Main navigation

สามัญญผลสูตร ตอนที่ ๑

ว่าด้วย
วาทะของศาสดาทั้ง ๖
เหตุการณ์
พระเจ้าอชาติศัตรูถามพระพุทธเจ้าว่า ศิลปศาสตร์เป็นอันมากเช่น พลช้าง พลม้า ช่างทำขนม ช่างกัลบก พนักงานเครื่องสรง พวกพ่อครัว ช่างดอกไม้ ช่างย้อม ช่างหูก คนเหล่านั้น ย่อมอาศัยผลแห่งศิลปศาสตร์ที่เห็นประจักษ์ เลี้ยงชีพในปัจจุบัน ด้วยผลแห่งศิลปศาสตร์นั้น เขาสามารถบำรุงตน มารดา-บิดา บุตร ภริยา มิตร อำมาตย์ ให้เป็นสุขอิ่มหนำสำราญ ให้ทาน ได้อารมณ์ดี มีสุข เป็นผลให้เกิดในสวรรค์ พระพุทธเจ้าจะบัญญัติสามัญผลของสมณพราหมณ์ที่เห็นประจักษ์ในปัจจุบันเหมือนอย่างนั้นได้บ้างหรือไม่?

พระเจ้าอชาติศัตรูได้ถามคำถามนี้แก่เจ้าลัทธิคนอื่นๆ ได้คำตอบดังนี้ว่า

วาทะของศาสดาปูรณะกัสสป

เมื่อบุคคลทำเอง ใช้ให้ผู้อื่นทำ เบียดเบียนเอง ใช้ผู้อื่นให้เบียดเบียน ทำเขาให้เศร้าโศกเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้เศร้าโศก ทำเขาให้ลำบากเอง ใช้ผู้อื่นทำเขาให้ลำบาก ดิ้นรนเอง ทำเขาให้ดิ้นรน ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ตัดที่ต่อ ปล้นไม่ให้เหลือ ทำโจรกรรมในเรือนหลังเดียว ซุ่มอยู่ที่ทางเปลี่ยว ทำชู้ภริยาเขา พูดเท็จ ผู้ทำไม่ชื่อว่าทำบาป

หากผู้ใดสังหารสัตว์ในปัฐพีนี้ ให้เป็นลาน เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน บาปย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบาปมาถึงเขา 

หากบุคคลให้เอง ใช้ให้ผู้อื่นให้ บูชาเอง ใช้ให้ผู้อื่นบูชา บุญย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขาด้วยการให้ทาน

การทรมานกาย การสำรวมศีล การกล่าวคำสัตย์ บุญที่มีการทำเช่นนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่มีแก่เขา ไม่มีบุญมาถึงเขา

เมื่อพระเจ้าอชาติศัตรูถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูปูรณะกัสสปกลับตอบถึงสิ่งที่ทำแล้ว ไม่เป็นอันทำ เปรียบเหมือนเขา ถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง

วาทะของศาสดามักขลิโคศาล

ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาสาเหตุมิได้ หาปัจจัยมิได้ ย่อมเศร้าหมอง

ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายหาสาเหตุมิได้ หาปัจจัยมิได้ ย่อมบริสุทธิ์

ไม่มีการกระทำของตนเอง ไม่มีการกระทำของผู้อื่น ไม่มีการกระทำของบุรุษ ไม่มีความเพียร ไม่มีเรี่ยวแรงของบุรุษ ไม่มีความบากบั่นของบุรุษ สัตว์ทั้งปวงแปรไปตามเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย  ตามความประจวบ ตามความเป็นเอง เสวยสุขเสวยทุกข์ในอภิชาตทั้งหกเท่านั้น

กำเนิดที่เป็นประธานเหล่านี้ ที่พาลและบัณฑิตจักทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ด้วยความหวังว่าเราจักอบรมกรรมที่ยังไม่อำนวยผลให้อำนวยผล หรือเราสัมผัสถูกต้องกรรมที่อำนวยผลแล้ว จักทำให้สุดสิ้นด้วยศีล ด้วยพรต ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์ ไม่มี

สุขทุกข์ที่ทำให้มีที่สิ้นสุดได้ ย่อมไม่มีในสงสาร

ไม่มีความเสื่อม ความเจริญ ไม่มีการเลื่อนขึ้นเลื่อนลง พาลและบัณฑิตเร่ร่อน ท่องเที่ยวไป จักทำที่สุดทุกข์ได้เอง

เมื่อพระเจ้าอชาติศัตรูถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูมักขลิโคศาลกลับพยากรณ์ถึงความบริสุทธิ์ด้วยการเวียนว่าย เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง

วาทะของศาสดาอชิตะเกสกัมพล

ทานไม่มีผล การบูชาไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาบิดาไม่มี สัตว์ผู้เกิดผุดขึ้นไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งกระทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง ไม่มีในโลก

คนเราเป็นแต่ประชุมมหาภูตทั้งสี่ เมื่อตาย ธาตุดินไปตามธาตุดิน ธาตุน้ำไปตามธาตุน้ำ ธาตุไฟไปตามธาตุไฟ ธาตุลมไปตามธาตุลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมเลื่อนลอยไปในอากาศ ร่างกายปรากฏอยู่แค่ป่าช้า กลายเป็นกระดูก

การเซ่นสรวงมีเถ้าเป็นที่สุด ทานนี้ คนเขลาบัญญัติไว้ คำของคนบางพวกพูดว่า มีผล มีผล ล้วนเป็นคำเปล่า คำเท็จ คำเพ้อ เพราะกายสลาย ทั้งพาลทั้งบัณฑิตย่อมขาดสูญพินาศสิ้น เบื้องหน้าแต่ตายย่อมไม่เกิด

เมื่อพระเจ้าอชาติศัตรูถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูอชิตะเกสกัมพล กลับตอบถึงความขาดสูญ เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง

วาทะของศาสดาปกุธะกัจจายนะ

สภาวะ ๗ กองเหล่านี้ ไม่มีใครทำ ไม่มีใครนิรมิต ไม่มีใครให้นิรมิต เป็นสภาพยั่งยืน สภาวะ ๗ กองเหล่านั้นไม่หวั่นไหว ไม่แปรปรวน ไม่เบียดเบียนกันและกัน ไม่อาจให้เกิดสุข หรือทุกข์ หรือทั้งสุขและทุกข์แก่กันและกัน

สภาวะ ๗ กอง คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะ

ผู้ฆ่าเองก็ดี ผู้ใช้ให้ฆ่าก็ดี ผู้ได้ยินก็ดี ผู้กล่าวให้ได้ยินก็ดี ผู้เข้าใจความก็ดี ผู้ทำให้เข้าใจความก็ดี ไม่มีในสภาวะ ๗ กองนั้น เพราะว่าบุคคลจะเอาศาสตราอย่างคมตัดศีรษะกัน ไม่ชื่อว่าใครๆปลงชีวิตใครๆ เป็นแต่ศาสตราสอดไปตามช่องแห่งสภาวะ ๗ กองเท่านั้น ดังนี้

เมื่อพระเจ้าอชาติศัตรูถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูปกุธะกัจจายนะ กลับเอาเรื่องอื่นมาพยากรณ์ เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วงตอบ ขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง

วาทะของศาสดานิครนถ์นาฏบุตร

นิครนถ์ในโลกนี้ เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ คือ เป็นผู้ห้ามน้ำทั้งปวง ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยน้ำทั้งปวง ๑ เป็นผู้กำจัดด้วยน้ำทั้งปวง ๑ เป็นผู้ประพรมด้วยน้ำทั้งปวง ๑ เพราะเหตุที่นิครนถ์เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการอย่างนี้ บัณฑิตจึงเรียกว่า เป็นผู้มีตนถึงที่สุดแล้ว มีตนสำรวมแล้ว มีตนตั้งมั่นแล้ว

เมื่อพระเจ้าอชาติศัตรูถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูนิครนถ์นาฏบุตร กลับตอบถึงสังวร ๔ ประการ เปรียบเหมือนเขาถามถึง มะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง

วาทะของศาสดาสญชัยเวลัฏฐบุตร

โลกนี้ โลกหน้า ผลวิบากแห่งกรรม อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ มีก็มิใช่ ไม่มีก็มิใช่

สัตว์ตายแล้วเกิดก็มิใช่ ไม่เกิดก็มิใช่ เกิดด้วยไม่เกิดด้วย

อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ ก็มิใช่

เมื่อพระเจ้าอชาติศัตรูถามถึงสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ครูสญชัยเวลัฏฐบุตรกลับตอบส่ายไป เปรียบเหมือนเขาถามถึงมะม่วง ตอบขนุนสำมะลอ หรือเขาถามถึงขนุนสำมะลอ ตอบมะม่วง พระเจ้าอชาติศัตรูมีความดำริว่า ในบรรดาสมณพราหมณ์เหล่านี้ ครูสญชัยเวลัฏฐบุตรนี้โง่กว่าเขาทั้งหมด งมงายกว่าเขาทั้งหมด 

 

อ่าน สามัญญผลสูตร

อ้างอิง
สามัญญผลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๙๑-๙๙ หน้า ๔๕-๕๖
ลำดับที่
2

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม