Main navigation

พระโสณโกฬวิสะเถระ

เหตุการณ์
ประวัติพระโสณโกฬิวิสะเถระ - พระโสณโกฬิวิสะเถระบำเพ็ญเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนส้นเท้าแตก และเกิดปริวิตกว่า ตนก็เป็นรูปหนึ่งที่ปรารภความเพียร เหตุใดจึงไม่บรรลุธรรม ถ้ากระไรตนพึงสึกเป็นคฤหัสถ์ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบถึงปริวิตก ทรงเดินทางด้วยฤทธิ์มาโปรดพระโสณโกฬิวิสะ ท่านพระโสณะทูลรับสนองพุทธพจน์ ปฏิบัติตามพุทโธวาท ตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ ไม่นานนักก็บรรลุอรหัตตผล

พระพุทธเจ้าได้ทรงอุปมาการตั้งความเพียรสม่ำเสมอดุจสายพิณ ดังนี้

สายพิณที่ตึงเกินไป หย่อนเกินไป พิณก็มีเสียงที่ใช้การไม่ได้ แต่คราวใดสายพิณไม่ตึงนักไม่หย่อนนัก ตั้งอยู่ในคุณภาพสม่ำเสมอ คราวนั้นพิณก็มีเสียงที่ใช้การได้ ฉันใด

ความเพียรที่ปรารภเกินไปนัก ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนนัก ก็เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน

เพราะเหตุนั้น จงตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ จงทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น

พระโสณโกฬิวิสะพยากรณ์อรหัตตผล

นิคมคาถา

ภิกษุน้อมไปสู่บรรพชา ๑
ผู้น้อมไปสู่ความเงียบสงัดแห่งใจ ๑
ผู้น้อมไปสู่ความไม่เบียดเบียน ๑
ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นอุปาทาน ๑
ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นตัณหา ๑
ผู้น้อมไปสู่ความไม่หลงไหลแห่งใจ ๑

ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดยชอบ เพราะเห็นความเกิด และความดับแห่งอายตนะ ภิกษุมีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบนั้น ไม่ต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว กิจที่จำจะต้องทำก็ไม่มี เปรียบเหมือนภูเขาที่ล้วนแล้วด้วยศิลาเป็นแท่งทึบอันเดียวกัน  ย่อมไม่สะเทือนด้วยลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ และธรรมารมณ์ ทั้งที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนาทั้งสิ้น ย่อมทำท่านผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น จิตของท่านตั้งมั่น หลุดพ้นแล้ว ท่านย่อมพิจารณาเห็นความเกิดและความดับของจิตนั้นด้วย.

 

อ่าน จัมมขันธกะ

อ้างอิง
จัมมขันธกะ พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๕ ข้อที่ ๑-๔ หน้า ๑-๑๐
ลำดับที่
17

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ