Main navigation

พุทธาปทาน

เหตุการณ์
พระพุทธองค์ทรงกล่าวกับพระอานนท์ถึงเหตุให้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าได้แสดงธัมมเทศนาชื่อว่าพุทธาปทานิยะ เป็นพุทธจิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก่พระอานนท์ ดังนี้

ชนเหล่าใดได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แต่เป็นผู้ไม่ได้ความหลุดพ้นจากกิเลสในศาสนาของพระชินเจ้าเหล่านั้น และโดยมีพระสัมโพธิญาณเป็นประธาน พระอัธยาศัยอันเข้มแข็ง มีพระปัญญาแก่กล้า อาจบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูได้ ด้วยเดชแห่งปัญญานั้น
 
พระองค์ได้ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย โดยได้บำเพ็ญบารมี ๓๐ ประการครบถ้วน ได้สร้างรัตนะปราสาทประณีตวิจิตร ถวายพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้ทำกุศลกรรมทั้งด้วยกาย วาจา และใจ ได้อุทิศผลบุญให้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งผู้มีสัญญาและผู้ไม่มีสัญญา เป็นผู้มีความเลื่อมใสด้วยใจ บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์และพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย
 
เพราะกรรมที่กระทำดีแล้วนั้น และเพราะการตั้งเจตนาไว้ เมื่อละร่างกายของมนุษย์แล้วเข้าถึงเทวภพ เป็นใหญ่กว่าเทพทั้งหลายด้วยรูปลักษณ์ โภชนะ รัตนะ โภคะ ไม่มีผู้เสมอด้วยปัญญา
 
พระองค์ได้ให้ทานที่ควรให้ บำเพ็ญศีล ถึงเนกขัมมบารมี ทำความเพียรอย่างสูงสุด ถึงขันติบารมี กระทำอธิษฐานมั่นคง บำเพ็ญสัจจบารมี ถึงเมตตาบารมี เป็นผู้สม่ำเสมอในอารมณ์ทั้งปวง คือ ในลาภ ความไม่มีลาภ ในสุข ทุกข์ สรรเสริญ และดูหมิ่นแล้ว บรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดม
 
และทรงตรัสว่า จงเห็นความเกียจคร้านโดยความเป็นภัย และจงเห็นความเพียรโดยเป็นความเกษม จงปรารภความเพียรเถิด จงเห็นความวิวาทโดยเป็นภัย และเห็นความไม่วิวาทโดยเป็นความเกษม จงสมัครสมานกัน กล่าววาจาอ่อนหวานแก่กัน จงเห็นความประมาทโดยเป็นภัย  เห็นความไม่ประมาทเป็นความเกษม จงเจริญอัฏฐังคิกมัคค์ นี้เป็นอนุสาสนีของพระพุทธเจ้า
 
ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร  พระโพธิสัตว์เป็นสุเมธดาบส มีความเพียรในการนั่ง การยืน และการเดินจงกรม ภายในสัปดาห์หนึ่ง ก็ได้บรรลุอภิญญาพละได้ฌาน ได้เหาะผ่านไปเห็นชาวบ้านทำการแผ้วทางสำหรับรับเสด็จพระพุทธเจ้าทีปังกร เมื่อได้รู้ท่านมีความยินดีและได้ลาดผ้าบนโคลนตม และใช้ร่างกายปูเพื่อให้พระพุทธเจ้าและสาวกเดินผ่านเพื่อมิให้เหยียบโคลนตมนั้น และได้ตั้งความปรารถนาว่าขอบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
ความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่จะสำเร็จได้ด้วยองค์ ๘ คือ
๑   ความเป็นมนุษย์
๒   ถึงพร้อมด้วยอุดมเพศ
๓   เหตุคือการบรรลุอรหัตได้
๔   การได้เห็นพระศาสดา
๕   การได้บรรพชา
๖   ความสมบูรณ์ด้วยคุณ คืออภิญญาและสมาบัติ
๗   การกระทำอันยิ่งใหญ่คือสละชีวิตอุทิศแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และ
๘   ความเป็นผู้มีฉันทะ คือยินดีในสัมโพธิญาณ
 
พระพุทธเจ้าทีปังกร ได้ทำนายว่าท่านจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก ในกัปป์ที่นับไม่ถ้วนจากกัปป์นี้ ท่านสุเมธดาบส สมาทานธัมมบารมี ๑๐ ประการ แล้วบำเพ็ญสมณธัมม์เครื่องบ่มพระโพธิญาณในโลก และตั้งมั่นในธัมม์นั้น ธัมมบารมี ๑๐ ประการได้แก่

๑. ทานบารมี
๒. ศีลบารมี
๓. เนกขัมมบารมี
๔. ปัญญาบารมี
๕. วิริยบารมี
๖. ขันติบารมี
๗. สัจจบารมี
๘. อธิษฐานบารมี
๙. เมตตาบารมี
๑๐. อุเบกขาบารมี
 
พระโพธิสัตว์ได้กระทำอธิการไว้ในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๒๔ พระองค์ ตลอดสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปป์ ด้วยพระบารมีว่า

เราบริจาคตนของตน ผู้เสมอด้วยทานของเราไม่มี นี้เป็นทานบารมีของเรา
เราถูกแทงด้วยอาวุธ ก็มิได้โกรธ นี้เป็นศีลบารมีของเรา
เราสละราชสมบัติ ไม่มีความข้องอยู่ นี้เป็นเนกขัมมบารมีของเรา
เราใช้ปัญญาใคร่ครวญให้สัตว์พ้นจากทุกข์ ผู้เสมอด้วยปัญญาของเราไม่มี นี้เป็นปัญญาบารมีของเรา
ในท่ามกลางน้ำ เราไม่เห็นฝั่ง เราไม่มีจิตเป็นอื่น นี้เป็นวิริยบารมีของเรา
แม้ถูกฟันด้วยอาวุธ เราไม่มีความโกรธ นี้เป็นขันติบารมีของเรา
เราตามรักษาสัจจวาจา ได้สละชีวิตปลดเปลื้องสัตว์ นี้เป็นสัจจบารมีของเรา
พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่ยินดีของเรา เราจึงอธิษฐานปฏิปทา นี้เป็นอธิษฐานบารมีของเรา
เราไม่สะดุ้ง ทั้งมิได้หวาดหวั่น เพราะกำลังแห่งเมตตาค้ำชู นี้เป็นเมตตาบารมีของเรา
เราประพฤติอุเบกขา ไม่ติดข้องสุขและทุกข์ ไม่ล่วงอุเบกขา นี้เป็นอุเบกขาบารมีของเรา
 
ในกาลสุดท้ายทรงเป็นพระเวสสันดร เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์สวรรคตแล้วจุติในดุสิตภพ จนถึงกาลที่พระองค์จะบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า เทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาทูลเชิญให้จุติลงมา พระองค์จึงมาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหามายาเทวี นครกบิลพัสดุ์ และได้ประสูติระหว่างทางที่พระมารดาเสด็จกลับไปนครเทวทหะ ที่ป่าสาลวันชื่อ ลุมพินี พระนางได้ให้ประสูติพระโพธิสัตว์ที่โคนต้นสาละ โดยเมื่อประสูติ พระโพธิสัตว์ปรากฏเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ประทับยืนแล้วเสด็จโดยย่างพระบาทไป ๗ ก้าว ทรงเปล่งวาจาว่า เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติที่สุด บัดนี้ ความเกิดใหม่ย่อมไม่มี
 
ในขณะที่พระโพธิสัตว์ประสูตินั้น ได้มีสหชาติ ๗ สิ่งเกิดขึ้นพร้อมพระองค์ได้แก่ พระเทวีพิมพา พระอานนท์ ฉันนอำมาตย์ กาฬุทายีอำมาตย์ กัณฐกะอัศวราช มหาโพธิพฤกษ์ และขุมทรัพย์ทั้ง ๔
 
สมัยนั้น ดาบสชื่อ กาฬเทวิล หรืออีกชื่อหนึ่งว่า อสิตฤาษี เป็นผู้ได้สมาบัติ ๘ ได้เห็นลักษณะพระโพธิสัตว์แล้วรู้ว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ยิ้มแย้ม ได้กราบไปที่พระบาทของพระโพธิสัตว์ แต่รู้ว่าตนจะตายก่อนได้ทันเห็นพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า และเมื่อตายแล้วไปจะเกิดในอรูปภพซึ่งแม้พระพุทธเจ้าก็ไม่อาจเสด็จไปให้ตรัสรู้ได้  จึงร้องไห้
 
ในครั้งนั้น มีพราหมณ์ ๘ คนเป็นผู้ทำนายพระลักษณะ ในพราหมณ์เหล่านั้น พราหมณ์ ๗ คนได้ทำนายพระโพธิสัตว์เป็น ๒ สถานว่า ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่มาณพชื่อ โกณฑัญญะ เป็นหนุ่มกว่าพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด ได้ทำนายสถานเดียวเท่านั้นว่า พระกุมารนี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น
 
เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ ๗ พรรษา พระราชาสุทโธทนะเสด็จออกในสถานที่ประกอบพระราชพิธีวัปปมงคล ทรงพาพระราชบุตรไปด้วย พระโพธิสัตว์ได้ทรงนั่งขัดสมาธิกำหนดอานาปานสติบรรลุปฐมฌานใต้ต้นหว้า  เงาไม้หว้านั้นมิได้คล้อยไปตามตะวัน พระราชาเสด็จมาเห็นปาฏิหาริย์ จึงไหว้พระโอรส
 
เมื่อพระโพธิสัตว์มีพระชนมายุ ๑๖ พรรษา พระราชาให้สร้างปราสาท ๓ หลัง อันเหมาะสมกับฤดูทั้งสาม มีบริวารรับใช้มากมาย และมีพระเทวีมารดาพระราหุลเป็นพระอัครมเหสีของพระองค์
 
วันหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสด็จไปยังอุทยาน เทวดาทั้งหลายคิดว่า กาลที่จะตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ใกล้จะมาถึงแล้ว จึงร่วมกันแสดงบุพนิมิต ให้เห็นเทวทูตทั้ง ๔ ได้แก่ คนชรา คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต
 
ในช่วงเวลาใกล้กัน พระอัครมเหสี ได้ให้ประสูติพระโอรส พระโพธิสัตว์เมื่อทรงสดับข่าวแล้วตรัสว่า ราหุล เกิดแล้ว เครื่องจองจำเกิดแล้ว ยังคงมีความตั้งพระทัยว่าจะออกบวชแสวงหาความดับทุกข์ เมื่อกลับขึ้นสู่ปราสาท เสด็จบรรทม และเมื่อทรงตื่นบรรทม ได้ทอดพระเนตรเห็นอาการผิดแปลกดุจซากศพนานาชนิด ของนางบำเรอ จึงตัดสินใจออกบวชในวันนั้น โดยให้นายฉันนะนำม้ากัณฐกะมา เสด็จออกไปถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที ตัดพระเกศาเหลือ ๒ องคุลี เวียนขวาแนบติดพระเศียรแม้พระเกศานั้นก็มีประมาณเท่านี้จนตลอดพระชนม์ชีพ แล้วทรงถือพระจุฬากับพระเมาลีอธิษฐานว่า ถ้าจักได้เป็นพระพุทธเจ้า พระจุฬาและพระเมาลีนี้ จงตั้งอยู่ในอากาศ ถ้าจักไม่ได้เป็น จงตกลงบนแผ่นดิน ท้าวสักกะทรงเอาผอบแก้วรับพระจุฬาและพระเกศาไว้ แล้วนำไปประดิษฐานในเจดีย์ชื่อ จุฬามณี ในดาวดึงส์ภพ
 
ฆฏิการมหาพรหม สหายเก่าของพระโพธิสัตว์ตั้งแต่ครั้งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้นำบริขาร ๘ มาถวาย คือ ไตรจีวร บาตร มีด เข็ม รัดประคด กับผ้ากรองน้ำ และพระโพธิสัตว์ทรงถือเพศบรรพชิต
 
พระโพธิสัตว์ได้เสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ และพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์แคว้นมคธ ทรงเลื่อมใสในพระอิริยาบถ จะยกราชสมบัติให้แต่พระองค์บอกว่าไม่ต้องการ พระองค์ปรารถนาอภิสัมโพธิญาณจึงออกบวช พระเจ้าพิมพิสารจึงขอว่าเมื่อพระองค์เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ให้เสด็จมาที่แคว้นของท่านก่อน
 
พระโพธิสัตว์เสด็จจาริกไปตามลำดับ เสด็จเข้าไปหาอาฬารดาบสกาลามโคตร และอุทกดาบสรามบุตร ทรงทำสมาบัติให้เกิดแล้วรู้ว่า นี้ไม่ใช่ทางเพื่อตรัสรู้  ไม่ทรงพอพระทัยเพียงสมาบัติภาวนานั้น มีพระประสงค์ตั้งความเพียรใหญ่ จึงเสด็จไปยังอุรุเวลา ทรงเริ่มตั้งมหาปธาน ได้พบกับปัญจวัคคีย์ มีท่านโกณฑัญญะเป็นประธาน ปัญจวัคคีย์เหล่านั้นได้คอยอุปัฏฐากพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ดำริจักทำทุกกรกิริยา ทรงกระทำทุกกรกิริยาอยู่ ๖ พรรษา และได้ดำริว่าการทำทุกกรกิริยานี้ย่อมไม่เป็นทางเพื่อจะตรัสรู้ จึงเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตในคามและนิคม แล้วเสวยพระกระยาหาร ปัญจวัคคีย์ทราบเข้าเกิดเสื่อมศรัทธาคิดว่าทรงคลายความเพียรแล้ว จึงพากันละทิ้งพระมหาบุรุษมุ่งเข้าไปยังป่าอิสิปตนะ
 
สมัยนั้น นางสุชาดา มีความประสงค์จะทำพลีกรรมในวันเพ็ญเดือน ๖ ด้วยข้าวปายาสแก่เทวดา เพราะได้สามีที่สกุลเสมอกัน และได้บุตรชายครรภ์แรกตามที่ปรารถนา นางสุชาดาใส่ข้าวปายาสลงในถาดทองคำ เห็นพระโพธิสัตว์ที่โคนต้นไทร คิดว่าพระองค์เป็นเทวดา จึงถวายข้าวปายาส เมื่อนางสุชาดากลับไปแล้ว พระโพธิสัตว์ทรงถือถาด เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงปั้นข้าวเป็น ๔๙ ปั้น เป็นกระยาหารได้ ๔๙ วัน ครั้นเสวยข้าวมธุปายาสแล้วทรงลอยถาดและทรงอธิษฐานว่า ถ้าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าให้ ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำได้ แล้วทรงลอยถาดไปในกระแสน้ำ ถาดนั้นลอยตัดกระแสน้ำไปยังกลางแม่น้ำประมาณ ๘๐ ศอก แล้วจมลง ณ น้ำวนแห่งหนึ่งไปถึงภพพญากาฬนาคราช กระทบถาดของพระพุทธเจ้าในอดีต ๓ พระองค์
 
พระโพธิสัตว์เสด็จไปยังต้นโพธิ์  ประทับนั่งบังลังก์ และอธิษฐานว่า

"เนื้อและเลือดในสรีระจะเหือดแห้งไปหมดสิ้น จะเหลือแต่หนัง เอ็นและกระดูกก็ตามที เรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้”
 
สมัยนั้น มารผู้มีบาปไม่ต้องการให้พระโพธิสัตว์ล่วงพ้นอำนาจของมารไปได้ จึงพาพลมารนิรมิตอาวุธ พากันจู่โจมพระโพธิสัตว์ เทวดาในหมื่นจักรวาลมีท้าวสักกะ พญามหากาฬนาค ท้าวมหาพรหม ยืนกั้นเศวตฉัตรอยู่ แต่เทพเหล่านั้นก็ไม่อาจต้านทานมารได้ มีแต่พระมหาบุรุษองค์เดียวเท่านั้นประทับอยู่ พระโพธิสัตว์ทรงรำพึงบารมี ๑๐ และทรงกำจัดมารและเสนามารได้หมดสิ้น
 
ลำดับนั้น พระมหาบุรุษได้ทรงบรรลุฌาน ตามลำดับ
- ทรงระลึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณในปฐมยาม
- ทรงบรรลุทิพยจักษุในมัชฌิมยาม
- ทรงหยั่งพระญาณลงในปฏิจจสมุปบาทในปัจฉิมยาม
- ทรงพิจารณาปัจจยาการอันประกอบด้วยองค์ ๑๒ ด้วยอำนาจวัฏฏะและวิวัฏฏะ หมื่นโลกธาตุได้ไหวถึง ๑๒ ครั้ง ทรงรู้แจ้ง ทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณในเวลาอรุณขึ้น ทรงเปล่งพระอุทานที่พระพุทธเจ้าทั้งปวงมิได้ทรงละว่า

“เราแสวงหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่ประสบ จึงได้ท่องเที่ยวไปสู่สงสารมีชาติเป็นอเนกจำนวนมาก ความเกิดบ่อย ๆ เป็นทุกข์ แน่ะนายช่างผู้สร้างเรือน เราพบท่านแล้ว ท่านจะสร้างเรือนอีกไม่ได้ ซี่โครงทุกซี่ของท่านเราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว จิตของเราถึงธัมม์ปราศจากเครื่องปรุงแต่งแล้ว เพราะเราได้บรรลุธัมม์เป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว”
 

 


อ่าน พุทธาปธาน
อ่าน อรรถกถา พุทธาปธาน

 

อ้างอิง
พุทธาปทาน พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๒ ข้อที่ ๑ และอรรถกถา
ลำดับที่
2

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ