Main navigation

ชฏิล ๓ พี่น้อง

เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าแสดงอิทธิปาฏิหารย์ ชฏิลหนึ่งพันคน เกิดความเลื่อมใส อุปสมบทในพระพุทธศาสนา แล้วทรงเทศนาอาทิตตปริยายสูตรเปรียบอายตนะเป็นของร้อนเช่นไฟ ภิกษุหนึ่งพันรูปนั้น สำเร็จอรหันต์

พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกมาถึงตำบลอุรุเวลา ซึ่งมี ชฎิล ๓ คนพี่น้องอาศัยอยู่ คือ อุรุเวลกัสสป นทีกัสสปและคยากัสสป โดยอุรุเวลกัสสป เป็นหัวหน้าของชฎิล ๕๐๐ คน นทีกัสสป เป็นหัวหน้าของชฎิล ๓๐๐ คน ส่วนคยากัสสป เป็นหัวหน้าของชฎิล ๒๐๐ คน 

พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปสู่อาศรมของอุรุเวลกัสสป เพื่อขอพักอาศัยในโรงบูชาเพลิงซึ่งมีพญานาคที่ดุร้ายอาศัยอยู่ ทรงเข้ากสิณสมาบัติ มีเตโชธาตุเป็นอารมณ์ ครอบงำเดช ของพญานาคที่ดุร้าย มีฤทธิ์ แล้วทรงขดพญานาคไว้ในบาตร 

ชฏิลอุเวลกัสสปดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่  ชฏิลอุเวลกัสสปเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหารย์ของพระพุทธเจ้า จึงนิมนต์พระองค์ให้อยู่ในที่นั้น โดยตนจะบำรุงภัตตาหารให้ประจำ

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณไพรสณฑ์แห่งหนึ่ง ในแต่ละคืนเมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกะจอมทวยเทพ และท้าวสหัมบดีพรหม ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อฟังธรรมตามลำดับ เปล่งรัศมีงาม ทำให้ไพรสณฑ์ทั้งสิ้นสว่างไสว

ชฏิลอุเวลกัสสปดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ขนาดท้าวมหาราชทั้ง ๔ ท้าวสักกะจอมทวยเทพ และท้าวสหัมบดีพรหมเข้ามาหาเพื่อฟังธรรม แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่ 

ต่อมา ชฏิลอุรุเวลกัสสปเตรียมการบูชายัญใหญ่ แล้วคิดในใจว่าถ้าพระพุทธเจ้าแสดงอิธิปาฏิหาริย์ มหาชนจะต้องถวายลาภสักการะให้แก่พระผู้มีพระภาค ลาภสักการะของตนก็จะลดลง  จะทำอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงไม่มาฉัน

พระผู้มีพระภาคทราบความคิดของชฎิลอุรุเวลกัสสปแล้ว จึงเสด็จไปอุตตรกุรุทวีปเพื่อบิณฑบาต แล้วนำกลับมาเสวยที่สระอโนดาด

วันรุ่งขึ้น ชฏิลอุรุเวลกัสสปถามพระพุทธเจ้าว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มารับอาหารเมื่อวานนี้ พระพุทธเจ้าตอบว่าเพราะชฏิลคิดไม่ใช่หรือว่าทำอย่างไรจึงไม่ให้พระองค์มาฉัน

ชฏิลอุรุเวลกัสสปดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ จึงทราบความคิดด้วยใจได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่ 

ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่าจะทรงซัก ขยำ พาด และผึ่งผ้าบังสุกุลไว้ที่ใด เมื่อนั้นท้าวสักกะจอมทวยเทพจึงขุดสระโบกขรณีเพื่อให้ทรงซักผ้า ยกศิลาแผ่นใหญ่มาวาง เพื่อให้ทรงขยำผ้า เทพยดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นกุ่มบกได้น้อมกิ่งกุ่มลงมาเพื่อให้ทรงพาดผ้า และท้าวสักกะจอมทวยเทพได้ยกแผ่นศิลาแผ่นใหญ่เพื่อให้ทรงผึ่งผ้า

วันรุ่งขึ้น ชฎิลได้ถามพระพุทธเจ้าว่าสระ แผ่นศิลา และกิ่งกุ่มที่น้อมลง เกิดขึ้นได้อย่างไร  พระพุทธเจ้าจึงเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง

ชฏิลอุเวลกัสสปดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ขนาดท้าวสักกะยังได้ทำการช่วยเหลือ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่ 

ในวันต่อๆ มา ชฎิลอรุเวลกัสสปได้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าว่าภัตตาหารเสร็จแล้ว ทรงส่งชฎิลอุรุเวลกัสสปกลับไปก่อน ส่วนพระองค์ทรงไปเก็บผลหว้าจากชมพูทวีปวันหนึ่ง  อีกวันหนึ่งก็ทรงไปเก็บผลมะม่วง ผลมะขามป้อม ผลสมอ แล้วเสด็จไปสู่ภพดาวดึงส์ เก็บดอกปาริฉัตตกะ แต่ก็ทรงกลับมาถึงโรงบูชาเพลิงก่อนอุรุเวลกัสสป

ชฏิลอุเวลกัสสปดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ เพราะส่งตนก่อนแล้วยังไปสู่ชมพูทวีปและภพดาวดึงส์แล้วยังมานั่งในโรงบูชาเพลิงก่อนตน แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่ 

ครั้งหนึ่ง ชฎิลเหล่านั้นปรารถนาจะบำเรอไฟ แต่ไม่อาจจะผ่าฟืน ก่อไฟให้ลุก และดับไฟได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปาฏิหารย์โดย ตรัสบอกให้พวกชฎิลผ่าฟืน ก่อไฟให้ลุก และดับไฟ 

ชฎิลทั้งหลายสามารถผ่าฟืน ๕๐๐ ท่อน  ก่อไฟทั้ง ๕๐๐ กอง และดับไฟได้ในคราวเดียวเท่านั้น

ชฏิลอุเวลกัสสปดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับให้พวกชฏิฏผ่าฟืน ก่อไฟ และดับไฟได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่ 

และครั้งหนึ่งในฤดูหนาว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปาฏิหารย์ นิรมิตกองไฟไว้ ๕๐๐ กอง เพื่อให้ชฎิลเมื่อขึ้นจากน้ำแล้วผิงไฟได้

ชฏิลอุเวลกัสสปดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับนิรมิตกองไฟได้มากมากยถึงเพียงนั้น แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่ 

ครั้งหนึ่งเกิดฝนตกนอกฤดู จนทำให้เกิดน้ำท่วม พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลให้น้ำห่างออกไปโดยรอบ แล้วทรงจงกรมอยู่บนพื้น

เมื่อชฏิลมารับพระพุทธเจ้า ก็ได้เห็นพระพุทธเจ้าจงกรมอยู่บนพื้นที่มีน้ำล้อมโดยรอบ

ชฏิลอุเวลกัสสปดำริว่า พระพุทธเจ้ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากแท้ ถึงกับบัลดาลไม่ให้น้ำไหลได้ แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนตนแน่ 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคดำริว่าจะพึงทำให้ชฏิลนี้สลดใจ จึงตรัสกับอุรุเวลกัสสปว่า อุเวลกัสสปไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไม่พบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีแม้ปฏิปทาที่จะเป็นเหตุให้เป็นพระอรหันต์ หรือพบทางแห่งความเป็นพระอรหันต์

อุรุเวลกัสสปเกิดความสลดใจ ซบหัวตนที่พระบาทของพระพุทธเจ้าแล้วขออุปสมบท 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า อุรุเวลกัสสปะเป็นผู้นำ เป็นผู้สอน เป็นหัวหน้า เป็นประธานของชฏิล 500 คน ควรบอกคนเหล่านั้นก่อนเพื่อให้คนเหล่านั้นตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร

เมื่อชฏิล 500 คนทราบว่าอุรุเวลกัสสปผู้เป็นอาจารย์จะประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้า พวกชฎิลเหล่านั้นซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธเจ้ามานานแล้วก็จะประพฤติพรหมจรรย์ในพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน

ชฎิลเหล่านั้นก็ได้ลอยผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิงในน้ำ และอุปสมบทในสำนักพระพุทธเจ้า

ชฎิลนทีกัสสปผู้เป็นน้องชาย เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิงลอยน้ำมา เกิดความกังวลว่ามีอุปสรรคต่อพี่ชายตน จึงไปพร้อมชฎิล ๓๐๐ คน

เมื่อพบท่านพระอุรุเวลกัสสป ก็ถามว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ 

พระอุรุเวลกัสสปตอบว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐ  

ชฎิลนทีกัสสปและพวกก็ได้ลอยผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิงในน้ำ และขออุปสมบทในสำนักพระพุทธเจ้า

เมื่อชฎิลลคยากัสสป เห็นผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิง ลอยน้ำมา เกิดความกังวลว่ามีอุปสรรคต่อพี่ชายทั้งสองของตน จึงไปพร้อมชฎิล ๒๐๐ คน

เมื่อพบท่านพระอุรุเวลกัสสป ก็ถามว่า พรหมจรรย์นี้ประเสริฐแน่หรือ 

พระอุรุเวลกัสสปตอบว่าพรหมจรรย์นี้ประเสริฐ   ชฎิลคยากัสสปและพวกก็ได้ลอยผม ชฎา เครื่องบริขาร และเครื่องบูชาเพลิงในน้ำ และขออุปสมบทในสำนักพระพุทธเจ้า

พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่ภิกษุ ๑,๐๐๐ รูปที่ล้วนเป็นปุราณชฎิลดังนี้ว่า

จักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย มนะ เป็นของร้อน
-  รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมทั้งหลายเป็นของร้อน

-  วิญญาณอาศัยจักษุ วิญญาณอาศัยโสต วิญญาณอาศัยฆานะ วิญญาณอาศัยชิวหา วิญญาณอาศัยกาย วิญญาณอาศัยมนะ เป็นของร้อน

-  สัมผัสอาศัยจักษุ สัมผัสอาศัยฆานะ สัมผัสอาศัยชิวหา สัมผัสอาศัยกาย สัมผัสอาศัยมนะ เป็นของร้อน

-  ความเสวยอารมณ์ เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานะสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นปัจจัย ก็เป็นของร้อน

ร้อนเพราะไฟ คือราคะ โทสะ โมหะ ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความรำพัน เพราะทุกข์กาย ทุกข์ใจ เพราะความคับแค้น

อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้วเห็นอยู่อย่างนี้
-

  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในจักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย มนะ

-  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมทั้งหลาย

-  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณอาศัยจักษุ วิญญาณอาศัยโสต วิญญาณอาศัยฆานะ วิญญาณอาศัยชิวหา วิญญาณอาศัยกาย วิญญาณอาศัยมนะ

-  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัมผัสอาศัยจักษุ สัมผัสอาศัยฆานะ สัมผัสอาศัยชิวหา สัมผัสอาศัยกาย สัมผัสอาศัยมนะ

-  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในความเสวยอารมณ์ ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือมิใช่ทุกข์ มิใช่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัส โสตสัมผัส ฆานะสัมผัส ชิวหาสัมผัส กายสัมผัส มโนสัมผัส เป็นปัจจัย

เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสจบ จิตของภิกษุ ๑๐๐๐ รูปนั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น บรรลุพระอรหัตผล

 



อ่าน ชฎิล ๓ พี่น้อง

อ้างอิง
ชฎิล ๓ พี่น้อง พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๓๗-๕๕ หน้า ๓๖-๕๐
ลำดับที่
9

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ