Main navigation
ผัสสะ
Share:

(๑)  ผัสสะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน?

การกระทบ กิริยาที่กระทบ กิริยาที่ถูกต้อง ความถูกต้อง ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า ผัสสะมีในสมัยนั้น

(๒)  จักษุและรูป เกิดจักขุวิญญาณ รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
โสตและเสียง เกิดโสตวิญญาณ รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
ฆานะและกลิ่น เกิดฆานวิญญาณ รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
ชิวหาและรส เกิดชิวหาวิญญาณ รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
กายและสัมผัส เกิดกายวิญญาณ รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
ใจและธรรมารมณ์ เกิดมโนวิญญาณ รวมธรรมทั้ง ๓ ประการเป็นผัสสะ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา

(๓) ผัสสะเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

(๔) ผัสสะ ๖ หมวด คือ จักขุสัมผัส (การกระทบทางตา) โสตสัมผัส (การกระทบทางหู) ฆานสัมผัส (การกระทบทางจมูก) ชิวหาสัมผัส (การกระทบทางลิ้น) กายสัมผัส (การกระทบทางกาย) มโนสัมผัส (การกระทบทางใจ)

(๕) ผัสสะ ตนทำเองก็ไม่ใช่ ผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ทั้งตนทำเอง ทั้งผู้อื่นทำให้ก็ไม่ใช่ ผัสสะบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยตนไม่ได้ทำเอง ผู้อื่นไม่ได้ทำให้ก็ไม่ใช่  แต่เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

(๖) เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับผัสสะ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับผัสสะ แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.

ก็ผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับผัสสะ และทางที่จะให้ถึงความดับผัสสะเป็นไฉน?

เหตุเกิดแห่งผัสสะ ย่อมมีเพราะอายตนะ ๖ เป็นเหตุให้เกิด ความดับผัสสะย่อมมี เพราะอายตนะ ๖ ดับ

อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แหละ คือความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ความตั้งใจชอบ ชื่อว่าปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับผัสสะ

เมื่อใดบุคคลรู้ชัดซึ่งผัสสะ เหตุเกิดแห่งผัสสะ ความดับผัสสะ และปฏิปทาที่จะให้ถึงความดับผัสสะอย่างนี้ๆ เมื่อนั้น ท่านละราคานุสัย บรรเทาปฏิฆานุสัย ถอนทิฏฐานุสัย และมานานุสัย โดยประการทั้งปวง ละอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ย่อมกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ในปัจจุบันเทียว

แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อริยสาวกชื่อว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นดำเนินไปตรงแล้ว ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันแน่วแน่ในธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้.

 

อ้างอิง:
(๑)  ธรรมสังคณี พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๑๗ หน้า ๒๘
(๒)  ทุกขสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๑๕๔ หน้า ๘๙
(๓) โพธิกถา ปฏิจจสมุปบาทมนสิการ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑-๓ หน้า ๑-๕
(๔)  วิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๒  หน้า ๓
(๕) นฬกลาปิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๖  ข้อที่ ๒๖๔ หน้า ๑๐๙
(๖)  สัมมาทิฏฐิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อที่ ๑๒๓ หน้า ๖๘
 

คำต่อไป