Main navigation

อัฏฐกนาครสูตร

ว่าด้วย
ธรรมเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ
เหตุการณ์
ท่านพระอานนท์อยู่ ณ เวฬุวคาม เขตนครเวสาลี คฤหบดีชื่อ ทสมะ เป็นชาวเมืองอัฏฐกะ ถามพระอานนท์ถึงธรรมเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ เมื่อพระอานนท์แสดงธรรมจบ ทสมคฤหบดีสร้างวิหาร ๕๐๐ ถวายท่านพระอานนท์

ทสมคฤหบดีชาวเมืองอัฏฐกะ ได้ถามพระอานนท์ว่า ธรรมอันหนึ่งที่เมื่อภิกษุผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปอยู่ จิตที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่สิ้น ย่อมถึงความสิ้นไป และย่อมบรรลุถึงธรรมที่ปลอดโปร่งจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบไว้ อันไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าที่ยังไม่บรรลุที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีอยู่หรือ

พระอานนท์ตอบว่า ธรรมอันหนึ่งคือ

รูปฌาน ๔

ภิกษุบรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข เกิดแต่วิเวกอยู่

บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่

บรรลุตติยฌาณ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยกายเพราะปีติสิ้นไป

บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

แล้วพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมรู้ชัดว่า แม้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาณ จตุตถฌานนี้ เหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น

ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา

เมื่อตั้งอยู่ในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะความยินดีเพลิดเพลิน ในสมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ สิ้นไป (พระอนาคามี)

อัปปมัญญา ๔

ภิกษุมีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปทั้ง ๔ ทิศ มีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อันไพบูลย์ เป็นมหัคตะ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่าโดยความมีตนทั่วไป ในที่ทุกสถานอยู่

แล้วพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมรู้ชัดว่า แม้เมตตาเจโตวิมุติ กรุณาเจโตวิมุติ มุทิตาเจโตวิมุตติ อุเบกขาเจโตวิมุตติ นี้  เป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา ตั้งอยู่ในสมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมสิ้นอาสวะทั้งหลาย

ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะยินดีเพลิดเพลินในสมถะและวิปัสสนานั้น แต่เนื่องจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕  สิ้นไป ย่อมเป็นโอปปาติกะ (พระอนาคามี) จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้น

อรูปฌาน ๓

เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า อากาศหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวงอยู่

เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้ เพราะล่วงอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวงอยู่

บรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ไม่มีอะไร เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง

แล้วพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมรู้ชัดว่า แม้อากาสานัญจายตนสมาบัติ วิญญาณัญจายตนะสมาบัติ อากิญจัญญายตนสมาบัติ นี้ เป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา ตั้งอยู่ในสมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมสิ้นอาสวะทั้งหลาย

ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะยินดีเพลิดเพลินในสมถะและวิปัสสนานั้น แต่เนื่องจากโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕  สิ้นไป ย่อมเป็นโอปปาติกะ (พระอนาคามี) จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้น

เมื่อพระอานนท์แสดงธรรมจบ  ทสมคฤหบดีกล่าวว่า ตนแสวงหาประตูอมตะ ๑ ประตู แต่ได้พบประตูอมตะ ๑๑ ประตู ด้วยการฟัง สามารถทำตนให้สวัสดีด้วยประตูใดประตูหนึ่ง

ทสมคฤหบดีได้ประเคนขาทนียะ โภชนียะ อันประณีตแก่ภิกษุสงฆ์ผู้อยู่ในเมืองปาตาลีบุตรและเมืองเวสาลีด้วยมือของตน ให้ภิกษุครองคู่ผ้ารูปละคู่ ๆ
และได้ให้ท่านพระอานนท์ครองไตรจีวร แล้วให้สร้างวิหาร ๕๐๐ ถวายท่านพระอานนท์

 

อ่าน อัฏฐกนาครสูตร

อ้างอิง
อัฏฐกนาครสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๘-๒๓ หน้า ๑๔-๒๑
ชุดที่
ลำดับที่
20

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ