Main navigation

พระปัญจวัคคีย์

เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคเสด็จเดินทางมาโปรดปัญญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี

พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาว่าด้วยธัมมจักกับปวัตตนสูตรซึ่งประกอบด้วยทางสายกลางและอริยสัจจสี่แก่พระปัญจวัคคีย์ 

ทางสายกลาง
ที่สุด 2 อย่าง ที่บรรพชิตไม่ควรเสพ คือการประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลายหนึ่ง และการประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนหนึ่ง

ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง  เพื่อความตรัสรู้  เพื่อนิพพาน   ได้แก่อริยมรรค  มีองค์ ๘  คือ ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งจิตชอบ

อริยสัจจสี่
ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ ความตาย ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่อ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือตัณหาอันทำให้เกิดอีก ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน  มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ  คือ กามตัณหา  ภวตัณหา  วิภวตัณหา

ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหานั่นแลดับ โดยไม่เหลือด้วยมรรค คือ วิราคะ  สละ  สละคืน  ปล่อยไป  ไม่พัวพัน

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งจิตชอบ

อริยสัจ ๔  มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ คือ
-  นี้ทุกขอริยสัจ ควรกำหนดรู้ ได้กำหนดรู้แล้ว
-  นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ ควรละเสีย ได้ละแล้ว
-  นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ ควรทำให้แจ้ง ทำให้แจ้งแล้ว
-  นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ควรให้เจริญ ทำให้เจริญแล้ว

เมื่อทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบ พระโกณทัญญะบรรลุโสดาบันและอุปสมบทในสำนักพระพุทธเจ้า

แล้วพระพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทต่อ ดวงตาเห็นธรรมก็ได้เกิดขึ้นแก่พระวัปปะและท่านพระภัททิยะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งมวล  มีความดับเป็นธรรมดา ทั้งสองรูปบรรลุโสดาบันและอุปสมบทในสำนักพระพุทธเจ้า

วันต่อมา พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมต่อ พระมหานามะและพระอัสสชิบรรลุโสดาบัน ขออุปสมบทในสำนักของพระพุทธเจ้า

แล้วพระพุทธเจ้าก็ได้แสดง อนัตตลักขณสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์ ว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา ถ้ารูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี้เป็นอัตตาแล้ว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลพึงได้ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ก็เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา ฉะนั้น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และบุคคลย่อมไม่ได้ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเราจงเป็นอย่างนี้เถิด  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเราอย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ควรตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตนของเรา 

เพราะเหตุนั้นแล รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต  ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นสักแต่ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  เธอทั้งหลายพึงเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นด้วยปัญญาอันชอบ  ตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า  นั่นไม่ใช่ของเรา  นั่นไม่เป็นเรา  นั่นไม่ใช่ตนของเรา

ผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้  ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป เวทนา  สัญญา สังขาร วิญญาณ  เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี

เมื่อพระผู้มีพระพุทธเจ้าแสดงอนัตตลักขณสูตรจบ ปัญจวัคคีย์ทั้งห้า บรรลุอรหัตผล มีพระอรหันต์บังเกิดขึ้นในโลก ๖ องค์

 

 

อ่าน พระปัญจวัคคีย์

อ้างอิง
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๔ ข้อที่ ๑๒-๒๔ หน้า ๑๔-๒๔
ลำดับที่
4

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ