Main navigation

พิจารณาธรรมคลายโศก

เหตุการณ์
พระนางภัททาราชเทวีผู้เป็นที่รักแห่งพระราชามุณฑะได้ทิวงคต พระราชาเศร้าพระทัย ไม่สรงสนาน ไม่ทรงแต่งพระองค์ ไม่เสวย ไม่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ เมื่อพระเจ้ามุณฑะได้ฟังธรรมของพระนารทะ ทรงคลายความเศร้าโศก บริโภคอาหาร และประกอบการงาน

 

โสการักขะมหาอำมาตย์พาพระเจ้ามุณฑะเสด็จไปหาท่านพระนารทะ ผู้มีกิตติศัพท์อันงามว่า เป็นบัณฑิต ฉลาด มีปัญญา เป็นพหูสูต มีถ้อยคำวิจิตร มีปฏิภาณดีงาม เป็นวุฑฒบุคคล และเป็นพระอรหันต์ เพื่อบางที เมื่อพระเจ้ามุณฑะได้ทรงสดับธรรมของพระนารทะแล้ว จะทรงละความโศกได้
 
ท่านพระนารทะได้แสดงธรรมธรรมปริยายชื่อว่าโสกสัลลหรณะแก่พระเจ้ามุณฑะ ความว่า

ฐานะ ๕ ประการที่ใครๆ ก็ไม่ได้

ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร พรหม หรือใคร ๆ ในโลกไม่พึงได้ ฐานะ ๕ ประการ คือ 
           
ขอสิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา อย่าแก่ ๑   

ขอสิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา อย่าเจ็บไข้ ๑  

ขอสิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา อย่าตาย ๑

ขอสิ่งที่มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา อย่าสิ้นไป ๑

ขอสิ่งที่มีความฉิบหายเป็นธรรมดา อย่าฉิบหายไป ๑  
 
ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ

เมื่อสิ่งที่มีความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความสิ้นไป หรือความฉิบหายเป็นธรรมดา แก่ เจ็บไข้ ตาย สิ้นไป หรือฉิบหาย ไป เขาไม่พิจารณาเห็นว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นแก่ เจ็บไข้ ตาย สิ้นไป หรือฉิบหาย ไป

โดยที่แท้ เป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ เจ็บไข้ ตาย สิ้นไป หรือฉิบหายไปทั้งสิ้น

ส่วนตนเองก็เศร้าโศก ลำบาก ร่ำไร ทุบอก คร่ำครวญ หลงงมงาย แม้อาหารก็ไม่อยากรับประทาน แม้กายก็ศร้าหมอง ซูบผอม แม้การงานก็หยุดชะงัก แม้พวกอมิตรก็ดีใจ แม้พวกมิตรก็เสียใจ

นี้เรียกว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ถูกความโศกที่มีพิษเสียบแทงแล้ว ย่อมทำตนให้เดือดร้อน

อริยสาวกผู้ได้สดับ
 
ส่วนอริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นว่า ไม่ใช่สิ่งที่มีความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความสิ้นไป หรือความฉิบหาย เป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้นแก่ เจ็บไข้ ตาย สิ้นไป หรือฉิบหายไป

ที่แท้ สิ่งที่มีความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความสิ้นไป หรือความฉิบหายเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งปวง ที่มีการมา การไป การจุติ การอุปบัติ ย่อมแก่ เจ็บไข้ ตาย สิ้นไป หรือฉิบหายไปทั้งสิ้น
           
อริยสาวกนั้นย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอก ไม่คร่ำครวญ ไม่หลงงมงาย

นี้เรียกว่าอริยสาวกผู้ได้สดับ ถอนความโศกที่มีพิษอันเป็นเครื่องเสียบแทงปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ทำตนให้เดือดร้อน

อริยสาวกผู้ไม่มีความโศก ปราศจากลูกศร ย่อมดับทุกข์ร้อนได้ด้วยตนเอง
 
ท่านพระนารทะได้กล่าวคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
           
ประโยชน์แม้เล็กน้อยในโลกนี้ ใคร ๆ ย่อมไม่ได้เพราะการเศร้าโศก เพราะการคร่ำครวญ พวกอมิตรทราบว่าเขาเศร้าโศกเป็นทุกข์ ย่อมดีใจ

ก็คราวใด บัณฑิตพิจารณารู้เนื้อความ ไม่หวั่นไหวในอันตรายทั้งหลาย คราวนั้น พวกอมิตรเห็นหน้าอันไม่ผิดปกติของบัณฑิตนั้นยิ้มแย้มตามเคย ย่อมเป็นทุกข์

บัณฑิตพึงได้ประโยชน์ในที่ใด ๆ ด้วยประการ ใด ๆ เพราะการสรรเสริญ เพราะความรู้ เพราะกล่าวคำสุภาษิต เพราะการบำเพ็ญทาน หรือเพราะประเพณีของตน ก็พึงบากบั่นในที่นั้น ๆ ด้วยประการนั้น ๆ

ถ้าพึงทราบว่า ความต้องการอย่างนี้อันเราหรือผู้อื่นไม่พึงได้ไซร้ ก็ไม่ควรเศร้าโศก ควรตั้งใจทำงานโดยเด็ดขาดว่า บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ดังนี้
 
ครั้นจบธรรมบรรยาย พระเจ้ามุณฑะตรัสชมโสกสัลลหรณธรรมปริยายว่าดีนัก และท่านได้ละความโศกได้ และได้ตรัสสั่งโสการักขะมหาอำมาตย์ให้ถวายพระเพลิงพระศพพระนางภัททาราชเทวี แล้วทำเป็นสถูปไว้ พระองค์จักไปอาบน้ำแต่งตัว บริโภคอาหาร และประกอบการงาน 



อ่าน นารทสูตร

อ้างอิง
นารทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๕๐ หน้า ๕๑-๕๔
ชุดที่
ลำดับที่
42

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม