Main navigation

นาลกดาบส

เหตุการณ์
เมื่อพระโพธิสัตว์แรกประสูติ อสิตฤาษีได้เห็นท้าวสักกะและเทวดาทั้งหลายมีความยินดีเบิกบาน จึงได้รู้ว่าพระโพธิสัตว์ได้เกิดแล้วในมนุษย์โลก เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้วเจ็ดวัน นาลกดาบสผู้เป็นหลานของอสิตฤาษีได้มาทูลถามพระผู้มีพระภาคถึง ปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี

อสิตฤาษีเข้าไปยังที่ประทับของพระเจ้าสุทโธทนะะขอเฝ้าพระกุมาร เมื่ออสิตฤาษีได้เห็นพระกุมารก็เกิดความปีติยินดี เมื่อได้พิจารณาพระราชกุมารจึงกล่าวว่า พระกุมารนี้ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า 
 
อสิตฤาษีหวนระลึกถึงการบรรลุอรูปฌานของตน ก็เสียใจร้องไห้ เจ้าศากยะทั้งหลายจึงตรัสถามและได้รู้ว่า พระกุมารนี้จักทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ จักทรงเห็นนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จักทรงประกาศธรรมจักร พรหมจรรย์ของพระกุมารจักแพร่หลาย แต่ท่านอสิตฤาษีจะมีชีวิตอยู่ไม่ถึง จะไม่ได้ฟังธรรมของพระกุมาร จึงร้องไห้
 
อสิตฤาษีออกจากพระราชวังไปหานาลกดาบสซึ่งเป็นหลานของตน เพื่อให้สมาทานในธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยบอกว่า ในกาลข้างหน้า หากหลานได้ยินเสียงอันระบือไปว่า พุทโธ พระผู้มีพระภาคได้ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว และทรงเปิดเผยทางปรมัตถธรรม ให้หลานไปยังสำนักของพระองค์ แล้วประพฤติพรหมจรรย์
 
เมื่อพระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแล้วเจ็ดวัน นาลกดาบสได้มาทูลถามปฏิปทาอันสูงสุดของมุนี เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบ นาลกะได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท ครั้นได้อุปสมบทแล้ว ได้กราบทูลลาเข้าป่า บำเพ็ญโมเนยยปฏิปทา ไม่นานก็บรรลุอรหัตตผล
 

-------

มุนีและปฏิปทาของมุนี

พึงกระทำการด่าและการไหว้ให้เสมอกัน
พึงรักษาความประทุษร้ายแห่งใจ
พึงเป็นผู้สงบ ไม่มีความเย่อหยิ่งเป็นอารมณ์ อารมณ์ที่สูงต่ำมีอุปมาด้วยเปลวไฟในป่า ย่อมมาสู่ครองจักษุ
เหล่านารีย่อมประเล้าประโลมมุนี นารีเหล่านั้น อย่าพึงประเล้าประโลมท่าน
มุนีละกามทั้งหลายทั้งที่ดีแล้ว งดเว้นจากเมถุนธรรม
ไม่ยินดียินร้ายในสัตว์ทั้งหลายผู้สะดุ้ง และมั่นคง 
พึงกระทำตนให้เป็นอุปมาว่า เราฉันใด สัตว์เหล่านี้ก็ฉันนั้น สัตว์เหล่านี้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น ดังนี้แล้ว ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ผู้อื่นให้ฆ่า
มุนีละความปรารถนาและความโลภในปัจจัยที่ปุถุชนข้องอยู่ เป็นผู้มีจักษุ พึงปฏิบัติปฏิปทาของมุนีนี้พึงข้ามความทะเยอทะยานในปัจจัย ซึ่งเป็นเหตุแห่งมิจฉาชีพที่หมายรู้กันว่านรกนี้เสีย
พึงเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณ 
มีความปรารถนาน้อย ไม่มีความโลภ ไม่มีความปรารถนาด้วยความปรารถนา 
ดับความเร่าร้อนได้แล้ว 

มุนีนั้นรับบิณฑบาตแล้ว พึงไปยังชายป่า เข้าไปนั่งที่โคนต้นไม้ 

พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน ยินดีแล้วในป่า 
พึงทำจิตให้ยินดียิ่ง เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้ ครั้นเมื่อล่วงราตรีไปแล้ว พึงเข้าไปสู่บ้าน
ไม่ยินดีโภชนะที่ยังไม่ได้ และโภชนะที่เขานำไปบ้าน ไปสู่บ้านแล้ว
ไม่พึงเที่ยวไปในสกุลโดยรีบร้อน
ไม่พึงกล่าววาจาเกี่ยวด้วยการแสวงหาของกิน
มุนีนั้นคิดว่า เราได้สิ่งใด สิ่งนี้ยังประโยชน์ให้สำเร็จ เราไม่ได้ก็เป็นความดี เป็นผู้คงที่เพราะการได้และไม่ได้ทั้งสองอย่างนั้น ย่อมก้าวล่วงทุกข์เสียได้ 

มุนีมีบาตรในมือเที่ยวไปอยู่  ไม่เป็นใบ้ ก็สมมุติว่าเป็นใบ้

ไม่พึงหมิ่นทานว่าน้อย ไม่พึงดูแคลนบุคคลผู้ให้  
ก็ปฏิปทาสูงต่ำ พระพุทธสมณะประกาศแล้ว มุนีทั้งหลายย่อมไม่ไปสู่นิพพานถึงสองครั้ง นิพพานนี้ควรถูกต้องครั้งเดียวเท่านั้น   

ภิกษุผู้ปฏิบัติปฏิปทาของมุนี พึงเป็นผู้มีคมมีดโกนเป็นเครื่องเปรียบ กดเพดานไว้ด้วยลิ้นแล้ว พึงเป็นผู้สำรวมที่ท้อง มีจิตไม่ย่อหย่อน และไม่พึงคิดมาก เป็นผู้ไม่มีกลิ่นดิบ อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยแล้ว มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า พึงศึกษาเพื่อการนั่งผู้เดียวและเพื่อประกอบภาวนาที่สมณะพึงอบรม

สมณะกล่าวถ้อยคำใดมากที่เข้าถึงประโยชน์ ประกอบด้วยประโยชน์ รู้ถ้อยคำนั้นอยู่ ย่อมแสดงธรรม

สมณะผู้นั้นรู้อยู่ ย่อมกล่าวถ้อยคำมาก สมณะใดรู้อยู่ สำรวมตน สมณะนั้นรู้เหตุที่ไม่นำประโยชน์เกื้อกูล และความสุขมาให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่กล่าวมาก

สมณะผู้นั้นเป็นมุนี ย่อมควรซึ่งปฏิปทาของมุนี สมณะนั้นได้ถึงธรรมเครื่องเป็นมุนีแล้ว

 


อ่าน นาลกสูตร

อ้างอิง
นาลกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๓๘๘-๓๘๙ หน้า ๓๔๖-๓๕๑
ลำดับที่
5

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ