Main navigation
เจโตปริยญาณ
Share:

(๑)(๒) ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อนควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นด้วยใจ คือ

จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

จิตเป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรรคต หรือจิตไม่เป็นมหรรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรรคต

จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

เปรียบเหมือนหญิงสาวชายหนุ่มที่ชอบการแต่งตัว เมื่อส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกอันบริสุทธิ์สะอาด หรือในภาชนะน้ำอันใส หน้ามีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้ามีไฝ หรือหน้าไม่มีไฝ ก็จะพึงรู้ว่าหน้าไม่มีไฝ

(๑) นี้แหละสามัญผลที่เห็นประจักษ์ ทั้งดียิ่งกว่า ทั้งประณีตกว่าสามัญผลที่เห็นประจักษ์ข้อก่อนๆ

(๒) ข้อนี้ก็เป็นปัญญาของเธอประการหนึ่ง

(๓) ข้อนี้ก็เรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์

(๔) สาวกได้บรรลุคุณวิเศษอันโอฬารเห็นปานนี้ในศาสดาใด ศาสดานี้ไม่ควรท้วงในโลก  อนึ่ง การท้วงศาสดาเห็นปานนี้ ไม่จริง ไม่แท้ ไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยโทษ

 

อ้างอิง:
(๑) สามัญญผลสูตร เจโตปริยญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๑๓๕ หน้า ๗๔-๗๕
(๒) สุภสูตร เจโตปริยญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๓๓ หน้า ๓๐๑
(๓) เกวัฏฏสูตร เจโตปริยญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๔๒ หน้า ๓๒๒-๓๒๓
(๔) โลหิจจสูตร เจโตปริยญาณ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๖๓ หน้า ๓๕๒-๓๕๓
 

คำต่อไป