Main navigation

พระอุบาลีเถระ

เหตุการณ์
ประวัติพระอุบาลี - พระอุบาลีขออนุญาตพระพุทธเจ้าว่าจะไปอยู่ป่า แต่ทรงไม่อนุญาตเพราะการอยู่ป่าอยู่ยาก จะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย

ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านพระอุบาลีได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา ได้เห็นพระศาสดาทรงแต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย พระอุบาลีทำกรรมคือบุญญาธิการแล้วได้ปรารถนาฐานันดรนั้น ท่านบำเพ็ญกุศลตลอดชีวิตแล้ว มาในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้ถือกำเนิดในเรือนของช่างกัลบก กรุงกบิลพัสดุ์ ต่อมาได้ออกบวชและเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าขออนุญาตอยู่ป่า 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ป่าและราวป่าอันสงัด อยู่ลำบาก ทำความวิเวกได้ยาก ยากที่จะอยู่ผู้เดียว ป่าทั้งหลายจะนำใจของภิกษุผู้ไม่ได้สมาธิไปเสีย

ผู้ใดกล่าวว่า เมื่อเราไม่ได้สมาธิ จักสร้องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด ภิกษุนั้นจักจมลงหรือจักฟุ้งซ่าน

โดยทรงอุปมาการอยู่ป่าของบุคคลผู้ยังไม่ได้สมาธิว่า เปรียบเหมือนกระต่ายที่ต้องการเล่นน้ำในแม่น้ำเช่นเดียวกับช้าง เมื่อก้าวลงไปเล่นน้ำ ก็จะจมลง ต่างจากช้างซึ่งมีตัวใหญ่สามารถยืนเล่นน้ำในแม่น้ำได้

และทรงอุปมาถึงการเล่นของเด็กๆ ว่า บุคคลจะเปลี่ยนการเล่นให้ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าตามวัยที่โตขึ้น เช่นเดียวกับการอยู่ของภิกษุที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าตามลำดับ

สาวกทั้งหลายพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมนี้ว่ามีอยู่ในตน จึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด

- บรรลุปฐมฌาน สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม มีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่

การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อน

- บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อน

- บรรลุตติยฌาน มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป

การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อน

- บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อน

- บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เพราะดับปฏิฆสัญญาเสียได้ เพราะไม่ใส่ใจถึงนานัตตสัญญา โดยคำนึงว่า อากาศไม่มีที่สุด

การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อน

- บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน เพราะก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌาน  โดยคำนึงว่า วิญญาณไม่มีที่สุด 

การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อน

- บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌาน โดยคำนึงว่า หน่อยหนึ่งไม่มี

การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อน

- บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตน เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌาน โดยคำนึงว่า ธรรมชาตินี้สงัด ธรรมชาตินี้ประณีต

การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อน

-  บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และกิเลส หมดสิ้นไปแล้ว เพราะก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยประการทั้งปวง

การอยู่เช่นนี้ เป็นการอยู่ที่ดียิ่งกว่าและประณีตกว่าการอยู่อันมีในก่อน

ภิกษุพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งธรรมเหล่านี้ว่ามีอยู่ในตน จึงซ่องเสพเสนาสนะ คือ ป่าและราวป่าอันสงัด แต่ว่าภิกษุเหล่านั้นยังไม่บรรลุประโยชน์ของตน จงอยู่ในสงฆ์

ท่านพระอุบาลีรับพระพุทธดำรัสแล้ว บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานอยู่ไม่นาน ก็ได้บรรลุอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ในพรรษานี้

ต่อมา พระศาสดาทรงสอนพระวินัยปิฎกแก่ท่านพระอุบาลีด้วยพระองค์เอง ท่านได้วินิจฉัยเรื่อง ๓ เรื่องเหล่านี้คือ เรื่องภารุกัจฉุกะ ๑ เรื่องอัชชุกะ ๑ เรื่องพระกุมารกัสสปะ ๑ เมื่อวินิจฉัยเสร็จแต่ละเรื่อง ทรงตั้งพระอุบาลีเถระไว้ในตำแหน่งผู้เลิศด้านพระวินัยธร

 

อ่าน อุปาลีสูตร

อ้างอิง
อุปาลีสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๙๙]หน้า ๑๗๒ - ๑๗๘
ลำดับที่
6

สถานที่

ไม่ระบุ

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ