึงมาก เวลาเย็นจึงน้อย พระศาสดาเสด็จมาได้ตรัสว่า
 
ในเวลาทำสมณธรรมของผู้มีบุญทั้งหลายย่อมเป็นเช่นนั้น ในวันนี้ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ยึดอารักขาไว้โดยรอบ พระจันทร์และพระอาทิตย์ได้ยึดวิมานหยุดอยู่ ท้าวสักกะทรงยึดอารักขาที่สายยู ถึงพระองค์ก็ยึดอารักขาอยู่ที่ซุ้มประตู วันนี้ สุขสามเณรเห็นคนไขน้ำเข้าเหมือง ช่างศรดัดศรให้ตรง ช่างถาก ถากทัพสัมภาระทั้งหลาย มีล้อเป็นต้นแล้ว ฝึกตน บรรลุพระอรหัตแล้ว
 
จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
 
อันคนไขน้ำทั้งหลายย่อมไขน้ำ ช่างศรทั้งหลายย่อมดัดลูกศร  ช่างถากทั้งหลายย่อมถากไม้ ผู้สอนง่ายทั้งหลาย ย่อมฝึกตน
 
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น 



อ่าน สุขสามเณร
อ่าน คาถาธรรมบท ทัณฑวรรค

 

อ้างอิง
สุขสามเณร คาถาธรรมบท ทัณฑวรรค พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏ เล่มที่ ๔๒ ข้อที่ ๒๐ หน้า ๑๒๖-๑๔๐
ลำดับที่
21

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ