Main navigation

อัคคิวัจฉโคตตสูตร

ว่าด้วย
ทรงแสดงเรื่องไฟแก่ปริพาชกชื่อวัจฉโคตร
เหตุการณ์
วัจฉโคตตปริพาชกถามพระพุทธเจ้าว่ามีความเห็นอย่างไรในเรื่องทิฏฐิ ๑๐ อย่าง เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบ วัจฉโคตรปริพาชกประกาศตนเป็นอุบาสก ยึดพระรัตนไตรเป็นสรณะ

ทิฏฐิ ๑๐ อย่างที่วัจฉโคตรปริพาชกถามพระพุทธเจ้า

๑.  โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?

๒.  โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?

๓.  โลกมีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?

๔.  โลกไม่มีที่สุด สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?

๕.  ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?

๖.  ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?

๗.  สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?

๘. สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป ไม่มีอยู่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?

๙.  สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?

๑๐.  สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ?

แล้ววัจฉโคตรปริพาจกก็ถามพระพุทธเจ้าว่า ทรงเห็นโทษอะไร จึงไม่ทรงเข้าถึงทิฏฐิเหล่านี้โดยประการทั้งปวง

พระพุทธเจ้าตอบว่า

ความเห็นเป็นที่รกชัฏ เป็นความเห็นอย่างกันดาร เป็นเสี้ยนหนาม เป็นความเห็นที่กวัดแกว่ง เป็นความเห็นเครื่องผูกสัตว์ไว้ เป็นไปด้วยทุกข์ ด้วยความลำบาก ด้วยความคับแค้น ด้วยความเร่าร้อน ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเห็นโทษ จึงไม่เข้าถึงทิฏฐิ โดยประการทั้งปวง

พระพุทธองค์ทรงกำจัดความเห็นแล้ว เพราะเห็นแล้วว่า

นี้ รูป นี้ความเกิดแห่งรูป นี้ ความดับแห่งรูป

นี้ เวทนา นี้สัญญา นี้ความเกิดแห่งสัญญา นี้ความดับแห่งสัญญา

นี้ สังขาร นี้ความเกิดแห่งสังขาร นี้ดับแห่งสังขาร

นี้ วิญญาณ นี้ความเกิดแห่งวิญญาณ นี้ความดับแห่งวิญญาณ

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า เราพ้นแล้ว เพราะความสิ้นไป เพราะคลายกำหนัด เพราะดับสนิท เพราะสละ เพราะปล่อย เพราะไม่ถือมั่น ซึ่งความสำคัญทั้งปวง ซึ่งความต้องการทั้งปวง ซึ่งความถือว่าเรา  ว่าของเรา และความถือตัวอันนอนอยู่ในสันดานทั้งปวง

เมื่อวัจฉะถามพระพุทธเจ้าว่า ผู้ที่พ้นแล้ว ไปไหน พระพุทธเจ้าให้อุปมาว่า ไฟที่ดับไป ไม่ได้ไปยังทิศไหนจากทิศนี้ แต่เพราะไฟนั้นอาศัยเชื้อ คือหญ้าและไม้จึงลุก เพราะเชื้อนั้นสิ้นไป และเพราะไม่มีของอื่นเป็นเชื้อ ไฟนั้นจึงถึงความนับว่าไม่มีเชื้อ ดับไปแล้ว

ฉันนั้น บุคคลเมื่อบัญญัติว่าเป็นสัตว์ พึงบัญญัติเพราะขันธ์ ๕ ใด ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นบุคคลละได้แล้ว มีมูลรากอันขาดแล้ว ถึงความไม่มี  มีความไม่เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา พ้นจากการนับว่าขันธ์ทั้ง ๕ 

ฉะนั้น ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าไม่เกิด ไม่ควรจะกล่าวว่าเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี ไม่ควรจะกล่าวว่า เกิดก็หามิได้ ไม่เกิด ก็หามิได้
 

อ้างอิง
อัคคิวัจฉโคตตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๓ ข้อที่ ๒๔๔-๒๕๒
ลำดับที่
12

สถานที่

วิหารเชตวัน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม