Main navigation
ถีนมิทธะ
Share:

(๑)  ถีนมิทธะ คือความหดหู่ ความง่วงเหงาหาวนอน เป็นหนึ่งในนิวรณ์ ๕ 

ถีนมิทธนิวรณ์ เป็นไฉน?

ถีนมิทธะนั้น แยกเป็นถีนะอย่างหนึ่ง มิทธะอย่างหนึ่ง.

ถีนะ เป็นไฉน?

ความไม่สมประกอบแห่งจิต ความไม่ควรแก่การงานแห่งจิต ความท้อแท้ ความถดถอย ความหดหู่ อาการที่หดหู่ ภาวะที่หดหู่ ความซบเซา อาการที่ซบเซา ภาวะที่ซบเซาแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า ถีนะ.

มิทธะ เป็นไฉน?

ความไม่สมประกอบแห่งนามกาย ความไม่ควรแก่งานแห่งนามกาย ความปกคลุม ความหุ้มห่อ ความปิดบังไว้ภายใน ความง่วงเหงา ความหาวนอน ความโงกง่วง ความหาวนอน อาการที่หาวนอน ภาวะที่หาวนอน อันใด นี้เรียกว่า มิทธะ

(๒)  เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ เหมือนความไม่ยินดี ความเกียจคร้าน ความบิดขี้เกียจ ความเมาอาหาร และความที่จิตหดหู่

เมื่อบุคคลมีจิตหดหู่ ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ ฯ

เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ เหมือนความริเริ่ม ความพากเพียร ความบากบั่น

เมื่อบุคคลปรารภความเพียรแล้ว ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้ว อันบุคคลย่อมละได้ ฯ

(๓)  สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลเพื่อเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ มิใช่กาลเพื่อเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์ เพราะจิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะให้ตั้งขึ้นได้ด้วยธรรมเหล่านั้น

สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น เป็นกาลเพื่อเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ เป็นกาลเพื่อเจริญปีติสัมโพชฌงค์ เพราะจิตหดหู่ จิตที่หดหู่นั้น ให้ตั้งขึ้นได้ง่ายด้วยธรรมเหล่านั้น

สติ มีประโยชน์ในที่ทั้งปวง

 

อ้างอิง: 
(๑)  นีวรณโคจฉกะ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๗๕๑ หน้า ๒๖๓
(๓)  อัคคิสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๖๙-๕๗๐, ๕๗๒ หน้า ๑๓๙-๑๔๐

คำต่อไป