Main navigation
ตติยฌาน
Share:

(๑) ตติยฌาณ หรือ ฌาณ ๓ เป็นหนึ่งในรูปฌาณ ๔

- มีอุเบกขา
- มีสติมีสัมปชัญญะ
- เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป

เธอทำกายนี้ให้ชุ่มชื่นเอิบอิ่มซาบซ่านด้วยสุขอันปราศจากปีติ ไม่มีเอกเทศไหนๆ แห่งกายของเธอทั่วทั้งตัวที่สุขปราศจากปีติจะไม่ถูกต้อง แม้ข้อนี้ก็เป็นสมาธิของเธอประการหนึ่ง

(๒) ธรรมในตติยฌาน คือ อุเบกขา สุข สติ สัมปชัญญะ จิตเตกัคคตา ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตนา วิญญาณ ฉันทะ อธิโมกข์ วิริยะ สติ อุเบกขา มนสิการ กำหนดได้ตามลำดับบท

(๓)  แต่ธรรมคือตติยฌานนี้ เราไม่กล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา ในวินัยของพระอริยะ เรากล่าวว่า เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในอัตภาพนี้ ในวินัยของพระอริยะ

(๔)  ตติยฌานนี้ มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา ดังนี้ เธอตั้งอยู่ในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะความยินดีเพลิดเพลินในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เธอย่อมเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้น เป็นธรรมดา

ตติยฌาณเป็นธรรมอันหนึ่งในการละอาสวะ ที่เมื่อภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร  มีตนส่งไปอยู่ จิตที่ยังไม่หลุดพ้นย่อมหลุดพ้น อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้นย่อมถึงความสิ้นไป ย่อมบรรลุถึงธรรมที่ปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบไว้ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่ยังไม่บรรลุ


(๕)  เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยตติยฌานบ้าง 

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุตติยฌาน ย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งตติยฌานโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาพาธ เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น 

ครั้นแล้ว เธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในตติยฌานนั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้ายังไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เธอย่อมเป็นอุปปาติกะจักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป ด้วยความยินดีเพลิดเพลินในธรรมนั้นๆ
 
อ้างอิง:  
(๑)  สุภสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๙ ข้อที่ ๓๒๗ หน้า ๒๙๗
(๒)  อนุปทสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๑๕๗ หน้า ๙๒
(๓)  สัลเลขสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๐๒ หน้า ๕๓
(๔)  อัฏฐกนาครสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๐ หน้า ๑๕-๑๖
(๕) ฌาณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๔๐ หน้า ๓๔๑-๓๔๒

คำต่อไป