Main navigation

สภิยสูตร

ว่าด้วย
ปัญหาของสภิยปริพาชก
เหตุการณ์
สภิยปริพาชกทูลถามข้อสงสัยของตนกับพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตอบคำถามธรรมทั้งหมด สภิยปริพาชกข้ามพ้นความสงสัย ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ และอุปสมบทในศาสนาของพระพุทธเจ้า หลังจากอุปสมบทได้ไม่นาน ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม บรรลุอรหัตตผล

เทวดาผู้เป็นสายโลหิตเก่าของสภิยปริพาชก ได้บอกสภิยะว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด เมื่อท่านถามปัญหาเหล่านี้แล้ว พยากรณ์ได้ ให้พึงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้น

การสนทนาธรรมระหว่างสภิยปริพาชกและพระผู้มีพระภาค

บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่าเป็นภิกษุ
กล่าวบุคคลว่าผู้สงบเสงี่ยมด้วยอาการอย่างไร
กล่าวบุคคลว่าผู้ฝึกตนแล้วอย่างไร
และอย่างไร บัณฑิตจึงกล่าวบุคคลว่า ผู้รู้

บุคคลผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นภิกษุ  คือ ผู้ถึงความดับกิเลสด้วยมรรคที่ตนอบรมแล้ว ข้ามความสงสัยเสียได้ ละความไม่เป็นและความเป็นได้เด็ดขาด อยู่จบพรหมจรรย์ มีภพใหม่สิ้นแล้ว

บุคคลผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า ผู้สงบเสงี่ยม คือ ผู้วางเฉยในอารมณ์มีรูปเป็นต้นทั้งหมด มีสติ ไม่เบียดเบียนสัตว์ในโลกทั้งปวง ข้ามโอฆะได้แล้ว เป็นผู้สงบ ไม่ขุ่นมัว ไม่มีกิเลสเครื่องฟูขึ้น

บุคคลผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ฝึกตนแล้ว คือ ผู้อบรมอินทรีย์แล้ว แทงตลอดโลกนี้และโลกอื่น ทั้งภายในทั้งภายนอกในโลกทั้งปวง รอเวลาสิ้นชีวิตอยู่ อบรมตนแล้ว

บุคคลผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า ผู้รู้ คือ ผู้พิจารณาสงสารทั้งสองอย่าง คือ จุติและอุปบัติ ตลอดกัปทั้งสิ้นแล้ว ปราศจากธุลี ไม่มีกิเลสเครื่องยียวน ผู้หมดจด ถึงความสิ้นไปแห่งชาติ

บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่าเป็นพราหมณ์
กล่าวบุคคลว่า เป็นสมณะ ด้วยอาการอย่างไร
กล่าวบุคคลผู้ล้างบาปอย่างไร
และอย่างไรบัณฑิตจึงกล่าวบุคคลว่า เป็นนาค (ผู้ประเสริฐ)

บุคคลผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นพราหมณ์ คือ ผู้ลอยบาปทั้งหมดแล้ว เป็นผู้ปราศจากมลทิน มีจิตตั้งมั่นดี ดำรงตนมั่น ก้าวล่วงสงสารได้แล้ว เป็นผู้สำเร็จกิจ ผู้นั้นอันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว เป็นผู้คงที่

บุคคลผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นสมณะ คือ ผู้มีกิเลสสงบแล้ว ละบุญและบาปได้แล้ว ปราศจากกิเลสธุลี รู้โลกนี้และโลกหน้าแล้ว ล่วงชาติและมรณะได้

บุคคลผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ล้างบาป คือ ผู้ล้างบาปได้หมดในโลกทั้งปวง คือ อายตนะภายในและภาย นอกแล้ว ย่อมไม่มาสู่กัปในเทวดาและมนุษย์

บุคคลผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่าเป็นนาค (ผู้ประเสริฐ) คือ ผู้ไม่กระทำบาปอะไร ๆ ในโลก สลัดออกซึ่งธรรมเป็นเครื่องประกอบและเครื่องผูกได้หมด ไม่ข้องอยู่ในธรรมเป็นเครื่องข้องมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง หลุดพ้นเด็ดขาด

ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวใครว่าผู้ชนะเขต
กล่าวบุคคลว่าเป็นผู้ฉลาดด้วยอาการอย่างไร
อย่างไรจึงกล่าวบุคคลว่าเป็นบัณฑิต
และกล่าวบุคคลชื่อว่าเป็นมุนีด้วยอาการอย่างไร

ผู้ที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นผู้ชนะเขต คือ ผู้พิจารณาเขตทั้งสิ้น คือ เขตที่เป็นของทิพย์ ของมนุษย์ และของพรหมแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งเขตทั้งหมด

ผู้ที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นผู้ฉลาด คือ ผู้พิจารณากระเปาะฟองทั้งสิ้น คือ กระเปาะฟองที่เป็นของทิพย์ ของมนุษย์ และของพรหมแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้า แห่งกระเปาะฟองทั้งหมด

ผู้ที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นบัณฑิต คือ ผู้พิจารณาอายตนะทั้งสองคือ อายตนะภายในและภาย นอกแล้ว เป็นผู้มีปัญญาอันบริสุทธิ์ ก้าวล่วงธรรมดำและธรรมขาวได้แล้ว

ผู้ที่ท่านที่รู้ทั้งหลายกล่าวว่า เป็นมุนี คือ ผู้รู้ธรรมของอสัตบุรุษและของสัตบุรุษในโลกทั้งปวง คือ ในภายในและภายนอก แล้วดำรงอยู่ ผู้นั้นอันเทวดาและมนุษย์บูชา ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องและข่าย คือ ตัณหาและทิฐิแล้ว

บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไรว่าผู้ถึงเวท
กล่าวบุคคลว่าผู้รู้ตามด้วยอาการอย่างไร
กล่าวบุคคลผู้มีความเพียร ด้วยอาการอย่างไร
และบุคคลบัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ชื่อว่าอาชาไนยด้วยอาการอย่างไร

ผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ถึงเวท คือ ผู้พิจารณาเวททั้งสิ้น อันเป็นของมีอยู่แห่งสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ปราศจากความกำหนัดในเวทนาทั้งปวง ผู้นั้นล่วงเวททั้งหมดแล้ว

ผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า ผู้รู้ตาม คือ  ผู้ใคร่ครวญธรรมอันเป็นเครื่องทำให้เนิ่นช้า และนามรูปอันเป็นรากเหง้าแห่งโรค ทั้งภายในทั้งภายนอกแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งโรคทั้งปวง

ผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า ผู้มีความเพียร คือ ผู้งดเว้นจากบาปทั้งหมดล่วงความทุกข์ในนรกได้แล้ว ดำรงอยู่ ผู้นั้นมีความแกล้วกล้า มีความเพียร บัณฑิตกล่าวว่าเป็นนักปราชญ์  

ผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ชื่อว่าอาชาไนย คือ ผู้ใดตัดเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งธรรมเป็นเครื่องข้องทั้งภายในทั้งภายนอกได้แล้ว หลุดพ้นแล้วจากเครื่องผูกอันเป็นรากเหง้าแห่งธรรม เป็นเครื่องข้องทั้งปวง

บัณฑิตกล่าวบุคคลผู้บรรลุอะไร ว่าผู้ทรงพระสูตร
กล่าวบุคคลว่าเป็นอริยะด้วยอาการอย่างไร
กล่าวบุคคลว่าผู้มีจรณะด้วยอาการอย่างไร
และบุคคลบัณฑิตกล่าวว่าเป็นผู้ชื่อว่าปริพาชกด้วยอาการอย่างไร

บุคคลผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ทรงพระสูตร คือบุคคลผู้ฟังแล้ว รู้ยิ่งธรรมทั้งมวล ครอบงำธรรมที่มีโทษและไม่มีโทษอะไรๆ อันมีอยู่ในโลกเสียได้ ไม่มีความสงสัย หลุดพ้นแล้ว ไม่มีทุกข์ในธรรมมีขันธ์และอายตนะเป็นต้นทั้งปวง

บุคคลผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นอริยะ คือ บุคคลผู้รู้แล้วตัดอาลัย และอาสวะได้แล้ว ย่อมไม่เข้าถึงการนอนในครรภ์ บรรเทาสัญญา ๓ อย่าง และเปือกตม คือ กามคุณแล้ว ย่อมไม่มาสู่กัป

ผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า ผู้มีจรณะ คือ ผู้ใดในศาสนานี้เป็นผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุเพราะจรณะ เป็นผู้ฉลาด รู้ธรรมได้ในกาลทุกเมื่อ ไม่ข้องอยู่ในธรรมมีขันธ์เป็นต้นทั้งปวง มีจิตหลุดพ้นแล้ว ไม่มีปฏิฆะ

ผู้ที่บัณฑิตกล่าวว่า ปริพาชก ผู้บรรลุธรรมที่ควรบรรลุ คือ ผู้ขับไล่กรรมอันมีทุกข์เป็นผลซึ่งมีอยู่ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และเป็นปัจจุบันได้แล้ว มีปรกติกำหนดด้วยปัญญาเที่ยวไป กระทำมายากับทั้งมานะ ความโลภ ความโกรธ และนามรูปให้มีที่สุดได้แล้ว

ลำดับนั้น สภิยปริพาชกชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว กราบทูลว่พระผู้มีพระภาคทรงกำจัดทิฐิ ๓ และทิฐิ ๖๐ ของสมณะผู้มีลัทธิอื่น ทรงก้าวล่วงความมืด คือ โอฆะได้แล้ว เป็นผู้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว มีพระปัญญามาก ทรงช่วยตนผู้กระทำที่สุดทุกข์ให้ข้ามได้แล้ว ช่วยให้ตนข้ามพ้นความสงสัย ตนขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค แล้วหมอบลงแทบพระบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า

สภิยปริพาชกขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ และขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค พระองค์จึงตรัสว่า ผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์มาก่อน เมื่อหวังบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือนก่อน และถ้าภิกษุทั้งหลายพอใจ จึงจะให้บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็นภิกษุ

สภิยปริพาชกขออยู่ปริวาส ๔ ปี แล้วจึงบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค หลังจากอุปสมบทแล้วไม่นาน ได้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม บรรลุอรหัตตผล
 

 

อ่าน สภิยสูตร

อ้างอิง
สภิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๖๔-๓๗๒ หน้า ๓๒๑-๓๒๘
ลำดับที่
12

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม