Main navigation

ธรรมเพื่อประโยชน์สุขของผู้ครองเรือน

เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าทรงแสงดงธรรมแก่โกฬิยบุตรชื่อทีฆชาณุ เรื่องธรรมที่เหมาะกับผู้ครองเรือน อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบันและในภายหน้าที่เมืองกักกรปัตตะ

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกฬิยะชื่อกักกรปัตตะ ใกล้เมืองโกฬิยะ ครั้งนั้นทีฆชาณุ หรืออีกชื่อคือพยัคฆปัชชะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลให้พระองค์แสดงธรรมที่เหมาะสมกับตนซึ่งยังเป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม ครองเรือน ทรงดอกไม้ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีในเงินและทองอยู่  เพื่อประโยชน์และความสุขในโลกทั้งสอง คือในปัจจุบันและภายหน้า

ธรรม ๔ ประการเพื่อประโยชน์สุขในปัจจุบัน
- อุฏฐานสัมปทา คือ การเลี้ยงชีพด้วยการประกอบการงานที่สุจริต เช่น กสิกรรมพาณิชยกรรม รับราชการ ขยันไม่เกียจคร้าน ประกอบด้วยปัญญาในการงานนั้น
- อารักขสัมปทา คือ การรักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ได้มาโดยชอบธรรม ไม่ให้ใครมาลักเอาไป
- กัลยาณมิตตตา คือ การคบหรือสนทนากับบุคคลที่บริสุทธิ์ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา และศึกษาตามบุคคลนั้นในสิ่งที่บุคคลนั้นถึงพร้อม
- สมชีวิตา คือ การรู้ทางเจริญและทางเสื่อมแห่งทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีพพอเหมาะ ไม่ฟูมฟายหรือฝืดเคืองจนเกินไป ไม่ใช่ว่ามีรายได้น้อย แต่เลี้ยงชีวิตอย่างโอ่โถง หรือมีรายได้มาก แต่เลี้ยงชีพอย่างฝืดเคือง

ทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ๔ ประการ ประกอบด้วย เป็นนักเลงหญิง เป็นนักเลงสุรา เป็นนักเลงการพนัน และมีมิตรสหายหรือเพื่อนชั่ว ส่วนทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ ๔ ประการ คือ ไม่เป็นนักเลงหญิง ไม่เป็นนักเลงสุรา ไม่เป็นนักเลงการพนัน และมีมิตรสหายหรือเพื่อนดี

ธรรม ๔ ประการเพื่อประโยชน์สุขในภายหน้า
- สัทธาสัมปทา คือ เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
- สีลสัมปทา คือ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
- จาคสัมปทา คือ เป็นผู้มีจิตปราศจากมลทิน คือความตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว ยินดีในการสละ การจำแนกทาน
- ปัญญาสัมปทา คือ เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

คนหมั่นในการทำงาน ไม่ประมาท จัดการงานเหมาะสม เลี้ยงชีพพอเหมาะ รักษาทรัพย์ที่หามาได้   มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล รู้ถ้อยคำ ปราศจากความตระหนี่ ชำระทางสัมปรายิกประโยชน์เป็นนิตย์ ธรรม ๘ ประการดังกล่าวของผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธาอันพระพุทธเจ้าตรัสว่า นำสุขมาให้ในโลกทั้งสองคือประโยชน์ในปัจจุบันนี้และความสุขในภายหน้า  บุญคือจาคะนี้ ย่อมเจริญแก่คฤหัสถ์ ดังนี้  


 

อ่านพระสูตรเต็ม - ทีฆชาณุสูตร
 

อ้างอิง
ทีฆชาณุสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๔๔ หน้า ๒๒๒-๒๒๕
ลำดับที่
19

สถานที่

เมืองโกฬิยะ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม