Main navigation
นิวรณ์
Share:

(๑) นิวรณ์ ๕ คือกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา

นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ กระทำให้มืด กระทำไม่ให้มีจักษุ กระทำไม่ให้มีญาณ เป็นที่ตั้งแห่งความดับปัญญา เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

(๒) นิวรณ์ ๕ เป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ถอยกำลัง

(๓) นิวรณ์ ๕ เป็นธรรมเครื่องกั้น เป็นธรรมเครื่องห้าม เป็นอุปกิเลสของจิต ทำปัญญาให้ทราม 

(๔) บุคคลเมื่อกล่าวว่ากองอกุศล จะกล่าวให้ถูก พึงกล่าวนิวรณ์ ๕

(๕) นิวรณ์ ๕ เป็นอุปกิเลสของจิต เป็นเครื่องทำจิตไม่ให้นิ่มนวล ไม่ให้ควรแก่การงาน ไม่ให้ผุดผ่อง ให้เสียไป และไม่ให้ตั้งมั่นด้วยดีเพื่อความสิ้นอาสวะ

(๖) ผู้ถูกนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ร้อยไว้แล้ว รัดไว้แล้ว ปกคลุมไว้แล้ว หุ้มห่อไว้แล้ว เขาจักรู้ จักเห็น หรือจักทำให้แจ้งชัดซึ่งญาณทัสนะวิเศษของพระอริยะอย่างสามารถ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

(๗)  นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ภิกษุนั้นไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล้ว จักรู้จักประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้

ภิกษุละนิวรณ์ เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้

(๘) กามฉันทนิวรณ์ คือ

ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ตัณหา สิเนหา ความเร่าร้อน ความหมกมุ่นในกามทั้งหลาย

พยาบาทนิวรณ์ คือ

อาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยคิดว่า ผู้นี้ได้กระทำ กำลังกระทำ จักกระทำ ความเสื่อมเสียแก่เรา แก่คนที่รักที่ชอบพอของเรา

อาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ด้วยคิดว่า ผู้นี้ได้ทำความเจริญ กำลังทำความเจริญ จักทำความเจริญแก่คนผู้ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบพอของเรา

อาฆาตย่อมเกิดขึ้นได้ในฐานะอันใช่เหตุ จิตอาฆาต ความขัดเคือง ความกระทบกระทั่ง ความแค้น ความเคือง ความขุ่นเคือง ความพลุ่งพล่าน โทสะ ความประทุษร้าย ความมุ่งคิดประทุษร้าย ความขุ่นจิต ธรรมชาติที่ประทุษร้ายใจ โกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ
ความคิดประทุษร้าย/ปองร้าย กิริยาที่คิดประทุษร้าย/ปองร้าย ความโกรธ ความแค้น ความดุร้าย ความปากร้าย ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต

ถีนมิทธนิวรณ์ คือ

ถีนมิทธะนั้น แยกเป็นถีนะอย่างหนึ่ง มิทธะอย่างหนึ่ง

ถีนะ คือความไม่สมประกอบแห่งจิต ความไม่ควรแก่การงานแห่งจิต ความท้อแท้ ความถดถอย ความหดหู่ อาการที่หดหู่ ภาวะที่หดหู่ ความซบเซา อาการที่ซบเซา ภาวะที่ซบเซาแห่งจิต

มิทธะ คือความไม่สมประกอบแห่งนามกาย ความไม่ควรแก่งานแห่งนามกาย  ความง่วงเหงา ความหาวนอน

อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ คือ

อุทธัจจกุกกุจจะนั้น แยกเป็นอุทธัจจะอย่างหนึ่ง กุกกุจจะอย่างหนึ่ง

อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความวุ่นวายใจ ความพล่านแห่งจิต

กุกกุจจะ คือ ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ความสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ความสำคัญว่ามีโทษในของที่ไม่มีโทษ ความสำคัญว่าไม่มีโทษในของที่มีโทษ การรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ความ
รำคาญ ความเดือดร้อนใจ ความยุ่งใจ

วิจิกิจฉานิวรณ์ คือ

ความเคลือบแคลงสงสัย
ในพระศาสดา
ในพระธรรม
ในพระสงฆ์
ในสิกขา
ในส่วนอดีต
ในส่วนอนาคต
ทั้งในส่วนอดีตและส่วนอนาคต
ในปฏิจจสมุปปาทธรรม

การเคลือบแคลง กิริยาที่เคลือบแคลง ความเคลือบแคลง ความคิดเห็นไปต่างๆ นานา ความตัดสินอารมณ์ไม่ได้ ความเห็นเป็นสองแง่ ความเห็นเหมือนทางสองแพร่ง ความสงสัย ความไม่สามารถจะถือเอาโดยส่วนเดียวได้ ความคิดส่ายไป ความคิดพร่าไป ความไม่สามารถจะหยั่งลงถือเอาเป็นยุติได้ ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ

(๙) เมื่อภิกษุมนสิการโดยไม่แยบคาย นิวรณ์ ๕ ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และที่เกิดแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความไพบูลย์ยิ่งขึ้น

(๑๐) สมัยใด อริยสาวกตั้งใจ ใส่ใจ รวมเข้าไว้ด้วยใจทั้งหมดเงี่ยโสตลงฟังธรรม สมัยนั้น นิวรณ์ ๕ ย่อมไม่มีแก่เธอ

การละนิวรณ์

(๒) ภิกษุนั้นประกอบด้วยศีลขันธ์ อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ และสันโดษ เสพเสนาสนะอันสงัด นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า

ละความโลภในโลก มีใจปราศจากความโลภอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความโลภ

ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่คิดพยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาท

ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกำหนดหมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ

ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ

ละวิจิกิจฉา เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

ครั้นละนิวรณ์ทั้งห้าเหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ ทำปัญญาให้ถอยกำลังแล้ว สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมบรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ 

(๑๑)  ภิกษุพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ ที่ยังละไม่ได้ในตนเหมือนหนี้เหมือนโรค เหมือนเรือนจำ เหมือนความเป็นทาส เหมือนทางไกลกันดาร

และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ประการที่ละได้แล้วในตน เหมือนความไม่มีหนี้ เหมือนความไม่มีโรค เหมือนการพ้นจากเรือนจำ เหมือนความเป็นไทแก่ตน เหมือนภูมิสถานอันเกษม

เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นนิวรณ์ ๕ ที่ละแล้วในตนย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อปราโมทย์แล้วย่อมเกิดปิติ เมื่อมีปีติในใจ กายย่อมสงบ เมื่อกายสงบแล้วย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม ย่อมบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาณ ตติยฌาณ จตุตถฌาณ

 
 
อ้างอิง:  
(๑) นีวรณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๕๐๑ หน้า ๑๒๕
(๒) สันทกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓  ข้อที่ ๓๐๙ หน้า ๒๓๕-๒๓๖
(๓) อาวรณานีวรณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๙๐ หน้า ๑๒๑-๑๒๒
(๔) ราสิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒​ ข้อที่ ๕๒
(๕) อุปกิเลสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๗๕-๔๗๗ หน้า ๑๒๐-๑๒๑
(๖) สุภสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๗๒๒ หน้า ๔๙๗
(๗) อาวรณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๕๑
(๘)  นีวรณโคจฉกะ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๗๔๙-๗๕๓ หน้า ๒๖๒-๒๖๔
(๙)  อโยนิโสสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๘๒-๔๘๖ หน้า ๑๒๑-๑๒๒
(๑๐)  นีวรณาวรณสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๔๙๕ หน้า ๑๒๓
(๑๑)  สุภสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๙ ข้อที่ ๓๒๕ หน้า ๒๙๖
 
 
 

คำต่อไป