Main navigation

หลักการใช้โภคทรัพย์

เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี เรื่อง ประโยชน์ของโภคทรัพย์

ประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการคือ
๑.  ใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงตน เลี้ยงมารดา บิดา บุตร ภรรยา ทาส กรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ

๒.  ใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ

๓.  ใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้สวัสดี    

๔.  ใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ทำพลี ๕ อย่าง คือ
     ๑. ญาติพลี [บำรุงญาติ]
     ๒. อติถิพลี [ต้อนรับแขก]
     ๓. ปุพพเปตพลี [บำรุงญาติผู้ตายไปแล้วคือทำบุญอุทิศกุศลให้]
     ๔. ราชพลี [บำรุงราชการ คือบริจาคทรัพย์ช่วยชาติ]
     ๕. เทวตาพลี [บำรุงเทวดา คือทำบุญอุทิศให้เทวดา]

๕.  ใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความหมั่น ความขยัน ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม บำเพ็ญทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดีในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมาประมาท ตั้งอยู่ในขันติและโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับดับกิเลส โดยส่วนเดียว

ถ้าเมื่อได้ประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ แล้วโภคทรัพย์หมดสิ้นไป อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ประโยชน์แต่โภคทรัพย์นั้นแล้วและโภคทรัพย์ของเราก็หมดสิ้นไป ย่อมไม่มีความเดือดร้อน

ถ้าเมื่อได้ประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ แล้วโภคทรัพย์เจริญขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ประโยชน์แต่โภคทรัพย์นี้แล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็เจริญขึ้น ย่อมไม่มีความเดือดร้อน

บุคคลคำนึงถึงเหตุนี้ว่า เราได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงตนแล้ว เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงแล้ว ได้ผ่านพ้นภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ให้ทักษิณาอันมีผลสูงเลิศแล้ว ได้ทำพลี ๕ ประการแล้ว และได้บำรุงท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน  พึงปรารถนาโภคทรัพย์ เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้น ได้บรรลุแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ไม่ต้องเดือดร้อนแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงอยู่ในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้ เมื่อเขาละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์
 

อ้างอิง
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ [๔๑] อาทิยสูตร
ลำดับที่
5

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ