Main navigation

สุขภาวะวิถีพุทธผสานสรรพศาสตร์ เพื่อสงฆ์และมหาชน

คำนำ

ในอดีต วัดเป็นทั้งที่จัดงานบุญ พิธีกรรม ปฏิบัติธรรม โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นที่ประชุม ที่พบปะ ที่พักพิง วัดจึงเป็นศูนย์กลางของชีวิต และจิตวิญญาณของคนไทย  แต่มาวันนี้ วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ภาพลักษณ์ และบทบาทของวัดก็เปลี่ยนไป จากพื้นที่สงบร่มเย็น เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ หรือบางแห่งก็ทรุดโทรม ถูกทอดทิ้งเพราะผู้คนต่างดิ้นรนหาเลี้ยงชีพกันจนไม่มีเวลาในการพัฒนากล่อมเกลาจิตวิญญาณ

พระพุทธองค์ทรงมอบหมายให้พุทธบริษัท ๔ อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นผู้รับภาระสืบทอดพระศาสนา ปัจจุบัน เมืองไทยไม่มีภิกษุณี พุทธบริษัทจึงมีเพียงสามคือ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา และเมื่ออุบาสก อุบาสิกา ต้องวุ่นวายอยู่กับการหาเลี้ยงชีพ ภารกิจสำคัญจึงตกอยู่กับภิกษุสงฆ์เพียงลำพัง
      
ข้อมูลด้านสุขภาพของพระสงฆ์อยู่ในระดับที่น่าห่วง เพราะเป็นค่าที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แม้ว่าองค์กรภาครัฐ องค์กรเพื่อการกุศล องค์กรศาสนา และองค์กรภาคเอกชนต่างๆ ได้ให้ความสำคัญด้านสุขภาพของประชาชนโดยให้มีการดูแลสุขภาพสงฆ์และมหาชนด้วยการลงพื้นที่ดูแลได้ลึกถึงระดับ หมู่บ้าน และระดับครัวเรือนแล้ว มีการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากเพื่อการนี้ กระนั้นก็ตาม สุขภาพของประชาชนก็เป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้  เพราะการจะได้มาซึ่งสุขภาพที่ดีนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น โภชนาการ การออกกำลังกาย สภาวะจิตใจ สภาพสิ่งแวดล้อม และท้ายสุดคือ กรรม ที่ติดตัวมาแต่อดีตชาติ
      
โครงการสุขภาวะวิถีพุทธผสานสรรพศาสตร์เพื่อสงฆ์และมหาชนนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการจรรโลงพระศาสนาให้เป็นศูนย์กลางของชีวิตและจิตวิญญาณของคนไทยให้ยั่งยืนสืบไป โดยเล็งเห็นถึงการสร้างสุขภาวะที่ดีต่อพระสงฆ์และชุมชน  เพื่อไม่เป็นอุปสรรคในการร่วมกันปฏิบัติภารกิจสืบทอดพระศาสนา และเพื่อการส่งเสริมองค์กรพุทธบริษัทให้เข้มแข็ง เป็นพลังสร้างเสริมคุณธรรมในสังคม
            
ดังนั้น แผนงานต่าง ๆในโครงการนี้จึงเข้าถึงทั้งกาย ปัญญา และใจของประชาชน การมอบสุขภาวะที่ดีแก่สงฆ์และมหาชน การยกระดับของคุณค่าของคุณธรรมในสังคม จะเป็นของขวัญอันประเสริฐสุดที่พึงมอบให้กับเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกที่ร่วมทุกข์ เกิด  แก่ เจ็บ  ตาย
     

ปรัชญา (Philosophy)

ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข
 

เป้าหมาย (Goal)

1.   เพื่อพัฒนามาตรฐานสุภาวะวิถีพุทธผสานสรรพศาสตร์
2.   เพื่อดูแลสุขภาวะสงฆ์ และมหาชน
3.   เพื่อส่งเสริมพุทธบริษัท ให้เข้มแข็ง
4.   เพื่อยกระดับความดีงามในสังคม
5.   เพื่อให้ผู้ร่วมงานทุกท่าน อยู่สบาย ตายเป็นสุข ไปสู่สุคติ สุคโต
 

กุญแจสำคัญ (Key Principles)

ดูแลสุขภาวะเป็นระบบ ทั้งกาย ปัญญา จิตใจ ความสัมพันธ์ กรรม และสิ่งแวดล้อม ผสานกระบวนการ Strengthening, Healing and Karma Cleansing เข้าด้วยกัน
 

ยุทธศาสตร์ดำเนินงาน (Strategy)

พัฒนาสุขภาวะ วิถีพุทธ โดยการบูรณาการ กาย ปัญญา ใจ และกุศล กรรมเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืน

1.  “กาย” ประสานกับ FCT (Family Care Team) หรือ หน่วยเภสัช หรือ หน่วย พสว. (แพทย์อาสาในสมเด็จพระบรมราชชนนี) หน่วยงานเหล่านี้มีภารกิจดูแลสุขภาพ “กาย” ของประชาชนในระดับครอบครัวอยู่แล้ว
2.  “ปัญญา” โยนิโสมนสิการ (โดยทีมงานอุทยานธรรม)
3.  “ใจ” มีธรรมเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง (โดยทีมงานอุทยานธรรม)
4.  “ความสัมพันธ์และกรรม” สัมมาปฏิบัติ มรรคมีองค์แปด (โดยทีมงานอุทยาน ธรรม)
5.  สิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับ สสส. (คณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ) กับวัดและชุมชนต่างๆ เพื่อพัฒนา ห้า ส.สุขสันต์
6.  พัฒนาความยั่งยืน โดยกำหนดบทบาทดังนี้
(1) วัดและชุมชน เป็นเจ้าของโครงการ
(2) ทีมงานอุทยานธรรมเป็นผู้จุดประกาย ริเริ่ม ประสานงาน การวางระบบ
     ตลอดจนกระบวนการดูแลด้าน “ปัญญา” “ใจ” และ “กรรม”
 

โครงการดำเนินงาน

1.  โครงการหลักที่ 1 “วัดสร้างสุข”  มีโครงการสนับสนุน 3 โครงการ คือ
1.1  ห้า ส. สุขสันต์ โดยความร่วมมือกับ สสส. และ สสท.
1.2  ทางเดินจงกรมพระสงฆ์
1.3  เรือนไฟสุขภาพ (ห้องอบไอน้ำ ห้องซาวน่า)
 
2.  โครงการหลักที่ 2 “วัดบันดาลใจ”  ชุมชนจิตสำนึกดี สมานสามัคคี สู่ความเจริญ โดยการพลิกฟื้นวัดสู่วิถีพุทธ อันประกอบด้วย ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา เยี่ยงในพุทธกาล เพื่อร่วมกันจรรโลงพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นศูนย์กลางความเจริญทางชีวิตและจิตวิญญาณของชุมชน มีโครงการสนับสนุนดังนี้
2.1  พัฒนาความสัมพันธ์อันดีงาม (ระหว่างภิกษุสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา) และระบบกรรมแห่งความเจริญ
2.2  สร้างนิสัยสุขภาวะ (Health Habit)
2.3  สวนผักเห็นธรรม ผักปลอดสารพิษโภชนาการดี เพิ่มรายได้
 
3.  โครงการกลาง “ดูแลสุขภาพสงฆ์”
 

ขั้นตอนดำเนินงาน (Practice Process)

1.  คัดเลือก วัดสุปฏิปันโน ผู้นำชุมชนดี
2.  ประสานงาน กับ เจ้าอาวาส / ผู้บริหารชุมชน / กรรมการหมู่บ้าน / เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขที่รับผิดชอบพื้นที่
3.  ทำความเข้าใจกับพระสงฆ์ และชุมชน วิเคราะห์ สิ่งแวดล้อม โอกาส ปัจจัย เงื่อนไข แห่งความสำเร็จ
4.  วางแผน ดำเนินการ กำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จ (สุขภาพกาย ใจ ปัญญา) ร่วมกันระหว่าง ทีมงาน เจ้าหน้าที่สาธารณะสุข เจ้าอาวาส ผู้นำชุมชน
5.  ดำเนินงานตามแผน ติดตาม ประเมินผล
6.  ถอดบทเรียนเพื่อเป็นแบบอย่าง วิถีชีวิต ของวัด และชุมชนอื่นๆ สืบไป
 
 
วันเริ่มดำเนินโครงการ :         18 เมษายน 2558