Main navigation

จูฬสัจจกสูตร

ว่าด้วย
การโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า
เหตุการณ์
สัจจกนิครนถ์ชักชวนเจ้าลิจฉวี ๕๐๐ พระองค์ ให้ไปดูตนโต้วาทะกับพระพุทธเจ้าในเรื่องขันธ์ ๕ ซึ่งสัจจกนิครนถ์ก็ไม่สามารถรุกรานพระพุทธเจ้าได้ และได้ทูลขอให้พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์รับนิมนต์เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้นที่อารามของตน

สัจจกนิครนถ์ผู้ยกตนว่าเป็นนักปราชญ์ มีความรู้ดี กล่าวว่า ไม่เห็นใครที่โต้ตอบวาทะกับตนแล้ว จะไม่ประหม่า ไม่สะทกสะท้าน ไม่หวั่นไหว ไม่มีเหงื่อไหลจากรักแร้แม้แต่คนเดียวเลย ได้ชักชวนเจ้าลิจฉวี ๕๐๐ พระองค์ ให้ไปดูตนโต้วาทะกับพระพุทธเจ้า

สัจจกนิครนถ์ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าทรงแนะนำพวกสาวกอย่างไร และคำสั่งสอนของพระองค์มีส่วนอย่างไรที่เป็นไปมากในพวก

พระผู้มีพระภาคตอบว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน

สัจจกนิครนถ์ได้อุปมาว่า

พืชพันธุ์ไม้ที่ถึงความเจริญงอกงาม พืชพันธุ์เหล่านั้นต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงจะถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ฉันใด ปุริสบุคคลมีรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณเป็นตน ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จึงจะได้ประสบผลบุญ ผลบาปฉันนั้น ดังนั้นสัจจกนิครนถ์จึงมีความเห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณเป็นตนของเรา

พระผู้มีพระภาคทรงให้สัจจกนิครนถ์ยืนยันคำของตน แล้วไล่ความต่อด้วยอุปมาว่าพระราชามีอำนาจ สั่งประหารชีวิตคนในนครของตนได้หรือไม่ แล้วถามว่า

ข้อที่สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า รูปเป็นตนของเรา อำนาจของเราเป็นไปในรูปนั้นว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย เป็นจริงหรือ

คำถามนี้ทำให้สัจจกนิครนถ์นิ่งเสียถึงสองครั้ง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ผู้ใดที่ตถาคตถามปัญหาที่ชอบแก่เหตุแล้วถึงสามครั้ง แล้วไม่ได้แก้ ศีรษะของผู้นั้นจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยงในที่นั้น

ขณะนั้น ท้าววชิรปาณีสักกเทวราชถือกระบองเพชรลุกเป็นไฟลอยอยู่ในอากาศ เบื้องบนศีรษะของสัจจกนิครนถ์ เตรียมจะผ่าศีรษะของสัจจกนิครนถ์ เมื่อเห็นดังนั้นสัจจกนิครนถ์ก็ตกใจกลัว แสวงหาพระผู้มีพระภาคเป็นที่ป้องกันเป็นที่พึ่ง

พระผู้มีพะภาคขอให้สัจจกนิครนถ์แก้คำถามดังนี้

ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นตนของเรา อำนาจของท่านเป็นไปในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย และในวิญญาณว่า เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลยหรือ

สัจจกนิครนถ์ตอบว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณไม่เป็นตนของเรา อำนาจของเราไม่เป็นไปในรูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย

พระผู้มีพระภาคไล่เลียงคำถามต่อไปว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลาย และวิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเราดังนี้หรือ

ผู้ใดติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์อยู่แล้ว กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ยังตามเห็นทุกข์ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา ผู้นั้นไม่สามารถกำหนดรู้ทุกข์ได้เอง และไม่สามารถทำทุกข์ให้สิ้นไปได้

สัจจกนิครนถ์อันพระผู้มีพระภาคซักไซ้ไล่เลียง สอบสวนในถ้อยคำของตนเอง ก็เปล่า ว่าง แพ้ไปเอง สัจจกนิครนถ์นั่งนิ่งอึ้ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า หมดปฏิภาณ

เมื่อเจ้าลิจฉวีผู้มีนามว่าทุมมุขะเห็นดังนั้น จึงทูลพระผู้มีพระภาคว่าทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม เข้าใจผิด กวัดแกว่งบางอย่างของสัจจกนิครนถ์ พระผู้มีพระภาคทรงหักเสียแล้ว แต่นี้ไปสัจจกนิครนถ์ก็ไม่อาจเข้ามาใกล้พระองค์ด้วยความประสงค์จะโต้ตอบอีก

สัจจกนิครนถ์ ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ด้วยเหตุเท่าไร สาวกของพระองค์จึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูกตามโอวาท ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจากความแคลงใจ ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอนของศาสดาตน

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

สาวกของพระองค์ในธรรมวินัยนี้ย่อมเห็นเบญจขันธ์นั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ทั้งหมดก็เป็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา

ด้วยเหตุเท่านี้ สาวกของพระผู้มีพระภาคจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูกตามโอวาท ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจากความแคลงใจ ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอนของศาสดา

ด้วยเหตุเท่าไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีสัญโญชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ทั้งหมดก็เป็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ได้เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้ จึงพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น.

ด้วยเหตุเท่านี้แหละ ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียแล้ว มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีสัญโญชน์อันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ

ภิกษุที่รู้พ้นวิเศษแล้ว ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม ๓ ประการ คือ

ความเห็นอันยอดเยี่ยม ความปฏิบัติอันยอดเยี่ยม และความพ้นวิเศษอันยอดเยี่ยม

เมื่อมีจิตพ้นกิเลสแล้ว ย่อมสักการะ เคารพนับถือบูชาตถาคตว่า

พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว ทรงฝึกพระองค์แล้ว ทรงสงบได้แล้ว ทรงข้ามพ้นแล้ว และทรงดับสนิทแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตรัสรู้ เพื่อฝึก เพื่อสงบ เพื่อข้ามพ้น และเพื่อความดับสนิท

สัจจกนิครนถ์กล่าวว่า ตนเป็นคนคอยกำจัดคุณผู้อื่น คะนองวาจา คิดว่าตนสามารถรุกรานถ้อยคำของพระผู้มีพระภาคได้ด้วยถ้อยคำของตน แม้จะเจอกองไฟอันกำลังลุกโพลง หรือเจองูพิษที่มีพิษร้าย ยังพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่มาเจอพระผู้มีพระภาคเข้าแล้วไม่มีใครเอาตัวรอดได้เลย และทูลขอให้พระองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์รับนิมนต์เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้นที่อารามของตน

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว สัจจกนิครนถ์จึงบอกพวกเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นว่าตนได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้ เจ้าลิจฉวีจะนำอาหารใดมาเพื่อตน จงเลือกอาหารที่ควรแก่พระผู้มีพระภาค

ในวันต่อมา เจ้าลิจฉวีทั้งหลายได้นำภัตตาหารประมาณห้าร้อยสำรับไปให้แก่สัจจกนิครนถ์

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยภัตตาหารเสร็จ สัจจกนิครนถ์ได้ทูลว่า ขอบุญและผลบุญในทานนี้ จงมีเพื่อความสุขแก่ทายกทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

บุญและผลบุญในทานนี้อาศัยทักขิเณยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นกับสัจจกนิครนถ์ จะมีแก่ทายกทั้งหลาย ส่วนบุญและผลบุญอาศัยทักขิเณยยบุคคลที่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นกับพระองค์ จะมีแก่สัจจกนิครนถ์

 

 

อ่าน จูฬสัจจกสูตร

อ้างอิง
จูฬสัจจกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๓๙๒-๔๐๔ หน้า ๓๐๐-๓๐๙
ลำดับที่
9

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม