Main navigation

ปารายนวรรค ๒

ว่าด้วย
โสฬสปัญหา
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคทรงตอบคำถามของพราหมณ์ ๑๖ คน (โสฬสปัญหา)

อชิตมาณพปัญหา

โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร
พระองค์ตรัสอะไรว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไรเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้ โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่ (เพราะความประมาท)

เรากล่าวตัณหา ว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น

กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสทั้งหลายอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยธรรมอะไร

สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา

ปัญญา สติ และนามรูป ธรรมทั้งหมดนี้ย่อมดับไป ณ ที่ไหน

นามและรูปย่อมดับไปไม่มีส่วนเหลือ ณ ที่ใด สติและปัญญานี้ย่อมดับไป ณ ที่นั้นเพราะความดับแห่งวิญญาณ

ชนเหล่าใดผู้มีธรรมอันพิจารณาเห็นแล้ว และชนเหล่าใดผู้ยังต้องศึกษาอยู่เป็นอันมากมีอยู่ในโลกนี้

ภิกษุไม่กำหนัดยินดีในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง มีสติ พึงเว้นรอบ 

ติสสเมตเตยยปัญหา

ใครชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ใคร ใครรู้ส่วนทั้งสอง (คือ อดีตกับอนาคต) แล้วไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลาง (ปัจจุบัน) ด้วยปัญญา

พระองค์ตรัสสรรเสริญใครว่า เป็นมหาบุรุษ ใครล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกนี้ได้

ภิกษุเห็นโทษในกามทั้งหลายแล้วประพฤติพรหมจรรย์ มีตัณหาปราศไปแล้ว มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นธรรมแล้วดับกิเลสได้แล้ว ชื่อว่าผู้ยินดีในโลกนี้ ความหวั่นไหวทั้งหลายย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นรู้ซึ่งส่วนทั้งสองแล้ว ไม่ติดอยู่ในส่วนท่ามกลางด้วยปัญญา เรากล่าวสรรเสริญภิกษุนั้นว่าเป็นมหาบุรุษ ภิกษุนั้นล่วงตัณหาเครื่องร้อยรัดในโลกนี้เสียได้

ปุณณกปัญหา

สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ อาศัยอะไร จึงบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์ ปรารถนาความเป็นมนุษย์เป็นต้น อาศัยของมีชรา จึงบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย

สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น เป็นคนไม่ประมาทในยัญ ข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างแลหรือ

สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดเป็นมนุษย์เหล่านั้น ย่อมมุ่งหวัง ย่อมชมเชย ย่อมปรารถนา ย่อมบูชา ย่อมรำพันถึงกาม ก็เพราะอาศัยลาภ เรากล่าวว่า สัตว์เหล่านั้นประกอบการบูชา ยังเป็นคนกำหนัดยินดีในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชรา

ถ้าหากว่าสัตว์ผู้ประกอบการบูชา ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ด้วยยัญญวิธีทั้งหลายไซร้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามพ้นชาติและชราไปได้

ผู้ใดไม่มีความหวั่นไหว (ดิ้นรน) ในโลกไหนๆ เพราะได้พิจารณาเห็นธรรมที่ยิ่งและหย่อนในโลก ผู้นั้นสงบแล้ว ไม่มีความประพฤติชั่วอันจะทำให้มัวหมองดุจควันไฟ ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความ (ปรารถนา) หวังมิได้ เรากล่าวว่า ผู้นั้นข้ามพ้นชาติและชราไปได้แล้ว

เมตตคูมาณพปัญหา

ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก มีมาแล้วแต่อะไร
            
ความทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นอันมาก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดไม่รู้แจ้งย่อมกระทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นคนเขลา ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลมารู้ชัด เห็นชาติว่าเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ ไม่พึงกระทำอุปธิ

นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมข้ามโอฆะ คือ ชาติ ชรา โสกะและปริเทวะได้อย่างไรหนอ

พึงเป็นผู้มีสติ ดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้

ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่งในส่วนเบื้องบน (คือ อนาคต) ในส่วนเบื้องต่ำ (คือ อดีต) และแม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือ ปัจจุบัน) จงบรรเทาความเพลิดเพลินและความยึดมั่นในส่วนเหล่านั้นเสีย วิญญาณ(ของท่าน) จะไม่พึงตั้งอยู่ในภพ

ภิกษุผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้ มีสติ ไม่ประมาท ได้รู้แจ้งแล้วเที่ยวไปอยู่ ละความถือมั่นว่าของเราได้แล้ว พึงละทุกข์ คือ ชาติ ชรา โสกะและปริเทวะในอัตภาพนี้เสีย

ท่านพึงรู้ผู้ใดว่าเป็นพราหมณ์ผู้ถึงเวท ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล ไม่ติดข้องอยู่ในกามภพ ผู้นั้นแลข้ามโอฆะนี้ได้แน่แล้ว ผู้นั้นข้ามถึงฝั่งแล้ว เป็นผู้ไม่มีตะปู คือ กิเลส ไม่มีความสงสัย นรชนนั้นรู้แจ้งแล้วแล เป็นผู้ถึงเวทในศาสนานี้ สละธรรมเป็นเครื่องข้องนี้ในภพน้อยและภพใหญ่ (ในภพและมิใช่ภพ) เสียได้แล้ว เป็นผู้มีตัณหาปราศไปแล้ว ไม่มีกิเลสอันกระทบจิต หาความหวังมิได้ เรากล่าวว่าผู้นั้นข้ามชาติและชราได้แล้ว

โธตกปัญหา

ธรรมเป็นที่สงัดกิเลส ที่ควรจะรู้แจ้ง ไม่ให้ขัดข้องอยู่เหมือนอากาศ จะพึงเป็นผู้ไม่อาศัยแอบอิงเที่ยวไป

ธรรมเครื่องระงับกิเลสที่เราได้เห็นแล้วเป็นธรรมประจักษ์แก่ตน ที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติ พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้

ท่านรู้ชัดซึ่งส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในส่วนเบื้องบน (คืออนาคต) ทั้งในส่วนเบื้องต่ำ (คืออดีต) แม้ในส่วนเบื้องขวางสถานกลาง (คือปัจจุบัน) ท่านรู้แจ้งสิ่งนั้นว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลก อย่างนี้แล้ว อย่าได้ทำตัณหาเพื่อภพน้อยและภพใหญ่เลย

อุปสีวมาณพปัญหา

บุคคลไม่อาศัยธรรมหรือบุคคลอะไรแล้ว ไม่สามารถจะข้ามห้วงน้ำใหญ่คือกิเลสได้ ที่หน่วงเหนี่ยว อันบุคคลพึงอาศัยข้ามห้วงน้ำคือกิเลสนี้

ท่านจงเป็นผู้มีสติ เพ่งอากิญจัญญายตนสมาบัติ อาศัยอารมณ์ว่า ไม่มี ดังนี้แล้วข้ามห้วงน้ำคือกิเลสเสียเถิด

ท่านจงละกามทั้งหลายเสีย เป็นผู้เว้นจากความสงสัย เห็นธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหาให้แจ่มแจ้งทั้งกลางวันกลางคืนเถิด

ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวง ละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์ (คืออากิญจัญญายตนสมาบัติ ธรรมเปลื้องสัญญา) เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกหรือ

ผู้ใดปราศจากความกำหนัดยินดีในกามทั้งปวงละสมาบัติอื่นเสีย อาศัยอากิญจัญญายตนสมาบัติ น้อมใจลงในสัญญาวิโมกข์เป็นอย่างยิ่ง ผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหวพึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น

ถ้าผู้นั้นเป็นผู้ไม่หวั่นไหว พึงตั้งอยู่ในอากิญจัญญายตนพรหมโลก ผู้นั้นพึงพ้นจากทุกข์ต่าง ๆ ในอากิญจัญญายตนพรหมโลกนั้น จะเป็นผู้เยือกเย็น หรือว่าวิญญาณของผู้นั้น พึงเกิดเพื่อถือปฏิสนธิอีก

มุนีพ้นแล้วจากนามกาย ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ เปรียบเหมือนเปลวไฟอันถูกกำลังลมพัดไปแล้ว ย่อมถึงการตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่ถึงการนับ ฉะนั้น

ท่านผู้นั้นถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ท่านผู้นั้นไม่มีหรือว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้ไม่มีโรค ด้วยความเป็นผู้เที่ยง

ท่านผู้ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ไม่มีประมาณ ชนทั้งหลายจะพึงกล่าวท่านผู้นั้นด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้นใด กิเลสมีราคะเป็นต้นนั้นของท่านไม่มี เมื่อธรรม (มีขันธ์เป็นต้น) ทั้งปวง ท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว แม้ทางแห่งถ้อยคำทั้งหมดก็เป็นอันท่านเพิกถอนขึ้นได้แล้ว

นันทมาณพปัญหา

ชนทั้งหลายกล่าวบุคคลว่าเป็นมุนีนี้นั้น ด้วยอาการอย่างไร ชนทั้งหลายกล่าวบุคคลผู้ประกอบด้วยญาณ หรือด้วยความเป็นอยู่ ว่าเป็นมุนี

ผู้ฉลาดในโลกนี้ ไม่กล่าวบุคคลว่าเป็นมุนี ด้วยความเห็น ด้วยความสดับ หรือด้วยความรู้ (ด้วยศีลและวัตร) ชนเหล่าใดกำจัดเสนามารให้พินาศแล้ว ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวไปอยู่ เรากล่าวชนเหล่านั้นว่าเป็นมุนี

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งกล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้าง สมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ ข้ามพ้นชาติและชราได้บ้างหรือไม่

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง กล่าวความบริสุทธิ์ด้วยความเห็นบ้าง ด้วยการฟังบ้าง ด้วยศีลและพรตบ้าง ด้วยมงคลตื่นข่าวเป็นต้นเป็นอันมากบ้างสมณพราหมณ์เหล่านั้นประพฤติอยู่ในทิฐิของตนนั้น ตามที่ตนเห็นว่าเป็นเครื่องบริสุทธิ์ก็จริง ถึงอย่างนั้น เรากล่าวว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้

ถ้าสมณพราหมณ์เหล่านั้นข้ามโอฆะไม่ได้แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก ข้ามพ้นชาติและชราได้แล้วในบัดนี้

เราไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมดอันชาติและชราหุ้มห่อไว้แล้ว แต่เรากล่าวว่า คนเหล่าใดในโลกนี้ ละเสียซึ่งรูปที่ได้เห็นแล้วก็ดี เสียงที่ได้ฟังแล้วก็ดีอารมณ์ที่ได้ทราบแล้วก็ดี ละเสียแม้ซึ่งศีลและพรตทั้งหมดก็ดี ละเสียซึ่งมงคลตื่นข่าวเป็นต้น เป็นอันมากทั้งหมดก็ดี กำหนดรู้ตัณหาแล้ว เป็นผู้หาอาสวะมิได้ คนเหล่านั้นข้ามโอฆะได้แล้ว

เหมกมาณพปัญหา

ขอทรงตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องกำจัดตัณหา อันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลก

ชนเหล่าใดได้รู้ทั่วถึงบท คือ นิพพาน อันไม่แปรผัน เป็นที่บรรเทาฉันทราคะในรูปที่ได้เห็น เสียงที่ได้ฟัง และสิ่งที่ได้ทราบ อันน่ารัก ณ ที่นี้ เป็นผู้มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นสงบระงับแล้ว มีสติ ข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ในโลกได้แล้ว

โตเทยยมาณพปัญหา

ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้แล้ว ความพ้นวิเศษของผู้นั้นเป็นอย่างไร

ผู้ใดไม่มีกามทั้งหลาย ไม่มีตัณหา และข้ามความสงสัยได้แล้ว ความพ้นวิเศษอย่างอื่นของผู้นั้นไม่มี

ผู้ไม่มีความปรารถนา หรือยังปรารถนาอยู่ ผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญา หรือยังเป็นผู้มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาอยู่ บุคคลจะพึงรู้แจ้งมุนีได้อย่างไร

ผู้นั้นไม่มีความปรารถนา และไม่เป็นผู้ปรารถนาอยู่ ผู้นั้นเป็นคนมีปัญญา มิใช่เป็นผู้มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาอยู่ด้วย

ท่านจงรู้จักมุนี ว่าเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลไม่ข้องอยู่แล้วในกามและภพ

กัปปมาณพปัญหา

ธรรมอันเป็นที่พึ่งของชนทั้งหลาย ผู้อันชราและมรณะครอบงำแล้ว ดุจที่พึ่งของชนทั้งหลายผู้อยู่ในท่ามกลางสาคร เมื่อคลื่นเกิดแล้ว มีภัยใหญ่ฉะนั้น โดยอุบายที่ทุกข์นี้ไม่พึงมีอีกเถิด

ธรรมชาติไม่มีเครื่องกังวล ไม่มีความถือมั่น นี้เป็นที่พึ่ง หาใช่อย่างอื่นไม่ เรากล่าวที่พึ่งอันเป็นที่สิ้นไปแห่งชราและมรณะว่านิพพาน ชนเหล่าใดรู้นิพพานนั้นแล้ว มีสติ มีธรรมอันเห็นแล้วดับกิเลสได้แล้ว ชนเหล่านั้นไม่อยู่ใต้อำนาจของมาร ไม่เดินไปในทางของมาร

ชตุกัณณีมาณพปัญหา

ขอพระองค์ตรัสบอกทางสันติ ธรรมเครื่องละชาติละชราที่ควรจะรู้แจ้ง

ท่านได้เห็นซึ่งเนกขัมมะโดยความเป็นธรรมอันเกษมแล้ว จงนำความกำหนัดในกามทั้งหลายเสียให้สิ้น

กิเลสชาติเครื่องกังวลที่ท่านยึดไว้ (ด้วยอำนาจตัณหาและทิฐิ) ควรจะปลดเปลื้องเสีย กิเลสเครื่องกังวลใดได้มีแล้วในกาลก่อน ท่านจงทำกิเลสเครื่องกังวลนั้นให้เหือดแห้งเสีย กิเลสเครื่องกังวลในภายหลัง อย่าได้มีแก่ท่าน

ถ้าท่านจักไม่ถือเอากิเลสเครื่องกังวลในท่ามกลางไซร้ ท่านจักเป็นผู้สงบเที่ยวไป ท่านปราศจากความกำหนัดในนามและรูปแล้วโดยประการทั้งปวง อาสวะทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้ไปสู่อำนาจแห่งมัจจุราชก็ย่อมไม่มีแก่ท่าน

ภัทราวุธมาณพปัญหา

ชนในชนบทต่าง ๆ ประสงค์จะฟังพระดำรัสของพระองค์ ขอพระองค์จงตรัสพยากรณ์แก่ชนเหล่านั้นให้สำเร็จประโยชน์เถิด

หมู่ชนควรจะนำเสียซึ่งตัณหา เป็นเครื่องถือมั่นทั้งปวงในส่วนเบื้องบน เบื้องต่ำ และในส่วนเบื้องขวางสถานกลางให้สิ้นเชิง

เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายถือมั่นสิ่งใดๆ ในโลก มารย่อมติดตามสัตว์ได้เพราะสิ่งนั้นแหละ เพราะเหตุนั้น ภิกษุเมื่อรู้ชัดอยู่ มาเล็งเห็นหมู่สัตว์ ผู้ติดข้องอยู่แล้วในวัฏฏะ อันเป็นบ่วงแห่งมารนี้ว่า เป็นหมู่สัตว์ติดข้องอยู่แล้วเพราะการถือมั่น ดังนี้ พึงเป็นผู้มีสติ ไม่ถือมั่นเครื่องกังวลในโลกทั้งปวง

อุทยมาณพปัญหา

ขอพระองค์จงตรัสบอก ธรรมอันเป็นเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึง สำหรับทำลายอวิชชาเถิด

เรากล่าวธรรมเป็นเครื่องละความพอใจในกามและโทมนัสทั้งสองอย่าง เป็นเครื่องบรรเทาความง่วงเหงา เป็นเครื่องห้ามความรำคาญ บริสุทธิ์ดีเพราะอุเบกขาและสติ มีความตรึกถึงธรรมแล่นไปในเบื้องหน้า ว่าเป็นธรรมเครื่องพ้นที่ควรรู้ทั่วถึงสำหรับทำลายอวิชชา

โลกมีธรรมอะไรประกอบไว้ ธรรมชาติอะไรเป็นเครื่องพิจารณา (เป็นเครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะละธรรม อะไรได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน

โลกมีความเพลิดเพลินประกอบไว้ ความตรึกไปต่าง ๆ เป็นเครื่องพิจารณา (เป็นเครื่องสัญจร) ของโลกนั้น เพราะละตัณหาได้เด็ดขาด ท่านจึงกล่าวว่า นิพพาน

เมื่อบุคคลระลึกอย่างไรเที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ

เมื่อบุคคลไม่เพลิดเพลินเวทนาทั้งภายในและภายนอก ระลึกอย่างนี้เที่ยวไปอยู่ วิญญาณจึงจะดับ

โปสาลมาณพปัญหา

ญาณของบุคคลผู้มีความสำคัญในรูปก้าวล่วงเสียแล้ว ละรูปกายได้ทั้งหมด เห็นอยู่ว่าไม่มีอะไรน้อยหนึ่งทั้งภายในและภายนอก บุคคลเช่นนั้นควรแนะนำอย่างไร

ผู้มีอกิญจัญญายตนสมาบัติเป็นต้นนั้นเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ผู้ที่เกิดในอากิญจัญญายตนสมาบัติว่ามีความเพลิดเพลินเป็นเครื่องประกอบ ดังนี้แล้ว แต่นั้น ย่อมเห็นแจ้งในอากิญจัญญายตนสมาบัตินั้น ญาณของบุคคลนั้นผู้เป็นพราหมณ์ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็นญาณอันถ่องแท้อย่างนี้

โมฆราชมาณพปัญหา

บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

ท่านจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พิจารณาเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่าเถิด จงถอนความตามเห็นว่าเป็นตัวตนเสียแล้ว พึงเป็นผู้ข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอาการอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอยู่อย่างนี้ มัจจุราชจึงจะไม่เห็น

ปิงคิยมาณพปัญหา

ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมที่ข้าพระองค์ควรรู้ ซึ่งเป็นเครื่องละชาติและชราในอัตภาพนี้เสียเถิด

ชนทั้งหลายได้เห็นเหล่าสัตว์ผู้เดือดร้อนอยู่ เพราะรูปทั้งหลายแล้ว ยังเป็นผู้ประมาทก็ย่อยยับอยู่เพราะรูปทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาท ละรูปเสียเพื่อความไม่เกิดอีก

เมื่อท่านเห็นหมู่มนุษย์ผู้ถูกตัณหาครอบงำแล้ว เกิดความเดือดร้อน อันชราถึงรอบข้าง เพราะเหตุนั้น ท่านจงเป็นคนไม่ประมาทละตัณหาเสีย เพื่อความไม่เกิดอีก

 

 

อ่าน อชิตปัญหาที่ ๑

อ้างอิง
ปารายนวรรคที่ ๕ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๔๒๕-๔๔๓ หน้า ๔๗๔-๕๐๑
ชุดที่
ลำดับที่
18

สถานที่

ปาสาณกเจดีย์

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม