Main navigation
เสขะ
Share:

(๑)  ที่เรียกชื่อว่าเสขะ ด้วยเหตุว่ายังต้องศึกษา

ศึกษาอะไร 

ศึกษาอธิศีลสิกขา ศึกษาอธิจิตตสิกขา และศึกษาอธิปัญญาสิกขา

ที่เรียกชื่อว่าเสขะ ด้วยเหตุว่ายังต้องศึกษาแล

(๖) พระเสขะทั้งหลาย คำนึงถึงไตรสิกขานี้ศึกษาอยู่ รู้ศึกษาอยู่ อธิษฐานจิตศึกษาอยู่ น้อมใจไปด้วยศรัทธาศึกษาอยู่ ประคองความเพียรศึกษาอยู่ ตั้งสติไว้ศึกษาอยู่ ตั้งจิตศึกษาอยู่ รู้ทั่วด้วยปัญญาศึกษาอยู่ รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่งศึกษาอยู่ กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ศึกษาอยู่ ละธรรมที่ควรละศึกษาอยู่ เจริญธรรมที่ควรเจริญศึกษาอยู่ ทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งศึกษาอยู่ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเต็มใจ สมาทานประพฤติไป เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่าพระเสขะ.

(๒) พระเสขะ ๗ จำพวก

บุคคลเป็นเสขะ เป็นไฉน

บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๓ เป็นเสขะ

พระอรหันต์เป็นอเสขะ

บุคคลนอกนั้น เป็นเสขะก็มิใช่ เป็นอเสขะก็มิใช่

(๖) พระเสขะเหล่านี้ ได้แก่

- พระโสดาบัน
- ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อโสดาปัตติผล
- พระสกทาคามี
- ท่านผู้ปฏิบัติเพื่อสกทาคามิผล
- พระอนาคามี
- ท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออนาคามิผล
- และท่านผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตผล

(๓) ปริยายที่ภิกษุผู้เป็นเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ ย่อมรู้ว่า เราเป็นพระเสขะ เป็นไฉน?

ภิกษุผู้เป็นเสขะในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็น จริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

ปริยายแม้นี้แล ที่ภิกษุผู้เป็นเสขะ อาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ ย่อมรู้ชัดว่า เราเป็นพระเสขะ.

อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นเสขะ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์อื่นภายนอกจากศาสนานี้ ซึ่งจะแสดงธรรมที่จริงแท้แน่นอนเหมือนพระผู้มีพระภาค มีอยู่หรือ?

พระเสขะนั้นย่อมรู้ชัด อย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์อื่นภายนอกจากศาสนานี้ ซึ่งจะแสดงธรรมที่จริงแท้แน่นอนเหมือนพระผู้มีพระภาค ไม่มี

ปริยายแม้นี้แล ที่ภิกษุผู้เป็นเสขะอาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ ย่อมรู้ว่าเราเป็นพระเสขะ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้เป็นเสขะย่อมรู้ชัด ซึ่งอินทรีย์ ๕ คือ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑

อินทรีย์ ๕ นั้นมีสิ่งใดเป็นคติ มีสิ่งใดเป็นอย่างยิ่ง มีสิ่งใดเป็นผล มีสิ่งใดเป็นที่สุด ภิกษุผู้เป็นเสขะยังไม่ถูกต้องสิ่งนั้นด้วยนามกาย แต่เห็นแจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา

ปริยายแม้นี้แล ที่ภิกษุผู้เป็นเสขะ อาศัยแล้ว ตั้งอยู่ในเสขภูมิ ย่อมรู้ว่า เราเป็นพระเสขะ

(๔) อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ชื่อว่าเป็นผู้มีเสขปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เมื่อ

-  เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล สำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร เป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย 
-  คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
-  รู้ประมาณในโภชนะ
-  ประกอบความเพียรเครื่องตื่น
-  ประกอบด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ
-  เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรม ตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก

อริยสาวกนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีเสขปฏิปทา  ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมซึ่งเป็นดุจฟองไข่ที่ไม่เน่า ควรจะชำแรกกิเลส ควรจะตรัสรู้ ควรจะบรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลสเครื่องประกอบ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า

(๕) ก็พระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่เป็นอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วนั้น

เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสต เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วนั้น

เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะ เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้น 

เกิดความชอบใจความไม่ชอบใจทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะลิ้มรสด้วยชิวหา เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้น

เกิดความชอบใจความไม่ชอบใจทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย  เธอย่อมอึดอัด เบื่อหน่าย เกลียดชังความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วนั้น

เกิดความชอบใจความไม่ชอบใจทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ  เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโน เธอย่อมอึดอัดเบื่อหน่ายเกลียดชังความชอบใจความไม่ชอบใจทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วนั้น

อย่างนี้แลชื่อว่าพระเสขะผู้ยังปฏิบัติอยู่

(๗) แม้ภิกษุทั้งหลายที่ยังเป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัต ปรารถนา
ความเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม ก็ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้กาย ย่อมพิจารณา
เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... เพื่อกำหนดรู้เวทนา ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... เพื่อกำหนดรู้จิต
ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีธรรมเอกผุดขึ้น มีจิตผ่องใส
มีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เดียว เพื่อกำหนดรู้ธรรม

 
อ้างอิง:  
(๑)  เสขสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๒๕ หน้า ๒๒๐
(๒)  ปุคคลบัญญัติปกรณ์ เอกกนิทเทส พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๓๖ ข้อที่ ๒๗, ๓๕ หน้า ๑๐๘-๑๐๙
(๓)  เสขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๑๐๓๓-๑๐๓๕ หน้า ๒๕๐
(๔)  เสขปฏิปทาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๕  ข้อที่ ๓๓ หน้า ๒๖
(๕)  อินทริยภาวนาสูตร  พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๘๖๒ หน้าที่ ๔๑๑
(๖)  อชิตมาณวกปัญหานิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ ข้อที่ ๙๒ หน้า ๒๑
(๗)  โกสลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๖๙๓ หน้า ๑๖๕

คำต่อไป