Main navigation

การสังคายนาพระธรรม พระวินัย

การสังคายนาพระธรรมวินัย

 

การสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๑

(สังคีติสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง ๑๑/๒๒๕/๑๕๙-๑๖๑)

ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรได้เล่ากะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย นิครนถ์นาฏบุตรทำกาละ (ตาย) แล้วที่พระนครปาวาไม่นานนัก พวกนิครนถ์จึงแตกกัน เกิดแยกกันเป็นสองพวก เกิดบาดหมางกันเกิดการทะเลาะวิวาทกันขึ้น เสียดแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ว่า

ท่านไม่รู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึง ท่านจักรู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้ได้อย่างไร ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์ ของท่านไม่เป็นประโยชน์ คำที่ควรจะกล่าวก่อน ท่านกลับกล่าวภายหลัง คำที่ควรจะกล่าวภายหลัง ท่านกลับกล่าวก่อน ข้อที่ท่านเคยช่ำชองมาผันแปรไปแล้ว ข้าพเจ้าจับผิดวาทะของท่านได้แล้วข้าพเจ้าข่มท่านได้แล้ว ท่านจงถอนวาทะเสีย จงแก้ไขเสีย ดังนี้

เห็นจะมีแต่ความตายอย่างเดียวเท่านั้นจะเป็นไปในพวกนิครนถ์ผู้เป็นสาวกของนาฏบุตร

แม้พวกสาวกของนิครนถ์นาฏบุตรที่เป็นคฤหัสถ์ผู้นุ่งขาวห่มขาว ก็มีอาการเบื่อหน่าย คลายความรัก รู้สึกท้อถอยในพวกนิครนถ์ผู้เป็นสาวกของนาฏบุตร ทั้งนี้เพราะธรรมวินัยอันนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ มิใช่ธรรมที่ท่านผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึ่งอาศัย

ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ส่วนธรรมนี้แล อันพระผู้มีพระภาคของเราทั้งหลาย ตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ เป็นธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว พวกเราทั้งหมดด้วยกัน พึงสังคายนา ไม่พึงกล่าวแก่งแย่งกันในธรรมนั้น เพื่อพรหมจรรย์นี้จะพึงยั่งยืนตั้งอยู่นาน เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

(จากนั้นท่านและคณะสงฆ์ได้รวบรวมพระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสแล้วถึงวันนั้น เป็นธรรมหมวด ๑ ถึง หมวด ๑๐ เป็นการรวบยอดพระธรรม ดังปรากฏในหมวด ธรรมรวบยอด)

 

การสังคายนาธรรมวินัยครั้งที่ ๒

(ปัญจสติกขันธกะ พระไตรปิฏก ฉบับหลวง ๗/๖๑๔-๖๒๑/๒๔๖-๒๕๒)

เมื่อพระผู้ผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้วเจ็ดวัน พระสุภัททวุฑฒบรรพชิต ได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่าพอเถิด ท่านทั้งหลาย อย่าโศกเศร้าร่ำไรไปเลย พวกเรา พ้นไปดีแล้วจากพระมหาสมณะนั้น ด้วยว่าพวกเราถูกเบียดเบียนว่า สิ่งนี้ควรแก่พวกเธอ สิ่งนี้ไม่ควรแก่พวกเธอ ก็บัดนี้ พวกเราปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็ทำสิ่งนั้นได้ ไม่ปรารถนา จักทำสิ่งใด ก็ไม่ทำสิ่งนั้น

เมื่อพระมหากัสปะได้ยินดังนั้น จึงปรารภกับเหล่าพระอรหันต์ว่า เอาเถิด ท่านทั้งหลาย พวกเราจงสังคายนาพระธรรมและพระวินัยเถิด ในภายหน้าสภาวะมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาวะมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย อธรรมวาทีบุคคลจะมีกำลัง ธรรมวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง อวินยวาทีบุคคลจักมีกำลัง วินยวาทีบุคคลจักเสื่อมกำลัง (๗/๖๑๔/๒๔๖)

ท่านพระมหากัสสป จึงคัดเลือกพระอรหันต์ได้ ๕๐๐ รูป รวมพระอานนท์  จำพรรษาในพระนครราชคฤห์ ทำสังคายนาพระธรรมและพระวินัย ภิกษุพวกอื่นไม่ให้จำพรรษาในพระนครราชคฤห์

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม ข้อที่เรายัง เป็นเสขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้น ไม่ควรแก่เรา จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีจึงเอนกายด้วยตั้งใจว่าจักนอน แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น ในระหว่างนั้น จิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม (๗/๖๑๗/๒๔๘)


พระอุบาลีรวบรวมพระวินัย

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าจะพึงถามพระวินัยกะพระอุบาลี ทรงทราบแล้ว พระมหากัสปะได้ซักถามวัตถุ นิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติทั้งหมดกับพระอุบาลี (๗/๖๑๘/๒๔๘)


พระอานนท์รวบรวมพระสูตร

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าจะพึงถามธรรมกะท่านพระอานนท์ (๗/๖๑๙/๒๕๐)

หลังจากพระอานนท์ได้รวบรวมพระสูตรทั้งหลายแล้ว ได้กล่าวต่อเหล่าพระอรหันตสงฆ์ว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูกรอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์หวังอยู่จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียก็ได้

พระเถระทั้งหลายถามว่า ท่านพระอานนท์ ก็ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือเปล่าว่า พระพุทธเจ้าข้า สิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

ท่านพระอานนท์ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถาม (๗/๖๒๐/๒๕๐-๒๕๑)


ไม่ยกเลิกสิกขาบท

ครั้งนั้น  พระเถระแต่ละท่านต่างเห็นสิกขาบทเล็กน้อยไม่ตรงกัน ไม่อาจสรุปเป็นเอกฉันท์ได้ พระมหากัสปะ จึงกล่าต่อที่ประชุมว่า ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิ่งที่ไม่ทรงบัญญัติไม่พึง ถอนพระบัญญัติที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว พึงสมาทานประพฤติ ในสิกขาบททั้งหลายตามที่ทรงบัญญัติแล้ว คณะพระเถระมีมติตามนั้น (๗/๖๒๑/๒๕๑-๒๕๒)

 

การสังคายนาธรรมวินัยครั้งที่ ๓

(สัตตสติขันธกะ พระไตรปิฏก ฉบับหลวง ๗/๖๓๐-๖๖๓/๒๕๙-๒๗๘)

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานล่วงได้ ๑๐๐ ปี พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี แสดงวัตร ๑๐ ประการในเมืองเวสาลีว่าดังนี้

  ๑. เก็บเกลือไว้ในเขนงฉัน ควร
  ๒. ฉันอาหารในเวลาบ่าย ล่วงสององคุลี ควร
  ๓. เข้าบ้านฉันอาหารเป็นอนติริตตะ ควร
  ๔. อาวาสมีสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถต่างๆ กัน ควร
  ๕. เวลาทำสังฆกรรม ภิกษุมาไม่พร้อมกันทำก่อนได้ ภิกษุมาทีหลังจึงบอกขออนุมัติ ควร
  ๖. การประพฤติตามอย่างที่อุปัชฌาย์และอาจารย์ประพฤติมาแล้ว ควร
  ๗. ฉันนมสดที่แปรแล้ว แต่ยังไม่เป็นนมส้ม ควร
  ๘. ดื่มสุราอ่อน ควร
  ๙. ใช้ผ้านิสีทนะไม่มีชาย ควร
  ๑๐. รับทองและเงิน ควร

สมัยนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตรเที่ยวจาริกในวัชชีชนบทถึงพระนครเวสาลี ขณะที่พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ถึงวันอุโบสถ เอาถาดทองสัมฤทธิ์ตักน้ำเต็มตั้งไว้ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ กล่าวแนะนำอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีที่มาประชุมกันอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงถวายรูปิยะ (เงิน) แก่สงฆ์ สงฆ์จักมีกรณียะด้วยบริขาร

เมื่อพระวัชชีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระยสกากัณฑบุตรจึงกล่าวกะอุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีว่า

ท่านทั้งหลาย พวกท่านอย่าได้ถวายรูปิยะ (เงิน) แก่สงฆ์ ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสาย พระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร มีแก้วและทองวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน

อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลี แม้อันท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวอยู่อย่างนี้ ก็ยังขืนถวายรูปิยะแก่สงฆ์ กหาปณะหนึ่งบ้าง กึ่งกหาปณะบ้าง บาทหนึ่งบ้าง มาสกหนึ่งบ้าง

ครั้นล่วงราตรีนั้นแล้ว พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี ได้จัดส่วนแบ่งเงินนั้นตามจำนวนภิกษุแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระยสกากัณฑกบุตรว่า ท่านพระยส เงินจำนวนนี้เป็นส่วนของท่าน ท่านพระยสกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย ฉันไม่มีส่วนเงินฉันไม่ยินดีเงิน

ครั้งนั้น พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย   พระยสกากัณฑกบุตรนี้ ด่า บริภาษ อุบาสกอุบาสิกาผู้มีศรัทธาเลื่อมใส ทำให้เขาไม่เลื่อมใส เอาละพวกเราจะลงปฏิสารณียกรรมแก่ท่าน แล้วได้ลงปฏิสารณียกรรมแก่พระยสกากัณฑกบุตรนั้น (๗/๖๓๐-๖๓๓/๒๕๙-๒๖๐)


เครื่องเศร้าหมองของพระจันทร์พระอาทิตย์ และสมณพราหมณ์

พระยสกากัณฑกบุตรกล่าวต่อไปว่า ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขต พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแลพระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระจันทร์พระอาทิตย์เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง

เครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการเป็นไฉน
  ๑. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะหมอก 
  ๒. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะน้ำค้าง  
  ๓. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะละอองควัน
  ๔. พระจันทร์ พระอาทิตย์ เศร้าหมองเพราะอสุรินทราหู

จึงไม่แผดแสง ไม่สว่าง ไม่รุ่งเรือง ฉันใด สมณพราหมณ์เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการ จึงไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

เครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการ เป็นไฉน
  ๑. สมณพราหมณ์ดื่มสุรา ดื่มเมรัย จึงเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์
  ๒. สมณพราหมณ์เสพเมถุนธรรม จึงเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์
  ๓. สมณพราหมณ์ยินดีทองและเงิน จึงเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์
  ๔. สมณพราหมณ์เลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพ จึงเศร้าหมอง ไม่มีสง่า ไม่ผ่องใส ไม่ไพโรจน์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เศร้าหมองเพราะเครื่องเศร้าหมอง ๔ ประการนี้แล (๗/๖๓๔-๖๓๕/๒๖๐-๒๖๑)


นายบ้านมณีจูฬกะ

ท่านทั้งหลาย สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เวฬุวันวิหาร ครั้งนั้น ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชบริษัท ภายในราชสำนักได้ยกถ้อยคำนี้ขึ้นสนทนาว่า ทองและเงินย่อมควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมยินดีทองและเงินพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมรับทองและเงิน

คราวนั้น นายบ้านชื่อมณีจูฬกะนั่งอยู่ในบริษัทนั้นด้วย  เขาได้กล่าวกะบริษัทนั้นว่า นาย พวกท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ทองและเงินไม่ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดี ทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทองและเงิน พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน

นายบ้านชื่อมณีจูฬกะสามารถชี้แจงให้บริษัทนั้นเข้าใจ ครั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นายบ้าน เธอพยากรณ์อย่างนี้ชื่อว่ากล่าวตามเรา ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ชื่อว่าพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูปผู้กล่าวตามวาทะย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียน

ดูกร นายบ้าน ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรโดยแท้ สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่ยินดีทองและเงิน สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรไม่รับทอง และเงิน สมณะเชื้อสายพระศากยบุตรมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน

ทองและเงินควรแก่ผู้ใด แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้งห้าควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร (๗/๖๓๗/๒๖๒)

เมื่อท่านพระยสกากัณฑกบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองเวสาลีได้กล่าวกะท่านพระยสกากัณฑกบุตรว่า

ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตรรูปเดียวเท่านั้น เป็นพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ภิกษุพวกนี้ทั้งหมดไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่เชื้อสายพระศากยบุตร ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตร จงอยู่ในเมืองเวสาลี พวกข้าพเจ้าจักทำการขวนขวายเพื่อจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช บริขารแก่พระคุณเจ้ายสกากัณฑกบุตร (๗/๖๓๘/๒๖๓-๒๖๔)


รวบรวมธรรมวาทีสงฆ์ทำสังคายนา

ครั้งนั้น ท่านพระยสกากัณฑกบุตร เหาะสู่เวหาสไปปรากฏในเมืองโกสัมพี แล้วส่งทูตไป ณ สำนักภิกษุชาวเมืองปาฐา เมืองอวันตีและประเทศทักขิณาบถว่า ท่านทั้งหลายจงมาช่วยกันยกอธิกรณ์นี้ ต่อไปในภายหน้าสภาพมิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาพมิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย  ภายหน้าพวกอธรรมวาทีจักมีกำลัง พวกธรรมวาทีจักเสื่อมกำลังพวกอวินยวาทีจักมีกำลัง พวกวินยวาทีจักเสื่อมกำลัง (๗/๖๓๙/๒๖๔)

ครั้งนั้น พวกภิกษุชาวเมืองปาฐา ประมาณ ๖๐ รูป ถืออยู่ป่าเป็นวัตรทั้งหมด ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรทั้งหมด ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรทั้งหมด ถือไตรจีวรเป็นวัตรทั้งหมด เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ประชุมกันที่อโหคังคบรรพต ภิกษุชาวเมืองอวันตีและประเทศทักษิณาบถประมาณ ๘๐ รูป บางพวกถืออยู่ป่าเป็นวัตร บางพวกถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร บางพวกถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร บางพวกถือไตรจีวรเป็นวัตร เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ประชุมกันที่อโหคังคบรรพต (๗/๖๔๐/๒๖๕)


พระเรวตะ

ครั้งนั้น ท่านพระสัมภูตสาณวาสีได้กล่าวกะท่านพระยสกา กัณฑกบุตรว่าท่านพระเรวตะรูปนี้ เป็นพหูสูต ชำนาญในคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม เป็นนักปราชญ์ มีความละอาย มีความรังเกียจ ใคร่ต่อสิกขา ถ้าพวกเราจักถามปัญหากะท่านพระเรวตะ ท่านพระเรวตะสามารถจะยังราตรีแม้ทั้งสิ้นให้ล่วงไปด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น

ท่านพระยสกากัณฑกบุตร และเหล่าพระเถระ ได้เข้าไปหาท่านพระเรวตะ อภิวาทนั่ง ณ ที่ควรส่วน ข้างหนึ่ง แล้วถามว่า

  ย. การเก็บเกลือไว้ในเขนงโดยตั้งใจว่าจักปรุงในอาหารที่จืดฉัน ควรหรือไม่ ขอรับ
  ร. ไม่ควร ขอรับ
  ย. การฉันโภชนะในวิกาลเมื่อตะวันบ่ายล่วงแล้วสององคุลี ควรหรือไม่  ขอรับ
  ร. ไม่ควร ขอรับ
  ย. ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตรแล้วคิดว่า จักเข้าละแวกบ้าน ในบัดนี้ ฉัน โภชนะเป็นอนติริตตะ ควรหรือไม่ ขอรับ
  ร. ไม่ควร ขอรับ
  ย. อาวาสหลายแห่ง มีสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถต่างกัน ควรหรือไม่ ขอรับ
  ร. ไม่ควร ขอรับ
  ย. สงฆ์เป็นวรรคทำกรรมด้วยตั้งใจว่า จักให้ภิกษุที่มาแล้วอนุมัติ  ควรหรือไม่ ขอรับ
  ร. ไม่ควร ขอรับ
  ย. การประพฤติวัตรด้วยเข้าใจว่า นี้พระอุปัชฌาย์ของเราเคยประพฤติมา นี้พระอาจารย์ของเราเคยประพฤติมา ควรหรือไม่ ขอรับ
  ร. บางอย่างควร บางอย่างไม่ควร ขอรับ
  ย. นมสดละความเป็นนมสดแล้ว ยังไม่ถึงความเป็นนมส้ม ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตรแล้ว จะดื่มนมนั้น ควรหรือไม่ ขอรับ
  ร. ไม่ควร ขอรับ
  ย. การดื่มสุราอย่างอ่อนที่ยังไม่ถึงความเป็นน้ำเมา ควรหรือไม่ ขอรับ
  ร. ไม่ควร ขอรับ
  ย. ผ้าปูนั่งไม่มีชาย ควรหรือไม่ ขอรับ
  ร. ไม่ควร ขอรับ
  ย. ทองและเงิน ควรหรือไม่ ขอรับ
  ร. ไม่ควร ขอรับ
  ย. ท่านเจ้าข้า พวกพระวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลีนี้แสดงวัตถุ ๑๐ ประการเหล่านี้ในเมืองเวสาลี ท่านเจ้าข้า ถ้าเช่นนั้น พวกเราจงช่วยกันยกอธิกรณ์นี้ขึ้นในภายหน้าสภาพที่มิใช่ธรรมจักรุ่งเรือง ธรรมจักเสื่อมถอย สภาพที่มิใช่วินัยจักรุ่งเรือง วินัยจักเสื่อมถอย ในภายหน้า พวกอธรรมวาทีจักมีกำลัง พวกธรรมวาทีจักเสื่อมกำลัง พวกอวินัยวาทีจักมีกำลัง พวกวินัยวาทีจักเสื่อมกำลัง

ท่านพระเรวตะรับคำท่านพระยสกากัณฑกบุตรแล้ว (๗/๖๔๒/๒๖๖-๒๖๗)


พรหมมีส่วนร่วมการสังคายนา

ครั้งนั้น ท่านพระสาฬหะ หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด เกิดความปริวิตกแห่งจิตขึ้นอย่างนี้ว่า ภิกษุพวกไหนหนอ เป็นธรรมวาที คือ พวกปราจีนหรือ  พวกเมืองปาฐา เมื่อท่านกำลังพิจารณาธรรมและวินัยได้คิดต่อไปว่า ภิกษุพวกปราจีนเป็นอธรรมวาที ภิกษุพวกเมืองปาฐาเป็นธรรมวาที

ขณะนั้น เทวดาผู้อยู่ในชั้นสุทธาวาสท่านหนึ่ง ทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านพระสาฬหะด้วยจิตของตน ได้หายไปจากเทวโลกชั้นสุทธาวาส มาปรากฏเฉพาะหน้าท่านพระสาฬหะ เหมือนบุรุษที่มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น แล้วได้เรียนท่านพระสาฬหะว่า

ถูกแล้ว ชอบแล้ว ท่านพระสาฬหะ ภิกษุพวกปราจีน( พวกพระวัชชี )เป็นอธรรมวาที ภิกษุพวกเมืองปาฐา (พวกพระยสกากัณฑกบุตร) เป็นธรรมวาที ถ้าเช่นนั้น ท่านจงดำรงอยู่ตามธรรมเถิดขอรับ

พระสาฬหะกล่าวว่า เทวดา เมื่อกาลก่อนแลบัดนี้ อาตมาดำรงอยู่ตามธรรมแล้ว แต่ว่า อาตมายังทำความเห็นให้แจ่มแจ้งไม่ได้ก่อนว่า ไฉน สงฆ์พึงสมมติเราเข้าพิจารณาในอธิกรณ์นี้ (๗/๖๔๔/๒๖๙)


สงฆ์ปรารถนาวินิจฉัยอธิกรณ์

ครั้งนั้น สงฆ์ปรารถนาจะวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น ได้ประชุมกันแล้ว ท่านพระเรวตะจึงประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจา ว่าถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว อธิกรณ์นี้เกิดขึ้น ณ ที่ใด สงฆ์พึงระงับอธิกรณ์นี้ในที่นั้น (๗/๖๔๖/๒๗๐-๒๗๑)


สงฆ์เข้าไปหาพระมหาเถระผู้เป็นธรรมวาที

ครั้งนั้นพระสัพพกามีเป็นพระสงฆ์เถระทั่วแผ่นดิน มีพรรษา ๑๒๐ อุปสมบทเป็นสัทธิวิหาริกของท่านพระอานนท์อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี ท่านพระเรวตะได้เข้าไปสู่วิหารที่พระสัพพกามีเถระอยู่ เสนาสนะของท่านพระสัพพกามีอยู่ในห้อง เสนาสนะของท่านพระเรวตะเขาจัดแจงไว้ที่หน้ามุขของห้อง

คืนนั้น ท่านพระเรวตะคิดว่า พระผู้เฒ่านี้ยังไม่นอน ตนจึงไม่สำเร็จการนอน ส่วนท่านพระสัพพกามีคิดว่า พระอาคันตุกะรูปนี้เหนื่อยมา ยังไม่นอน จึงไม่สำเร็จการนอน

ครั้นถึงเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี ท่านพระสัพพกามีลุกขึ้น กล่าวกะท่านพระเรวตะว่า ท่านผู้เจริญ บัดนี้ ท่านอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไรโดยมาก

  ร. ท่านเจ้าข้า บัดนี้ ผมอยู่ด้วยเมตตาวิหารธรรมโดยมาก ท่านเจ้าข้า แม้เมื่อก่อนครั้งผมเป็นคฤหัสถ์ได้อบรมเมตตามา เพราะฉะนั้น ถึง
บัดนี้ ผมก็อยู่ด้วยเมตตาวิหารธรรมโดยมาก และผมได้บรรลุพระอรหัต    มานานแล้ว ท่านเจ้าข้าก็บัดนี้พระเถระอยู่ด้วยวิหารธรรมอะไรโดยมาก
  ส. ท่านผู้เจริญ บัดนี้ ฉันอยู่ด้วยสุญญตาวิหารธรรมโดยมาก ท่านผู้เจริญ แม้เมื่อก่อนครั้งฉันเป็นคฤหัสถ์ ได้อบรมสุญญตสมาบัติ มาแล้ว เพราะฉะนั้น บัดนี้ ฉันจึงอยู่ด้วยวิหารธรรม คือ สุญญตสมาบัติ และฉันได้บรรลุพระอรหัตมานานแล้ว

ครั้งนั้น ท่านพระสัมภูตสาณวาสีมาถึงโดยลำดับจึงเข้าไปหาท่านพระสัพพกามี อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วถามท่านพระสัพพกามีว่า ท่านเจ้าข้า พระเถระได้ศึกษาพระธรรมและพระวินัยเป็นอันมากในสำนัก  พระอุปัชฌายะเมื่อพระเถระพิจารณาพระธรรมและพระวินัยอยู่เป็นอย่างไร ขอรับ ภิกษุพวกไหนเป็นธรรมวาทีคือ พวกปราจีน หรือพวกเมืองปาฐา

พระสัพพกามีกล่าวว่า แม้เมื่อผมพิจารณาพระธรรมและพระวินัยอยู่ก็เป็นอย่างนี้ ขอรับ ภิกษุพวกปราจีนเป็นอธรรมวาที ภิกษุพวกเมืองปาฐาเป็นธรรมวาที แต่ว่าผมยังทำความเห็นให้แจ่มแจ้งไม่ได้ก่อนว่า แม้ไฉน สงฆ์พึงสมมติผมเข้าในอธิกรณ์นี้ (รอให้มีผู้เริ่มและชวน) (๗/๖๔๗-๖๔๘/๒๗๑-๒๗๒)


ดำเนินการสังคายนาพระวินัย

โดยสมัยนั้นแล พระเถระทั้งหลายคิดกันว่า วาลิการามนี้แล เป็นรมณียสถานมีเสียงน้อย ไม่มีเสียงเอ็ดอึง ถ้าไฉนพวกเราจะพึงระงับอธิกรณ์นี้ ณ วาลิการาม ครั้งนั้นพระเถระทั้งหลายที่ประสงค์จะวินิจฉัยอธิกรณ์นั้น ได้พากันไปวาลิการาม


สมมติผู้ถามและผู้แก้

ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าพึงถามพระวินัยกะท่านพระสัพพกามี
 
ท่านพระสัพพกามีประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติกรรมวาจาว่าดังนี้

ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว ข้าพเจ้าอันพระเรวตะถามพระวินัยแล้ว จะพึงแก้


ถามและแก้วัตถุ ๑๐ ประการ

ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะถามท่านพระสัพพกามีว่า

  ร. การเก็บเกลือไว้ในเขนงโดยตั้งใจว่า จักปรุงในอาหารที่จืดฉัน ควร หรือไม่ ขอรับ
  ส. ไม่ควร ขอรับ
  ร. ทรงห้ามไว้ที่ไหน
  ส. ในเมืองสาวัตถี ปรากฏในคัมภีร์สุตตวิภังค์
  ร. ต้องอาบัติอะไร
  ส. ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในเพราะอาหารที่ทำการสั่งสม
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุที่ ๑ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้วัตถุนี้ จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้อที่ ๑ นี้ ข้าพเจ้าขอลงคะแนน
  ร. การฉันโภชนะในวิกาล เมื่อตะวันบ่ายล่วงแล้วสององคุลี ควรหรือไม่ ขอรับ
  ส. ไม่ควร ขอรับ
  ร. ทรงห้ามไว้ที่ไหน
  ส. ในเมืองราชคฤห์ ปรากฏในคัมภีร์สุตตวิภังค์
  ร. ต้องอาบัติอะไร
  ส. ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในเพราะฉันโภชนะในเวลาวิกาล
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุที่ ๒ นี้สงฆ์วินิจฉัยแล้วแม้เพราะเหตุนี้วัตถุนี้จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้อที่ ๒ นี้  ข้าพเจ้าขอลงคะแนน
  ร. ภิกษุฉันเสร็จห้ามภัตรแล้วคิดว่า จักเข้าละแวกบ้าน ในบัดนี้ฉันโภชนะเป็นอนติริตตะ ควรหรือไม่ ขอรับ
  ส. ไม่ควร ขอรับ
  ร. ทรงห้ามไว้ที่ไหน
  ส. ในเมืองสาวัตถี ปรากฏในคัมภีร์สุตตวิภังค์
  ร. ต้องอาบัติอะไร
  ส. ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในเพราะฉันโภชนะเป็นอนติริตตะ
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุที่ ๓ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้วัตถุนี้จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้อที่ ๓ นี้  ข้าพเจ้าขอลงคะแนน
  ร. อาวาสหลายแห่ง มีสีมาเดียวกัน ทำอุโบสถต่างกัน ควรหรือไม่  ขอรับ
  ส. ไม่ควร ขอรับ
  ร. ทรงห้ามไว้ที่ไหน
  ส. ในเมืองราชคฤห์ ปรากฏในคัมภีร์อุโบสถสังยุต
  ร. ต้องอาบัติอะไร
  ส. ต้องอาบัติทุกกฏ เพราะละเมิดวินัย
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุที่ ๔ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้วัตถุนี้จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้อที่ ๔ นี้  ข้าพเจ้าขอลงคะแนน
  ร. สงฆ์เป็นวรรคทำกรรม ด้วยตั้งใจว่า จักให้ภิกษุที่มาแล้วอนุมัติ ควรหรือไม่ขอรับ
  ส. ไม่ควร ขอรับ
  ร. ทรงห้ามไว้ที่ไหน
  ส. ในเมืองจัมเปยยกะ ปรากฏในเรื่องวินัย
  ร. ต้องอาบัติอะไร
  ส. ต้องอาบัติทุกกฏ ในเพราะละเมิดวินัย
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุที่ ๕ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้วัตถุนี้จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้อที่ ๕ นี้ ข้าพเจ้าขอลงคะแนน
  ร. การประพฤติวัตรด้วยเข้าใจว่า นี้พระอุปัชฌายะของเราเคยประพฤติมา นี้พระอาจารย์ของเราเคยประพฤติมา ควรหรือไม่ ขอรับ
  ส. อาจิณณกัปปะบางอย่างควร บางอย่างไม่ควร ขอรับ
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุที่ ๖ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้วัตถุนี้จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้อที่ ๖ นี้ ข้าพเจ้าขอลงคะแนน
  ร. นมสดละความเป็นนมสดแล้ว ยังไม่ถึงความเป็นนมส้ม ภิกษุ ฉันเสร็จ ห้ามภัตรแล้ว จะดื่มนมนั้นอันเป็นอนติริตตะ ควรหรือไม่ ขอรับ
  ส. ไม่ควร ขอรับ
  ร. ทรงห้ามไว้ที่ไหน
  ส. ในเมืองสาวัตถี ปรากฏในคัมภีร์สุตตวิภังค์
  ร. ต้องอาบัติอะไร
  ส. ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ในเพราะฉันโภชนะอันเป็นอนติริตตะ
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุที่ ๗ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้วัตถุนี้จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้อที่ ๗ นี้ ข้าพเจ้าขอลงคะแนน
  ร. การดื่มสุราอย่างอ่อนที่ยังไม่ถึงความเป็นน้ำเมา ควรหรือไม่ ขอรับ
  ส. ไม่ควร ขอรับ
  ร. ทรงห้ามไว้ที่ไหน
  ส. ในเมืองโกสัมพี ปรากฏในคัมภีร์สุตตวิภังค์
  ร. ต้องอาบัติอะไร
  ส. ต้องอาบัติปาจิตตีย์เพราะดื่มสุราและเมรัย
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุที่ ๘ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้วัตถุนี้จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้อที่ ๘ นี้ ข้าพเจ้าขอลงคะแนน
  ร. ผ้าปูนั่งไม่มีชาย ควรหรือไม่ ขอรับ
  ส. ไม่ควร ขอรับ
  ร. ทรงห้ามไว้ที่ไหน
  ส. ในเมืองสาวัตถี ปรากฏในคัมภีร์สุตตวิภังค์
  ร. ต้องอาบัติอะไร
  ส. ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ที่ต้องตัดเสีย
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุที่ ๙ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้ วัตถุนี้จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้อที่ ๙ นี้ ข้าพเจ้าขอลงคะแนน
  ร. ทองและเงิน ควรหรือไม่ ขอรับ
  ส. ไม่ควร ขอรับ
  ร. ทรงห้ามไว้ที่ไหน
  ส. ในเมืองราชคฤห์ ปรากฏในคัมภีร์สุตตวิภังค์
  ร. ต้องอาบัติอะไร
  ส. ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะรับทองและเงิน
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุที่ ๑๐ นี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้ว แม้เพราะเหตุนี้ วัตถุนี้จึงผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์ ข้อที่ ๑๐ นี้  ข้าพเจ้าขอลงคะแนน
  ร. ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า วัตถุ ๑๐ ประการนี้ สงฆ์วินิจฉัยแล้วว่าผิดธรรม ผิดวินัย หลีกเลี่ยงสัตถุศาสน์

พระสัพพกามีกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย อธิกรณ์นั่นสงฆ์ชำระแล้ว สงบระงับเรียบร้อยดีแล้ว อนึ่ง ท่านพึงถามวัตถุ ๑๐ ประการนี้กะผม แม้ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อประกาศให้ภิกษุเหล่านั้นรู้ทั่วกัน
 
ครั้งนั้น ท่านพระเรวตะได้ถามวัตถุ ๑๐ ประการนี้กะท่านพระสัพพกามี แม้ในท่ามกลางสงฆ์ ท่านพระสัพพกามี อันท่านพระเรวตะถามแล้ว ๆ ได้วิสัชนาแล้วตามเดิม
 
ก็ในสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ มีภิกษุ ๗๐๐ รูป ไม่หย่อน ไม่เกิน เพราะฉะนั้นการสังคายนาพระวินัยครั้งนี้ บัณฑิตจึงเรียกว่า แจง ๗๐๐ ดังนี้แล (๗/๖๕๐-๖๖๑/๒๗๔-๒๗๘)