Main navigation

สุภสูตร: อริยศีลขันธ์

ว่าด้วย
อริยศีลขันธ์
เหตุการณ์
เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้วไม่นาน ท่านพระอานนท์อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี พระอานนท์แสดงธรรมแก่สุภมาณพโตเทยยบุตร ถึงธรรมที่ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ เมื่อพระอานนท์แสดงธรรมจบ สุภมาณพโตเทยยบุตรประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

สุภมาณพถามพระอานนท์ว่าพระพุทธเจ้าสรรเสริญคุณแห่งธรรมใด ให้สมาทาน ให้ดำรงอยู่ในธรรมเหล่าใด พระอานนท์กล่าวว่าพระผู้มีพระภาคสรรเสริญขันธ์ ๓ ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ในขันธ์ ๓ นี้คือ

สีลขันธ์  สมาธิขันธ์  ปัญญาขันธ์

สีลขันธ์

ผู้สมบูรณ์ด้วยอริยศีลย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหน ๆ เลย ย่อมได้เสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน

ศีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสรรเสริญ ให้สมาทาน ให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงอยู่ แต่ยังมีกรณียกิจที่ยิ่งขึ้นไปอยู่อีก อย่าเห็นศีลขันธ์อันเป็นอริยะที่บริบูรณ์ในตนแล้วพึงพอใจ ว่าเหตุเพียงเท่านี้ เป็นอันพอแล้ว เป็นอันทำเสร็จแล้ว สำคัญตนว่าได้บรรลุถึงประโยชน์แห่งสามัญคุณแล้ว ไม่มีกิจอะไรที่ยิ่งขึ้นไปอีก

----------------

อริยศีลขันธ์
ความสำรวมระวังในพระปาติโมกข์  ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์  ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ

จุลศีล

ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเมื่อ

๑. ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่
๒. ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้ ไม่ประพฤติตนเป็นขโมย เป็นผู้สะอาดอยู่
๓. ละกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติห่างไกลเว้นขาดจากเมถุน
๔. ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน ควรเชื่อได้ ไม่พูดลวงโลก
๕. ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้ เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้ว ส่งเสริม ยินดี เพลิดเพลิน ในคนที่สามัคคีกัน กล่าวแต่คำที่ทำให้คนสามัคคีกัน
๖. ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
๗. ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้าง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลอันควร
๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม
๙. ฉันหนเดียว เว้นการฉันในราตรี งดจากการฉันในเวลาวิกาล
๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการเล่น อันเป็นข้าศึกแก่กุศล
๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรงประดับ และตบแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอมและเครื่องประเทืองผิว อันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
๑๒. เว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ
๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี
๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสีและทาส
๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
๒๑. เว้นขาดจากการรับไร่นาและที่ดิน
๒๒. เว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้
๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย
๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตราชั่ง การโกงด้วยของปลอม และการโกงด้วยเครื่องตวงวัด
๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
๒๖. เว้นขาดจากการตัด การฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก

มัชฌิมศีล

๑. ภิกษุเว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม  เช่น พืชเกิดแต่เหง้า พืชเกิดแต่ลำต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด
๒. ภิกษุเว้นขาดจากการบริโภคของที่ทำการสะสมไว้ เช่น สะสมข้าว สะสมน้ำ สะสมผ้า สะสมยาน สะสมที่นอน สะสมเครื่องประเทืองผิว สะสมของหอม สะสมอามิส
๓. ภิกษุเว้นขาดจากการดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่น การฟ้อน การขับร้อง การประโคมมหรสพมีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย การเล่นปรบมือ การเล่นปลุกผี การเล่นตีกลอง ฉากภาพบ้านเมืองที่สวยงาม การเล่นของคนจัณฑาล การเล่นไม้สูง การเล่นหน้าศพ ชนช้าง ชนม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะ ชนแกะ ชนไก่ รบนกกระทา รำกระบี่กระบอง มวยชก มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ
๔. ภิกษุเว้นขาดจากการขวนขวายเล่นการพนันอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๕. ภิกษุเว้นขาดจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงใหญ่
๖. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบการประดับตกแต่งร่างกายอันเป็นฐานแห่งการแต่งตัว
๗. ภิกษุเว้นขาดจากติรัจฉานกถา
๘. ภิกษุเว้นขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกัน เช่น ว่าท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้ว ข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย มิฉะนั้นจงแก้ไขเสีย 
๙. ภิกษุเว้นขาดจากการประกอบทูตกรรมและการรับใช้ เช่น รับเป็นทูตของพระราชา ราชมหาอำมาตย์ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดีและกุมารว่า ท่านจงไปในที่นี้ ท่านจงไปในที่โน้น ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ไป ท่านจงนำเอาสิ่งนี้ในที่โน้นมา
๑๐. ภิกษุเว้นขาดจากการพูดหลอกลวง การพูดเลียบเคียง พูดหว่านล้อม พูดและเล็ม แสวงหาลาภด้วยลาภ

มหาศีล

ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชาทั้งปวง

 

อ่าน สุภสูตร

อ้างอิง
สุภสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๑๔-๓๒๐ หน้า ๒๘๓-๒๙๓
ชุดที่
ลำดับที่
11

สถานที่

วิหารเชตวัน

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ