Main navigation

รัฐปาลสูตร

ว่าด้วย
ธัมมุทเทส ๔
เหตุการณ์
พระเจ้าโกรัพยะสนทนาธรรมกับท่านรัฐปาลเถระเรื่องเหตุที่ท่านรัฐปาลเถระออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

พระเจ้าโกรัพยะ ตรัสกับท่านพระรัฐปาละว่า

ความเสื่อม ๔ ประการ คือ

๑.  ความเสื่อมเพราะชรา
๒.  ความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้
๓.  ความเสื่อมจากโภคสมบัติ
๔.  ความเสื่อมจากญาติ

ที่คนบางพวกในโลกนี้ถึงเข้าแล้ว ทำให้การจะได้โภคสมบัติที่ยังไม่ได้ หรือการที่จะทำโภคสมบัติที่ได้แล้วให้เจริญ ไม่ใช่ทำได้ง่าย ย่อมออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

แล้วตรัสถามว่า

ส่วนท่านรัฐปาละยังหนุ่มแน่น ไม่มีความเสื่อมเพราะชรา เป็นผู้ไม่อาพาธ ไม่มีทุกข์ ไม่มีความเสื่อมเพราะความเจ็บไข้ เป็นบุตรของตระกูลเลิศในถุลลโกฏฐิตนิคม ไม่มีความเสื่อมจากโภคสมบัติ และมีมิตรและญาติในถุลลโกฏฐิตนิคมเป็นอันมาก ไม่มีความเสื่อมจากญาติเลย

ท่านรัฐปาละรู้ เห็น หรือได้ฟังอะไร จึงออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตเสีย

ท่านพระรัฐปาละตอบว่า

พระผู้มีพระภาคทรงรู้ ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงธัมมุทเทส ๔ ข้อ ที่ท่านรู้เห็นและได้ฟังแล้ว จึงออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต 

ธัมมุทเทศ ๔ ประการคือ

โลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน

เมื่อยังหนุ่ม เคยเข้าสงคราม บางครั้งคิดว่าตนมีฤทธิ์ เมื่อแก่แล้ว เป็นผู้ใหญ่ เข้าสู่วัยแปดสิบ บางครั้งคิดจะย่างเท้าที่นี้ ก็ไพล่ย่างไปทางอื่น นี้แลคือโลกอันชรานำเข้าไปไม่ยั่งยืน

โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน

เมื่อเจ็บหนัก ก็ไม่มีใครสามารถช่วยแบ่งเวทนานี้ไป เพื่อเวทนาเบาลง ต้องเสวยเวทนานี้เอง นี้แลคือโลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน

โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป

เมื่อจะไปโลกหน้า ชนเหล่าอื่นจะปกครองโภคสมบัตินี้ ส่วนตนก็จะไปตามยถากรรม นี้แลคือโลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป

โลกบกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

เมื่อมีราชบุรุษ กราบทูลว่า ในทิศต่างๆ มีชนบทใหญ่ มั่งคั่งและเจริญ มีชนมาก มีพลช้าง พลม้า พลรถ พลเดินเท้า สัตว์อชินะที่ฝึกแล้ว รวมถึงเงินทองมากมาย และในชนบทนั้นมีสตรีปกครอง พระองค์อาจ จะรบชนะได้ด้วยกำลังพลประมาณเท่านั้น พระองค์ก็ต้องการไปรบเพื่อเอาชนบทนั้นมาครอบครอง นี้แลคือโลกบกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

ท่านพระรัฐปาละประพันธ์คาถาต่อไปว่า

มนุษย์ทั้งหลายที่เป็นผู้มีทรัพย์ ได้ทรัพย์แล้ว แต่ไม่ให้ เพราะความหลง ทำการสั่งสมทรัพย์เพราะความโลภ และยังปรารถนากามอื่นยิ่งขึ้นไป พระราชาทรงแผ่อำนาจครอบครองแผ่นดินไม่เพียงฝั่งสมุทรข้างหนึ่ง แต่ยังทรงปรารถนาฝั่งสมุทรอีกข้างด้วย เมื่อยังไม่สิ้นความทะเยอทะยาน เข้าถึงความตาย เป็นผู้พร่องอยู่ ละร่างกายไป แต่ความอิ่มด้วยกาม ย่อมไม่มีในโลกเลย

ญาติทั้งหลายพากันคร่ำครวญถึงผู้นั้นว่าตายแล้ว ไม่มีใครต้านทานได้ เมื่อผู้นั้นกำลังถูกเผาอยู่ ถูกแทงด้วยหลาว มีผ้าผืนเดียว ละโภคสมบัติไป ทายาททั้งหลายก็เอาทรัพย์ของผู้นั้นไป ส่วนสัตว์ย่อมไปตามกรรมที่ทำไว้

ทั้งทรัพย์ บุตร ภรรยา หรือแว่นแคว้นก็ติดตามคนตายไปไม่ได้ บุคคลไม่ได้อายุยืนหรือกำจัดชราได้ด้วยทรัพย์

นักปราชญ์ทั้งหลาย กล่าวชีวิตนี้ว่าน้อยนัก ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ทั้งคนมั่งมี และยากจน คนพาลและนักปราชญ์ ย่อมกระทบผัสสะเช่นเดียวกัน แต่คนพาลย่อมนอนหวาดอยู่ เพราะความที่ตนเป็นพาล ส่วนนักปราชญ์ย่อมไม่หวั่นไหว ดังนั้น ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์ เป็นเหตุถึงที่สุดในโลกนี้ได้

คนเป็นอันมากทำบาปกรรมเพราะความหลงในภพน้อยใหญ่ เพราะไม่มีปัญญา สัตว์เหล่านั้นย่อมเข้าถึงครรภ์บ้าง ปรโลกบ้าง หมู่สัตว์ผู้มีบาปธรรม เมื่อละโลกนี้ไปแล้วย่อมเดือดร้อนในโลกหน้าเพราะกรรมของตนเอง

กามทั้งหลายมีรสอร่อย เป็นที่รื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปมีประการต่าง ๆ สัตว์โลกทั้งหลาย ทั้งหนุ่มทั้งแก่ เมื่อสรีระถูกทำลาย ย่อมตายเหมือนผลไม้ที่ร่วงหล่นไป

ท่านพระรัฐปาละเห็นโทษในกามทั้งหลาย รู้เหตุดังนี้ จึงออกบวช ความเป็นสมณะเป็นข้อปฏิบัติอันไม่ผิด เป็นผู้ประเสริฐแล้ว
 

 

 

อ่าน รัฐปาลสูตร

อ้างอิง
รัฐปาลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที ๑๓ ข้อที่ ๔๔๐-๔๕๑ หน้า ๓๐๖-๓๑๕
ลำดับที่
11

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม