Main navigation

ทุสีลยสูตรที่ ๑

ว่าด้วย
การจำแนกโสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ ๑๐
เหตุการณ์
ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีป่วย ได้รับทุกข์ จึงนิมนต์ท่านพระสารีบุตรไปยังบ้าน พระสารีบุตรและพระอานนท์ได้ไปเยี่ยม พระสารีบุตรได้ให้โอวาทแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีถึงสิ่งที่จะยังเวทนาให้สงบระงับได้โดยพลัน

 

พระสารีบุตรให้โอวาทแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นผู้ทุศีล ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสัมกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ มิจฉาวิมุติ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก  

ส่วนผู้เห็นความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เห็นความเป็นผู้มีศีล มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสัมกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุติ ในตน เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เวทนาจะพึงสงบระงับโดยพลัน

ผู้ใดมีศรัทธา ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวในพระตถาคต มีศีลอันงามที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว สรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นอันตรง บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า เป็นคนไม่ขัดสน ชีวิตของผู้นั้นไม่เปล่าประโยชน์ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบตามซึ่งศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และความเห็นธรรม

พระอานนท์ได้เล่าเหตุการณ์ถวายพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่าท่านสารีบุตรเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก ได้จำแนกโสตาปัตติยังคะ ๔ ด้วยอาการ ๑๐ อย่าง



อ่าน ทุสีลยสูตร ๑

 

อ้างอิง
ทุสีลยสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๙ ข้อที่ ๑๕๔๘-๑๕๗๐ หน้า ๓๗๘-๓๘๒
ลำดับที่
22

สถานที่

ไม่ระบุ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ