Main navigation

การประทานโอวาทแก่พระราหุล

เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าให้โอวาทแก่พระราหุลเรื่อง ขันธ์ ๕ ธาตุ การเจริญภาวนา ๖ อย่าง และการเจริญอานาปานัสสติ

พระพุทธเจ้าให้โอวาทพระราหุลว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งภายใน ภายนอก ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา 

พระพุทธองค์ตรัสให้เจริญภาวนาต่างๆ แล้วจึงให้เจริญอาปานัสสติ อันเจริญแล้วให้ผลมาก ให้อานิสงส์มาก

ธาตุภาวนา

ธาตุอันเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี  พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา  เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในธาตุนั้น จิตย่อมคลายกำหนัดในธาตุนั้น.

การภาวนาเสมอด้วยธาตุ

เมื่อเจริญภาวนาเสมอด้วยธาตุอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

การเจริญภาวนาธรรม ๖ อย่าง

เมื่อเธอเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้.

เมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสาได้.

เมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จักละอรติได้.

เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จักละปฏิฆะได้.

เมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้.

เมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้.

อานาปานัสสติภาวนา

เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า.
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว. 
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้กองลมทั้งปวงหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับกายสังขารหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้ปีติหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้สุขหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตสังขารหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักระงับจิตสังขารหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักทำจิตให้ร่าเริงหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักดำรงจิตมั่นหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักเปลื้องจิตหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยงหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมอันปราศจากราคะหายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่ดับสนิท หายใจเข้า.
ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า จักพิจารณาธรรมเป็นที่สละคืน หายใจเข้า

อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ อันมีในภายหลัง อันบุคคลผู้เจริญอานาปานสติทราบชัดแล้ว ย่อมดับไป

 

อ่าน มหาราหุโลวาทสูตร

อ้างอิง
มหาราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ ข้อที่ [๑๓๓] ถึงข้อที่ [๑๔๖] หน้าที่ ๑๑๑-๑๑๖
ลำดับที่
11

สถานที่

วิหารเชตวัน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ