Main navigation

เหตุที่ต้องดำรงชีพด้วยบิณฑบาต

เหตุการณ์
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงขับไล่ภิกษุสงฆ์ในเหตุเรื่องหนึ่ง ทรงมีพระปริวิตกว่า ภิกษุผู้ใหม่ บวชไม่นาน ไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาค จะเป็นผู้มีความกินแหนง มีใจแปรปรวน จึงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ด้วยการแสดงธรรม

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุผู้เลี้ยงชีพด้วยการแสวงหาบิณฑบาตย่อมได้รับคำแช่งด่าในโลกว่า เป็นผู้มีมือถือบาตรเที่ยวแสวงหาบิณฑบาต

กุลบุตรอาศัยอำนาจแห่งเหตุ เข้าถึงความเป็นผู้แสวงหาบิณฑบาตนี้ ไม่ใช่คนหนีโทษ ไม่ใช่เป็นคนขอให้โจรปล่อยตัวไปบวช ไม่ใช่คนมีหนี้ ไม่ใช่คนมีภัย ไม่ใช่คนแร้นแค้น เป็นผู้บวชด้วยคิดว่า เราเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว มีทุกข์ประจำ ไฉนหนอ ความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งมวล จะพึงปรากฏ

แต่ว่ากุลบุตรนั้น เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา มีราคะกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีใจอันโทสะประทุษร้าย มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่เป็นสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์ เป็นผู้เสื่อมแล้วจากโภคะแห่งคฤหัสถ์ด้วยไม่ทำประโยชน์คือ ความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ มีอุปมาเหมือนกับดุ้นฟืนในที่เผาศพ ซึ่งไฟติดทั้งสองข้าง ตรงกลางก็เปื้อนคูถจะใช้เป็นฟืนในบ้านก็ไม่ได้ 

เมื่อบุคคลมีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ หรือเจริญอนิมิตตสมาธิ อกุศลวิตก ๓ อย่างนี้ คือ กามวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ วิหิงสาวิตก ๑ ย่อมดับโดยไม่เหลือ

อนิมิตตสมาธิควรที่จะเจริญจนกว่าจะละอกุศลวิตกนี้ได้ อนิมิตตสมาธิที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นทิฏฐิ ๒ อย่าง คือ ภวทิฏฐิ ๑ วิภวทิฏฐิ ๑ ว่า เรายึดถือสิ่งใดในโลกอยู่ จะพึงเป็นผู้ไม่มีโทษ สิ่งนั้นไม่มีเลย

ก็เราเมื่อยึดถือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ภพพึงมีแก่เรา เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ ด้วยประการนี้ 

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ควรตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวของตัวเรา

อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี



อ่าน ปิณโฑลยสูตร 

อ้างอิง
ปิณโฑลยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๑๖๕-๑๖๙ หน้า ๙๐-๙๒
ลำดับที่
10

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ