Main navigation
ธัมมานุสารี
Share:

(๑) บุคคลชื่อว่าธัมมานุสารี เป็นไฉน

ปัญญินทรีย์ของบุคคลใด ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผลมีประมาณยิ่ง บุคคลนั้นย่อมอบรมซึ่งอริยมรรคอันมีปัญญาเป็นเครื่องนำมา มีปัญญา เป็นประธานให้เกิดขึ้น บุคคลนี้เรียกว่า ธัมมานุสารี

บุคคลผู้ปฏิบัติแล้ว เพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ชื่อว่าธัมมานุสารี


(๒) บุคคลผู้เพ่งด้วยปัญญาในธรรมเหล่านี้ว่า

-  อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา 
-  อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา 
-  วิญญาณ คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา
-  สัมผัส คือ จักขุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา
-  เวทนา คือ จักขุสัมผัสสชาเวทนา โสตสัมผัสสชาเวทนา ฆานสัมผัสสชาเวทนา ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา กายสัมผัสสชาเวทนา มโนสัมผัสสชาเวทนา ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา
-  สัญญา คือ รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา โผฏฐัพพสัญญา ธรรมสัญญาไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา
-  เจตนา คือ รูปสัญเจตนา สัททสัญเจตนา คันธสัญเจตนา รสสัญเจตนา โผฏฐัพพสัญเจตนา ธรรมสัญเจตนา ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา
-  ตัณหา คือ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหาโผฏธัพพตัณหา ธรรมตัณหา ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา
-  ธาตุ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุไม่เที่ยงไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา
-  ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา

เราเรียกผู้นี้ว่า ธัมมานุสารี ก้าวลงสู่สัมมัตตนิยาม ก้าวลงสู่สัปปุริสภูมิ ล่วงภูมิปุถุชน ไม่ทำกรรมที่บุคคลทำแล้วพึงเข้าถึงนรก สัตว์ดิรัจฉาน หรือปิตติวิสัย ไม่ทำกาละตราบเท่าที่ยังไม่ทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล

(๓) ธัมมานุสารีบุคคลเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ถูกต้องวิโมกข์อันละเอียด คือ อรูปสมาบัติ ล่วงรูปสมาบัติด้วยกายอยู่ แต่อาสวะบางเหล่าของผู้นั้นสิ้นไป เพราะเห็น (อริยสัจ) ด้วยปัญญา อนึ่ง ธรรมทั้งหลายที่พระตถาคตประกาศแล้ว ย่อมควรซึ่งความพินิจโดยประมาณด้วยปัญญาของผู้นั้น ธรรมเหล่านี้คือ สัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ย่อมมีแก่ผู้นั้น บุคคลนี้เรากล่าวว่า ธัมมานุสารีบุคคล

กิจที่ควรทำด้วยความไม่ประมาทย่อมมีแก่ภิกษุนี้ เพราะเราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทของภิกษุเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้เมื่อเสพเสนาสนะที่สมควร คบหากัลยาณมิตร ทำอินทรีย์ให้เสมออยู่ พึงทำซึ่งที่สุดพรหมจรรย์อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งไปกว่า ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการ ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเองได้ในปัจจุบัน แล้วเข้าถึงอยู่ ดังนี้

 
อ้างอิง:
(๑) เอกกนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๖ ข้อที่ ๔๕ หน้า ๑๑๐
(๒) โอกกันตสังยุต พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๗ ข้อที่ ๔๖๙-๔๗๘ หน้า ๒๔๖-๒๕๐
(๓) กีฎาคิริสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๓๖ หน้า ๑๘๐-๑๘๑

คำต่อไป