Main navigation

ปัญญา กับ ฤทธิ์

ถาม :

เรียนถามท่านอาจารย์ครับ มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านหนึ่งบอกว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ไม่อยากให้สำนักต่าง ๆ พูดถึงฤทธิ์ เพราะไม่ใช่ศาสนา

อาจารย์  คำถามคือ...

ถามว่า เราที่เป็นศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนอย่างไร จึงจะถูก เราควรเลือกอย่างไรครับ


อาจารย์ไชย ณ พล ตอบ :  

ศาสนาพุทธทุกพุทธันดรจะประกอบด้วยปัญญา ฤทธิ์ และการจัดการที่ดีเสมอ จึงมีอัครสาวกด้านปัญญา พุทธันดรนี้คือท่านพระสารีบุตร  อัครสาวกด้านฤทธิ์ พุทธันดรนี้คือท่านพระมหาโมคคัลลานะ  และมหาอุปัฏฐากจัดการกิจต่าง ๆ พุทธันดรนี้คือท่านพระอานนท์ 

หากจะเอาแต่ปัญญา ปฏิเสธฤทธิ์ และการจัดการ  ก็จะทำให้พระศาสนาเป็นอัมพาตไปสองส่วน  หากจะเอาแต่ฤทธิ์ ไม่เอาปัญญาและการจัดการ ก็ทำให้พระศาสนาเป็นอัมพาตไปสองส่วนเช่นกัน  หรือจะเอาแต่การจัดการ ขาดปัญญา และฤทธิ์ พระศาสนาก็เป็นอัมพาตไปสองส่วนอีกเช่นกัน

หากมีให้เลือก เราควรเลือกสำนักที่อุดมด้วยปัญญา ฤทธิ์ และการจัดการที่ดี นั่นคือพระศาสนาที่บริบูรณ์

และไม่ควรโจมตี ผู้เป็นเลิศด้านใดด้านหนึ่งที่เราไม่ถนัด

พวกฤทธิ์ก็ไม่ควรโจมตีพวกปัญญาว่าบ้าคัมภีร์ เพราะกว่าจะพัฒนาปัญญาได้ ต้องทุ่มเทด้วยจิตอันยิ่ง และปัญญาก็เป็นสิ่งมีค่า สามารถบรรลุธรรมได้ด้วยทิฏฐิปัตตะ

พวกปัญญาก็ไม่ควรโจมตีพวกฤทธิ์ว่าบ้าสมาธิ เพราะกว่าจะพัฒนาฤทธิ์ได้ ต้องทุ่มเทด้วยจิตอันยิ่งเช่นกัน และฤทธิ์ก็เป็นสิ่งมีค่า สามารถบรรลุธรรมได้ด้วยกายสักขี  และช่วยปราบพวกทิฏฐิกระด้างได้ ซึ่งพระพุทธองค์และมหาสาวกทั้งหลายก็ใช้กันมาก ท่านห้ามใช้ฤทธิ์เพียงเพื่อลาภเท่านั้น ใช้เพื่อพระศาสนา และโปรดสัตว์โลก ท่านไม่ได้ห้าม

พวกฤทธิ์ และพวกปัญญา ก็ไม่ควรโจมตีพวกจัดการดี ว่าบ้าอำนาจ เพราะกว่าจะจัดการได้ดีต้องเสียสละมาก และการจัดการที่ดีก็เป็นสิ่งมีค่า รักษาพระศาสนาและมาตรฐานหมู่คณะให้มั่นคง และประคับประคองการบรรลุธรรมโดยรวมได้

ดีที่สุด มีค่าที่สุด คือคนที่มีทั้งปัญญา ทั้งฤทธิ์ ทั้งการจัดการที่ดี ซึ่งในสมัยพุทธกาลมีเยอะ ด้วยเหตุนี้ เวลามหาสาวกบรรลุธรรม ท่านจึงบอกว่า พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว ถึงพร้อมแล้วด้วยอาสวักขยญาณ และอภิญญาหก วิโมกข์แปด ปฏิสัมภิทาสี่  นั่นหมายความว่า ยอดบุรุษทั้งหลายย่อมมีทั้งความบริสุทธิ์ ทั้งปัญญา ทั้งฤทธิ์ ทั้งความสงบ และบางท่านมีทักษะการจัดการที่ดีด้วย นี่คือท่านที่เราควรเลือกส่งเสริม ทำบุญ และเรียนรู้จากท่านเสมอ เพราะท่านเหล่านี้คือเสาหลักของพระศาสนา