Main navigation

อังคิกสูตร

ว่าด้วย
การเจริญสัมมาสมาธิ
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเรื่องการเจริญสัมมาสมาธิอันประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ

การเจริญสัมมาสมาธิประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐ

องค์ที่ ๑ - ปฐมฌาณ
ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ภิกษุทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

องค์ที่ ๒ - ทุติยฌาณ
ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขที่เกิดแต่สมาธิอยู่ ภิกษุทำกายนี้แหละให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่าน ด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกจะไม่ถูกต้อง

องค์ที่ ๓ - ตติยฌาณ
ภิกษุมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ  เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข ภิกษุทำกายทำกายนี้ให้ชุ่มชื่น เอิบอิ่ม ซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกาย ของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขอันปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง

องค์ที่ ๔ - จตุตฌาณ
ภิกษุบรรลุจตุตถฌานอันไม่มีสุข  ไม่มีทุกข์ เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสและโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุนั่งแผ่ไปทั่วกายนี้แหละ ด้วยใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัว ที่ใจอันบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว จะไม่ถูกต้อง

องค์ที่ ๕ - ปัจจเวกขณนิมิต
ภิกษุย่อมถือด้วยดี ทำไว้ในใจด้วยดี ใคร่ครวญด้วยดี แทงตลอดด้วยดี ซึ่งปัจจเวกขณนิมิตด้วยปัญญา

สัมมาสมาธิที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันประเสริฐอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้ ภิกษุจะโน้มน้อมจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ซึ่งธรรมที่จะพึงทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งใดๆ ย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ ย่อมมุ่งหวังได้ว่า

พึงแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคน หลายคนเป็นคนเดียว ทำให้ปรากฏ ทำให้หายไป ทะลุฝากำแพงภูเขาไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่าง ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดิน เดินบนน้ำ เหาะไปในอากาศ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือ พึงใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกได้

พึงได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์

พึงกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ จิตมีราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ก็พึงรู้ว่าจิตมีราคะ โทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน หรือจิตปราศจากราคะโทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน ก็พึงรู้ว่าจิตปราศจากราคะโทสะ โมหะ หดหู่ ฟุ้งซ่าน  จิตเป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็พึงรู้ว่า จิตเป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น หรือจิตไม่เป็นมหรคต จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตไม่เป็นสมาธิ จิตไม่หลุดพ้น ก็พึงรู้ว่า จิตไม่เป็นมหรคต จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตไม่เป็นสมาธิ จิตไม่หลุดพ้น

พึงระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ

พึงเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติกำลังอุปบัติด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ รู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่าสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่
 
ย่อมถึงความเป็นผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่



อ่าน อังคิกสูตร

อ้างอิง
อังคิกสูตรพระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒-๒๓ ข้อที่ ๒๘ หน้า ๒๓-๒๖
ลำดับที่
7

สถานที่

ไม่ระบุ

Keywords

สมาธิ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ