Main navigation

ตรัสอาฏานาฏิยสูตร

เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายให้เรียนและทรงไว้ซึ่งการรักษาที่ชื่อว่า อาฏานาฏิยะ เพื่อคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่อความอยู่สำราญของภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เมื่ออยู่ในป่า

ท้าวกุเวรหรือท้าวเวสวัน ผู้เป็นใหญ่ของพวกยักษ์ในอุตตรทิศ (ทิศเหนือ) กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า

ยักษ์โดยมากมิได้เลื่อมใสต่อพระผู้มีพระภาคเพราะพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมเพื่อการรักษาในศีล ๕ ซึ่งเหล่ายักษ์ส่วนมากมิได้ประพฤติ

ข้อที่พระองค์ให้งดเว้นนั้น จึงไม่เป็นที่รัก ที่ชอบใจของยักษ์เหล่านั้น และพระสาวกของพระผู้มีพระภาค บางพวกเสพราวไพรในป่า เสนาสนะสงัด ควรแก่การหลีกเร้น  ยักษ์ชั้นสูงบางพวกที่มิได้เลื่อมใสในปาพจน์ของพระผู้มีพระภาคมักอยู่ในป่านั้น ขอพระผู้มีพระภาคทรงเรียนการรักษา ชื่อว่า อาฏานาฏิยะ เพื่อให้ยักษ์พวกนั้นเลื่อมใส คุ้มครอง รักษา ไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญของอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุ ภิกษุณีทั้งหลาย

อาฏานาฏิยะ

ขอนอบน้อมแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า ผู้มีพระจักษุ มีพระสิริ
ขอนอบน้อมแด่พระสิขีพุทธเจ้า ผู้ทรงอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั่วหน้า
ขอนอบน้อมแด่พระเวสสภูพุทธเจ้า ผู้ทรงชำระกิเลส มีความเพียร
ขอนอบน้อมแด่พระกกุสันธพุทธเจ้า ผู้ทรงย่ำยีมารและเสนามาร
ขอนอบน้อมแด่พระโกนาคมน์พุทธเจ้า ผู้มีบาปอันลอยแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์
ขอนอบน้อมแด่พระกัสสปพุทธเจ้า ผู้พ้นพิเศษแล้วในธรรมทั้งปวง
ขอนอบน้อมแด่พระอังคีรสพุทธเจ้า ผู้ศากยบุตร ผู้มีพระสิริ

พระพุทธเจ้าพระองค์ใดได้ทรงแสดงธรรมอันเป็นเครื่องบรรเทาทุกข์ทั้งปวง พระพุทธเจ้าเหล่าใด ผู้ดับแล้วในโลก ทรงเห็นแจ้งแล้วตามเป็นจริง พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นผู้ไม่ส่อเสียด เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้โคตมโคตร ทรงเกื้อกูลแก่ทวยเทพและมนุษย์ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ปราศจากความครั่นคร้าม พระสุริยาทิตย์ มีมณฑลใหญ่ อุทัยขึ้นแต่ทิศใดแล เมื่อพระอาทิตย์อุทัยขึ้น ราตรีก็หายไป ครั้นพระอาทิตย์อุทัยขึ้น ย่อมเรียกกันว่ากลางวัน แม้น่านน้ำในที่พระอาทิตย์อุทัยนั้นเป็นสมุทรลึก มีน้ำแผ่เต็มไป ชนทั้งหลายย่อมรู้จักน่านน้ำนั้นในที่นั้นอย่างนี้ว่า สมุทรมีน้ำแผ่เต็มไป

ผู้เรียนการรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะนี้ให้แม่นยำ บริบูรณ์แล้ว ถ้าอมนุษย์เป็นยักษ์ก็ตาม เป็นคนธรรพ์ก็ตาม เป็นกุมภัณฑ์ก็ตาม เป็นนาคก็ตาม มีจิตประทุษร้าย ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี อมนุษย์นี้ไม่พึงได้สักการะในบ้าน ไม่พึงได้ที่อยู่ในราชธานี ไม่พึงได้เข้าสู่ที่ประชุมของพวกยักษ์ พวกอมนุษย์ทั้งหลายจะไม่ทำอาวาหะวิวาหะกับมัน พึงบริภาษมัน พึงคว่ำบาตรเปล่าบนศีรษะมัน หรือพึงทุบศีรษะของมันให้แตกออก ๗ เสี่ยง

มีอยู่บ้าง ที่พวกอมนุษย์ที่ดุร้าย หยาบช้า ไม่เชื่อถือถ้อยคำของท้าวมหาราช อมนุษย์ผู้ใดมีจิตประทุษร้ายสาวกของพระผู้มีพระภาค ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกานั้นพึงยกโทษ พึงคร่ำครวญ พึงร้องแก่ยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดีว่า ยักษ์ตนนี้จับ ยักษ์ตนนี้สิง ยักษ์ตนนี้เบียดเบียน ยักษ์ตนนี้ทำให้ลำบาก 

การรักษาอันชื่อว่าอาฏานาฏิยะนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความคุ้มครอง เพื่อรักษา เพื่อไม่เบียดเบียน เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย 

 

***************************

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ คือ

ท้าวธตรฏฐ์ ผู้เป็นใหญ่ของพวกคนธรรพ์ ในปุริมทิศ (ทิศตะวันออก)
ท้าววิรุฬหะ ผู้เป็นใหญ่ของพวกกุมภัณฑ์ ในทักขิณทิศ (ทิศใต้)
ท้าววิรูปักษ์ ผู้เป็นใหญ่ของพวกนาค ในปัจฉิมทิศ (ทิศตะวันตก)

ท้าวกุเวรหรือท้าวเวสวัน ผู้เป็นใหญ่ของพวกยักษ์ ในอุตตรทิศ (ทิศเหนือ)

มีนครในอากาศ คือ อาฏานาฏานคร กุสินาฏานคร ปรกุสินาฏานคร นาฏปริยานคร ปรกุสิตนาฏานคร ทางทิศอุดร มีกปีวันตนคร และอีกนครหนึ่งชื่อชโนฆะ ชื่อนวนวติยะ ชื่ออัมพรอัมพรวติยะ มีราชธานีนามว่าอาฬกมันทา ราชธานีของท้าวกุเวรมหาราช ชื่อวิสาณา ฉะนั้น มหาชนจึงเรียกท้าวกุเวรมหาราชว่าท้าวเวสวัณ

ยักษ์ชื่อตโตลา ชื่อตัตตลา ชื่อตโตตลา ชื่อโอชสี ชื่อเตชสี ชื่อตโตชสี ชื่อสุระ ชื่อราชา ชื่ออริฏฐะ ชื่อเนมิ มีหน้าที่คนละแผนกในวิสาณาราชธานีนั้น ในวิสาณาราชธานีนั้นมีสภา ชื่อภคลวดี เป็นที่ประชุมของพวกยักษ์

พวกยักษ์ มหายักษ์ เสนาบดี มหาเสนาบดี คือ

อินทะ ๑ โสมะ ๑ วรุณะ ๑ ภารทวาชะ ๑ ปชาบดี ๑ จันทนะ ๑ กามเสฏฐะ ๑ กินนุ ๑ ฆัณฑุ ๑ นิฆัณฑุ ๑ ปนาทะ ๑ โอปมัญญะ ๑ เทวสูตะ ๑ มาตลิ ๑ จิตตเสนะ ๑ คันธัพพะ ๑ นโฬราชา ๑ ชโนสภะ ๑ สาตาคิระ ๑ เหมวตะ ๑ ปุณณากะ ๑ กรติยะ ๑ คุละ ๑ สิวกะ ๑ มุจจลินทะ ๑ เวสสามิตตะ ๑ ยุคันธระ ๑ โคปาละ ๑ สุปปเคธะ ๑ หิริ ๑ เนตติ ๑ มันทิยะ ๑ ปัญจาลจันทะ ๑ อาลวกะ ๑ ปชุณณะ ๑ สุมุขะ ๑ ทธิมุขะ ๑ มณิ ๑ มานิจระ ๑ ทีฆะ ๑ กับเสริสกะ ๑ 

 

อ่าน อาฏานาฏิยสูตร

อ้างอิง
อาฏานาฏิยสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๒๐๗-๒๑๙ หน้า ๑๔๘-๑๕๗
ลำดับที่
12

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ