Main navigation
รูป, รูปขันธ์
Share:

(๑)  รูป คือ มหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัย มหาภูตรูป ๔  ซึ่งได้แก่ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) วาโยธาตุ (ธาตุลม)

(๒)  รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต เป็นอนาคต และเป็นปัจจุบัน เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี อยู่ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งปวงนี้ เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา  เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา 

(๓) ในขันธ์ ๕ นั้น รูปขันธ์ เป็นไฉน

รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ รูปอดีต รูปอนาคต รูปปัจจุบัน รูปภายใน รูปภายนอก รูปหยาบ รูปละเอียด รูปทราม รูปประณีต รูปไกล รูปใกล้ ประมวลย่อเข้าเป็นกองเดียวกัน นี้เรียกว่ารูปขันธ์

ในรูปขันธ์นั้น รูปอดีต เป็นไฉน

รูปใด ล่วงไปแล้ว ดับแล้ว ปราศไปแล้ว แปรไปแล้ว ถึงความดับแล้ว ถึงความดับสิ้นแล้ว ที่เกิดขึ้นแล้วปราศไปแล้ว ที่เป็นอดีตสงเคราะห์เข้ากับส่วนอดีต ได้แก่มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่า รูปอดีต

รูปอนาคต เป็นไฉน

รูปใด ยังไม่เกิด ยังไม่เป็น ยังไม่เกิดพร้อม ยังไม่บังเกิด ยังไม่บังเกิดยิ่ง ยังไม่ปรากฏ ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่เกิดขึ้นพร้อม ยังไม่ตั้งขึ้น ยังไม่ตั้งขึ้นพร้อม ที่เป็นอนาคตสงเคราะห์เข้ากับส่วนอนาคต ได้แก่มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่า รูปอนาคต

รูปปัจจุบัน เป็นไฉน

รูปใด เกิดแล้ว เป็นแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดยิ่งแล้ว ปรากฏแล้ว เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นพร้อมแล้ว ตั้งขึ้นแล้ว ตั้งขึ้นพร้อมแล้ว ที่เป็นปัจจุบันสงเคราะห์เข้ากับส่วนปัจจุบัน ได้แก่มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูปปัจจุบัน

รูปภายใน เป็นไฉน

รูปใด ของสัตว์นั้นๆ เอง ซึ่งมีในตน เฉพาะตน เกิดในตน เฉพาะบุคคล อันกรรมที่สัมปยุตด้วยตัณหาทิฐิยึดครอง ได้แก่มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูปภายใน

รูปภายนอก เป็นไฉน

รูปใด ของสัตว์อื่นของบุคคลอื่นนั้นๆ ซึ่งมีในตน เฉพาะตน เกิดในตน เฉพาะบุคคล อันกรรมที่สัมปยุตด้วยตัณหาทิฐิยึดครอง ได้แก่มหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่า รูปภายนอก

รูปหยาบ เป็นไฉน

จักขายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ นี้เรียกว่ารูปหยาบ

รูปละเอียด เป็นไฉน

อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ ชีวิตินทรีย์ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ อากาสธาตุ รูปลหุตา รูปมุทุตา รูปกัมมัญญตา รูปอุปจยะ รูปสันตติ รูปชรตา รูปอนิจจตา กวฬิงการาหาร นี้เรียกว่ารูปละเอียด

รูปทราม เป็นไฉน

รูปใด ของสัตว์นั้นๆ ที่น่าดูหมิ่น น่าเหยียดหยาม น่าเกลียด น่าตำหนิ ไม่น่ายกย่อง ทราม รู้กันว่าทราม สมมติกันว่าทราม ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารัก ไม่น่าชอบใจ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้เรียกว่า รูปทราม

รูปประณีต เป็นไฉน

รูปใด ของสัตว์นั้นๆ ที่ไม่น่าดูหมิ่น ไม่น่าเหยียดหยาม ไม่น่าเกลียด ไม่น่าตำหนิ น่ายกย่อง ประณีต รู้กันว่าประณีต สมมติกันว่าประณีต น่าปรารถนา น่ารัก น่าชอบใจ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

นี้เรียกว่ารูปประณีต หรือพึงทราบรูปทรามรูปประณีต โดยอาศัยเทียบเคียงรูปนั้นๆ เป็นชั้นๆ ไป

รูปไกล เป็นไฉน

อิตถินทรีย์ ฯลฯ กวฬิงการาหาร หรือรูปแม้อื่นใดมีอยู่ในที่ไม่ใกล้ ในที่ไม่ใกล้ชิด ในที่ไกล ในที่ไม่ใช่ใกล้ นี้เรียกว่ารูปไกล

รูปใกล้ เป็นไฉน

จักขายตนะ ฯลฯ โผฏฐัพพายตนะ หรือรูปแม้อื่นใดมีอยู่ในที่ใกล้เคียง ในที่ใกล้ชิด ในที่ไม่ไกล ในที่ใกล้

นี้เรียกว่ารูปใกล้ หรือพึงทราบรูปไกลรูปใกล้ โดยอาศัยเทียบเคียงรูปนั้นๆ เป็นชั้น ๆ ไป


(๔) รูปที่เกิดแล้ว เป็นปัจจุบัน ลักษณะความบังเกิดแห่งรูปนั้น ชื่อว่าความเกิดขึ้น ลักษณะความแปรผันไป (แห่งรูปนั้น) ชื่อว่าความเสื่อม ปัญญาที่พิจารณาเห็นดังนี้ ชื่อว่าอนุปัสสนาญาณ

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นแห่งรูปขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

พระโยคาวจรย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งรูปขันธ์ โดยความเกิดขึ้นแห่งปัจจัยว่า

๑. เพราะอวิชชาเกิด รูปจึงเกิด
๒. เพราะตัณหาเกิด รูปจึงเกิด
๓. เพราะกรรมเกิด รูปจึงเกิด
๔. เพราะอาหารเกิด รูปจึงเกิด
๕. แม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความบังเกิด ก็ย่อมเห็นความเกิดขึ้นแห่งรูปขันธ์

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเกิดขึ้นแห่งรูปขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการนี้

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเสื่อม (แห่งรูปขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ

พระโยคาวจรย่อมเห็นความเสื่อมแห่งรูปขันธ์ โดยความดับแห่งปัจจัยว่า

๑. เพราะอวิชชาดับ รูปจึงดับ
๒. เพราะตัณหาดับ รูปจึงดับ
๓. เพราะกรรมดับ รูปจึงดับ
๔. เพราะอาหารดับ รูปจึงดับ
๕. แม้เมื่อเห็นลักษณะแห่งความแปรผัน ก็ย่อมเห็นความเสื่อมแห่งรูปขันธ์

พระโยคาวจรเมื่อเห็นความเสื่อมแห่งรูปขันธ์ ย่อมเห็นลักษณะ ๕ ประการนี้

เมื่อเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อม (แห่งรูปขันธ์) ย่อมเห็นลักษณะ ๑๐ ประการนี้

 

 

 

อ้างอิง:
(๑)  มหาหัตถิปโทปมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒  ข้อที่ ๓๔๑ หน้า ๒๔๕
(๒)  มหาราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๓๓ หน้า ๑๑๑
(๓)  ขันธวิภังค์ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๕ ข้อที่ ๒-๗ หน้า ๑-๓
(๔) อุทยัพพยญาณนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๓๑ ข้อที่ ๔๙

 

คำต่อไป