Main navigation

สักกปัญหสูตร

ว่าด้วย
ปัญหาของท้าวสักกะ
เหตุการณ์
ท้าวสักกะจอมเทพเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยปัญจสิขคันธรรมพบุตรและเทวดาชั้นดาวดึงส์เพื่อฟังธรรมและสนทนาธรรม เมื่อพระพุทธเจ้าพยากรณ์จบ ท้าวสักกะและเทวดาแปดหมื่นองค์ บรรลุโสดาบัน

ท้าวสักกะทรงประจักษ์กับตนว่าผู้ที่เข้าถึงธรรมของพระพุทธเจ้าจะถึงความเป็นผู้วิเศษและบรรลุธรรม เช่นกับศากยธิดาที่ก้าวล่วงความเป็นสตรี มาเกิดเป็นบุตรชายของตน และคนธรรพ์ ๒ องค์ซึ่งเป็นภิกษุในพระพุทธเจ้ามาก่อน เมื่อถูกตักเตือน ระลึกถึงธรรมที่ตนได้ฟัง ได้สติ เห็นโทษของกาม ตัดกามสังโยชน์เสียได้ ก็ก้าวล่วงภพอันต่ำนั้น เข้าถึงกายอันเป็นพรหมปุโรหิต เหนือเทวดาชั้นดาวดึงส์  ท้าวสักกะจึงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมนั้น

สนทนาธรรมระหว่างท้าวสักกะและพระพุทธเจ้า

มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ มีอะไรเป็นเครื่องผูกพันใจไว้
ชนเป็นอันมากเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญา ไม่มีศัตรู ไม่มีความพยาบาท ย่อมปรารถนาเป็นผู้ไม่มีเวร
ไฉน เขายังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรู มีความพยาบาท ยังจองเวรกันอยู่ 

พวกเทวดา มนุษย์ อสูร นาค คนธรรพ์ มีความริษยา และความตระหนี่เป็นเครื่องผูกพันใจไว้
ชนเป็นอันมากเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีอาชญาไม่มีศัตรู ไม่มีความพยาบาท ย่อมปรารถนาเป็นผู้ไม่มีเวร
ถึงอย่างนั้น เขาก็ยังเป็นผู้มีเวร มีอาชญา มีศัตรู มีความพยาบาท ยังจองเวรกันอยู่ 

ก็ความริษยาและความตระหนี่ มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
เมื่ออะไรมี ความริษยาและความตระหนี่จึงมี
เมื่ออะไรไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี

ความริษยาและความตระหนี่ มีอารมณ์เป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด
เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักมีอยู่ ความริษยาและความตระหนี่จึงมี 
เมื่ออารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักไม่มี ความริษยาและความตระหนี่จึงไม่มี

อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด  มีอะไรเป็นแดนเกิด
เมื่ออะไรมี  อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี  
เมื่ออะไรไม่มี  อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี

อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รัก มีความพอใจเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด
เมื่อความพอใจมี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงมี
เมื่อความพอใจไม่มี อารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักจึงไม่มี 

ความพอใจมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นสมุทัย มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด
เมื่ออะไรมี ความพอใจจึงมี
เมื่ออะไรไม่มี ความพอใจจึงไม่มี 

ความพอใจมีความตรึกเป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด
เมื่อความตรึกมี ความพอใจจึงมี
เมื่อความตรึกไม่มี ความพอใจจึงไม่มี 

ความตรึกมีอะไรเป็นเหตุ  มีอะไรเป็นสมุทัย   มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด 
เมื่ออะไรมี ความตรึกจึงมี
เมื่ออะไรไม่มี ความตรึกจึงไม่มี

ความตรึกมีส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม  เป็นเหตุ เป็นสมุทัย เป็นกำเนิด เป็นแดนเกิด
เมื่อส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรมมี ความตรึกจึงมี
เมื่อส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรมไม่มี ความตรึกจึงไม่มี 

ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึงความดับส่วนแห่งสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม

โสมนัส โทมนัส อุเบกขา แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี

เมื่อบุคคลเสพโสมนัส โทมนัส อุเบกขา อันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม โสมนัส โทมนัส อุเบกขา เห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพโสมนัส โทมนัส อุเบกขา อันใด อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น โสมนัส โทมนัส อุเบกขา เห็นปานนั้น ควรเสพ

ถ้าโสมนัส โทมนัส อุเบกขา อันใดมีวิตก มีวิจาร อันใดไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ใน ๒ อย่างนั้น โสมนัส โทมนัส อุเบกขา ที่ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร ประณีตกว่า 

ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้ จึงจะชื่อว่า ดำเนินปฏิปทาอันสมควรที่จะให้ถึงความดับแห่งส่วนสัญญาอันประกอบด้วยปปัญจธรรม 

ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมในปาติโมกข์ 

กายสมาจาร วจีสมาจาร การแสวงหา ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี

เมื่อบุคคลเสพกายสมาจาร วจีสมาจาร การแสวงหา อันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม กายสมาจาร วจีสมาจาร การแสวงหาเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพกายสมาจาร วจีสมาจาร การแสวงหา อันใด อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น กายสมาจาร วจีสมาจาร การแสวงหาเห็นปานนี้ ควรเสพ

ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล  จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อสำรวมในปาติโมกข์

ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมอินทรีย์

รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรม ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี 

เมื่อบุคคลเสพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรม อันใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ

เมื่อบุคคลเสพ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรม อันใด อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น รูป เสียงกลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมเห็นปานนี้ ควรเสพ

สมณพราหมณ์ทั้งหมดมีวาทะ ศีล ฉันทะ ความปรารถนา เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่

สมณพราหมณ์ทั้งหมด ไม่มีวาทะ ศีล ฉันทะ ความปรารถนา เป็นอย่างเดียวกัน เพราะโลกมีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุต่างกัน ในโลกที่มีธาตุเป็นอันมาก มีธาตุต่างกันนั้น สัตว์ทั้งหลายยึดธาตุใด ๆ อยู่ ย่อมยึดมั่นธาตุนั้น ๆ ด้วยเรี่ยวแรงและความยึดถือ กล่าวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า  เพราะเหตุนั้น สมณพราหมณ์ทั้งหมด จึงไม่มีวาทะ ศีล ฉันทะ ความปรารถนา เป็นอย่างเดียวกัน 

สมณพราหมณ์ทั้งหมดมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนหรือไม่ 

สมณพราหมณ์ไม่ทั้งหมดมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน

เฉพาะภิกษุที่น้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา จึงมีความสำเร็จล่วงส่วน มีความเกษมจากโยคะล่วงส่วน มีพรหมจรรย์ล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน 

ท้าวสักกะตรัสว่า ตัณหาเป็นดังโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ย่อมฉุดคร่าบุรุษนี้ไปเพื่อบังเกิดในภพนั้น ๆ พระพุทธเจ้าถอนลูกศรคือความสงสัยของตนแล้ว

ท้าวสักกะเคยถามปัญหาเหล่านี้กับสมณพราหมณ์เหล่าอื่น แต่เมื่อถูกถามปัญหาแล้วกลับถูกย้อนถามว่า ท้าวสักกะชื่ออะไร กระทำกรรมอะไรจึงลุถึงฐานะอันนี้

ท้าวสักกะจึงได้แสดงธรรมตามที่ได้ฟัง ได้เรียนมาแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้น พราหมณ์เหล่านั้นก็ดีใจด้วยเหตุเพียงว่า ตนได้เห็นท้าวสักกะจอมเทพ และท้าวสักกะได้ตอบปัญหาของตน

ความยินดี ความโสมนัส อันเกิดจากการฟังธรรม

พราหมณ์เหล่านั้นเป็นผู้รับฟังท้าวสักกะ แต่ท้าวสักกะไม่ได้เป็นผู้รับฟังท่านเหล่านั้น ท้าวสักกะเป็นสาวกของพระองค์ชั้นโสดาบัน ท้าวสักกะยังจำได้ถึงการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัสเมื่อเทวดารบชนะอสูร แต่การได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัสนั้น ประกอบไปด้วยทางแห่งอาชญา ทางแห่งศาตรา ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย  เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน

ส่วนการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัสเพราะได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้น ไม่เป็นทางมาแห่งอาชญา ไม่เป็นทางมาแห่งศาตรา ย่อมเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว  เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อพระนิพพาน 

ท้าวสักกะเห็นอำนาจประโยชน์ ๖ ประการ จึงประกาศการได้รับความยินดี การได้รับความโสมนัสจากการฟังธรรม

ประการที่หนึ่ง - เมื่อเราเกิดเป็นเทวดาดำรงอยู่ในภพดาวดึงส์นี้ เราได้อายุเพิ่มขึ้น

ประการที่สอง - เราจุติจากทิพยกายแล้ว ละอายุอันมิใช่ของมนุษย์แล้ว เป็นผู้ไม่หลง จักเข้าสู่ครรภ์ในตระกูลอันเป็นที่พอใจ   

ประการที่สาม - เรานั้นยินดีแล้วในศาสนาของพระพุทธเจ้า ที่มิได้หลงปัญหา มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง จักอยู่โดยธรรมดังนี้ 

ประการที่สี่ - ถ้าความตรัสรู้จักมีแก่เราในภายหน้าโดยธรรม   เราจักเป็นผู้รู้ทั่วถึงอยู่  

ประการที่ห้า - หากเราจุติจากกายมนุษย์แล้ว ละอายุอันเป็นของมนุษย์แล้ว กลับเป็นเทวดาอีก จักเป็นผู้สูงสุดในเทวโลก  

ประการที่หก - พวกเทวดาชั้นอกนิฏฐาผู้ประณีตกว่า มียศ เมื่อภพที่สุดเป็นไปอยู่ นิวาสนั้นจักเป็นของเรา

ท้าวสักกะสรรเสริญพระพุทธเจ้า

ข้าพระองค์มีความดำริยังไม่ถึงที่สุด ยังมีความสงสัยเคลือบแคลง เที่ยวเสาะแสวงหาพระตถาคตอยู่ตลอดกาลนาน ข้าพระองค์สำคัญสมณะเหล่าใด ซึ่งเป็นผู้มีปรกติอยู่เงียบสงัด เข้าใจว่าเป็นพระสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปหาสมณะเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นถูกข้าพระองค์ถามว่า ความพอใจเป็นอย่างไร ความไม่พอใจเป็นอย่างไร ก็หาชี้แจงในมรรคและข้อปฏิบัติไม่

เมื่อท่านเหล่านั้นรู้ว่าตนเป็นสักกะมาจากเทวโลก ก็ถามตนว่า ท่านทำอะไรจึงได้ลุถึงฐานะนี้ ข้าพระองค์จึงแสดงธรรมตามที่ฟังมาแก่ท่านเหล่านั้น ให้ปรากฏในหมู่ชน ท่านเหล่านั้นมีความพอใจด้วยเหตุเพียงเท่านี้ว่า พวกเราได้เห็นท้าววาสวะแล้ว

ในเวลาใด ข้าพระองค์ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า ผู้ข้ามความสงสัยได้แล้ว ในเวลานั้น ข้าพระองค์เป็นผู้ปราศจากความกลัว

วันนี้ ได้เข้ามานั่งใกล้พระสัมพุทธเจ้าแล้ว ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระพุทธเจ้า ผู้ทรงกำจัดเสียได้ซึ่งลูกศรคือตัณหา ซึ่งหาบุคคลเปรียบมิได้ เป็นมหาวีระ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์

ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์

ข้าพระองค์กับพวกเทวดากระทำความนอบน้อมอันใดแก่พรหม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอทำความนอบน้อมแด่พระองค์ด้วยตนเอง พระองค์ผู้เดียวเป็นผู้ตรัสรู้พระนิพพาน พระองค์เป็นศาสดาอย่างยอดเยี่ยมในโลกกับทั้งเทวโลก จะหาบุคคลเปรียบพระองค์มิได้

ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเอาพระหัตถ์ตบปฐพี แล้วทรงเปล่งอุทาน ๓ ครั้งว่า

     ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
     ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
     ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม อันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน บังเกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะจอมเทพว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับเป็นธรรมดา และบังเกิดขึ้นแก่เทวดาแปดหมื่นองค์ 
 

อ่าน สักกปัญหสูตร

อ้างอิง
สักกปัญหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๔๗-๒๗๒ หน้า ๑๙๘-๒๑๕
ลำดับที่
5

สถานการณ์

การตอบปัญหาธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม