Main navigation

พระสีวลีเถระ

เหตุการณ์
ประวัติพระสีวลีเถระ

 

ท่านพระสีวลีเถระนั้นได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้น ๆ

บุพกรรมในสมัยพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้เกิดในเรือนอันมีสกุล ได้ไปยังพระวิหาร ยืนอยู่ท้ายบริษัท ฟังธรรมได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งพระศาสดาทรงสถาปนาเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีลาภ แล้วคิดว่า

"ในอนาคตกาล แม้เราก็ควรเป็นเช่นภิกษุรูปนี้บ้าง"

ท่านจึงได้นิมนต์พระทศพล ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน แล้วได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยกรรมดีที่สั่งสมไว้นี้ ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติอื่นเลย หากแต่ในอนาคตกาล ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ข้าพระองค์ปรารถนาเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีลาภ เหมือนเช่นภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งที่เลิศนั้นเถิด"

พระศาสดา ทรงเห็นว่าไม่มีอันตราย จึงทรงพยากรณ์ว่า

"ความปรารถนาของเธอนี้ จักสำเร็จในสำนักของพระโคดมพุทธเจ้าในอนาคตกาล"

แล้วเสด็จหลีกไป ท่านได้กระทำกุศลไว้จนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวไปในกำเนิดเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

บุพกรรมในสมัยพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ครั้นในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ท่านได้ถือปฏิสนธิในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลจากพระนครพันธุมดี

สมัยหนึ่ง หลังจากที่พระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวจาริกไปในชนบท กลับมาสู่พระนครพันธุมดี ครั้งนั้น พระเจ้าพันธุมะซึ่งเป็นพุทธบิดา ได้ทรงเตรียมอาคันตุกทาน เพื่อภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ทรงปรารถนาจะทำมหาทานแข่งกับชาวเมือง ในวันใดที่พระราชาเป็นผู้ถวายทาน เหล่ามหาชนก็จะสังเกตดู และในวันรุ่งขึ้นก็จะเตรียมทานให้ยิ่งกว่านั้น และในวันถัดไป พระราชาก็จะถวายให้ยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งถึงวันที่ ๖ ซึ่งเป็นวันของชาวเมือง ชาวเมืองเหล่านั้นทั้งหมดได้จัดเตรียมสิ่งของไว้ทุกสิ่ง โดยตั้งใจจะไม่ให้มีสิ่งใดที่ขาดแม้สักสิ่งเดียว จึงได้ตรวจดูทานที่ตนได้เตรียมไว้ก็ไม่เห็นน้ำผึ้งและนมส้ม ชนเหล่านั้นจึงให้คนถือเอาทรัพย์คนละ ๑ พันกหาปนะ แล้วส่งไปเฝ้ายังประตูพระนครทั้ง ๔ เพื่อขอซื้อจากผู้ที่มาจากชนบทนอกพระนคร

ในวันนั้น ท่านถือหม้อใส่นมส้มออกจากบ้าน เพื่อเข้าไปในเมือง หมายจะเอานมส้มไปแลกกับของที่ตนต้องการ ระหว่างทางท่านคิดจะล้างหน้า มือ และเท้าให้สะอาดก่อนเข้าเมือง ระหว่างชำระล้างนั้นท่านมองเห็นรังผึ้งที่ไม่มีตัวผึ้งขนาดเท่าหัวไถ คิดว่า

"รังผึ้งนี้เกิดขึ้นแก่เราด้วยบุญ"

จึงถือรังผึ้งเข้าไปในพระนคร พวกบุรุษที่เฝ้าหนทางอยู่ เห็นท่านแล้วถามว่า

"ท่านกำลังจะนำน้ำผึ้งและนมส้มไปให้ใคร"

ท่านตอบว่า

"เราไม่ได้จะให้ใคร แต่เรานำมาเพื่อขาย"

"เราขอซื้อน้ำผึ้งและนมส้มนั้นด้วยเงิน ๑ กหาปณะ"

ท่านนั้นคิดว่า

"น้ำผึ้งและนมส้มนี้ ไม่น่าจะมีราคามากขนาดนี้ ทำไมเขาให้เงินมาก"

จึงกล่าวว่า

"เราจะไม่ยอมขายเพียงกหาปณะเดียว"

"ถ้าอย่างนั้นเราให้ท่าน ๒ กหาปณะ"

"ถึงจะให้ ๒ กหาปณะ เราก็ไม่ขาย"

บุรุษนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มให้จนถึงพันกหาปณะ ท่านคิดว่า

"พวกเขาต้องการของสองสิ่งนี้ไปทำอะไร"

จึงถามบุรุษนั้นว่า

"น้ำผึ้งและนมส้มนี้ไม่ได้มีค่ามีราคามากเลย แต่ท่านให้ราคาเสียมากมาย ท่านจะเอาน้ำผึ้งและนมส้มไปทำอะไร"

"ท่านผู้เจริญ ชาวพระนครได้ขัดแย้งกับพระราชา พวกเรากำลังจะถวายทานแด่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พวกเราขาดน้ำผึ้งและนมส้ม เราจะทำทานให้เป็นทานอันเลิศ จึงต้องหาซื้อ ถ้าไม่ได้ พวกเราจะพ่ายแพ้พระราชา เราจึงต้องซื้อให้ได้"

"น้ำผึ้งและนมส้มนี้ พวกชาวเมืองถวายได้เท่านั้นหรือ หรือว่าคนเหล่าอื่นก็ถวายได้"

"พวกเราไม่ได้ห้ามใครถวาย"

"ผู้บริจาคเงินถึงหนึ่งพันกหาปณะในวันเดียวเพื่อทำทานครั้งนี้ มีหรือไม่"

"ไม่มีหรอกสหาย"

"ถ้าอย่างนั้น เราจะให้น้ำผึ้งและนมส้มราคาหนึ่งพันนี้"

"ดีล่ะ แล้วจะให้พวกเราทำอย่างไร"

"พวกท่านจงไปบอกให้พวกชาวเมืองรู้ว่า มีบุรุษคนหนึ่งไม่ยอมขายของสองสิ่งนี้แม้จะให้ราคาถึงพัน แต่เขาประสงค์จะร่วมบุญกับพวกท่านด้วยมือของเขาเอง พวกท่านจงหมดความกังวลใจในของสองสิ่งนี้เถิด"

"ท่านจงเป็นผู้มีส่วนเป็นหัวหน้าในทานนี้ด้วยเถิด"

แล้วไป ท่านนำกหาปณะที่ติดตัวมาซื้อเครื่องเทศ ๕ อย่าง ทำให้ป่น ทำน้ำส้มจากนมส้ม แล้วคั้นรังผึ้งลงผสม ปรุงด้วยเครื่องเทศ ๕ อย่าง แล้วใส่ลงในใบบัว เมื่อเรียบร้อยแล้ว ถือไปนั่งไม่ไกลพระทศพล เมื่อมหาชนนำเอาสักการะเข้าไปถวายตามลำดับจนถึงวาระของท่าน ก่อนถวาย ท่านได้กราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักการะอันยากไร้นี้เป็นของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดอาศัยความอนุเคราะห์ รับสักการะนี้เถิด"

พระศาสดาทรงอนุเคราะห์ ทรงรับสักการะนั้นด้วยบาตรศิลา เป็นบาตรที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ถวายให้ จากนั้นทรงอธิษฐานให้สักการะนั้นไม่หมดไป แม้จะมีภิกษุมากถึง ๖ ล้าน ๘ แสนรูป

หลังจากพระศาสดาเสวยเสร็จแล้ว ท่านถวายบังคมกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว วันนี้พวกชาวพันธุมดีนครนำสักการะมาถวายพระองค์ ด้วยผลแห่งการถวายสักการะนี้ ขอข้าพระองค์พึงเป็นผู้เลิศด้วยลาภและเลิศด้วยยศ ในภพที่เกิดแล้วเถิด"

พระศาสดาตรัสว่า

"จงเป็นอย่างปรารถนาเถิดกุลบุตร"

แล้วทรงอนุโมทนาธรรมแก่ท่านและชาวพระนคร จากนั้นเสด็จกลับ ท่านทำกุศลจนตลอดชีวิต

บุรพกรรมที่นำไปสู่อเวจีและต้องอยู่ในครรภ์พระมารดา ๗ ปี ๗ วัน

เมื่อท่านได้สิ้นอายุในสมัยนั้นแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่สิ้นกาลนาน ต่อมาในสมัยหนึ่งท่านได้จุติจากเทวโลก บังเกิดเป็นราชโอรสแห่งพระเจ้ากาสี ผู้ครองกรุงพาราณสี

ต่อมาพระเจ้าโกศลทรงกรีธากองพลใหญ่มายึดกรุงพาราณสี ทรงปลงพระชนม์พระเจ้ากาสีและได้สถาปนาพระอัครมเหสีของพระราชานั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ในเวลาที่พระบิดาถูกปลงพระชนม์ ได้ทรงหนีออกทางประตูระบายน้ำ รวบรวมญาติมิตรและพวกพ้องของพระองค์ไว้เป็นอันเดียวกัน รวมกำลังโดยลำดับ แล้วเสด็จมายังกรุงพาราณสี ตั้งค่ายใหญ่ไว้ในที่ไม่ไกล ทรงส่งพระราชสาสน์ถึงพระราชาองค์นั้นว่า

"จะคืนราชสมบัติหรือจะรบ"

พระมารดาได้สดับสาสน์ของพระราชกุมารแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับแนะนำไปว่า

"จงอย่าได้ต่อสู้ จงตัดขาดการสัญจรทั่วทุกทิศ โดยการล้อมกรุงพาราณสีไว้ พวกคนในกรุงก็จะพากันลำบากเพราะหมดไม้ น้ำและอาหาร และจะจับพระราชามาถวายเอง"

พระราชกุมารได้สดับสาสน์ของพระมารดาแล้ว จึงล้อมประตูใหญ่ทั้ง ๔ ด้านไว้ ๗ ปี แต่การณ์ก็มิได้เป็นอย่างที่ทรงดำริ เนื่องจากพวกคนในกรุงพากันออกทางประตูเล็ก นำเอาไม้และน้ำมาทำกิจทุกอย่าง

ครั้นพระมารดาของพระราชกุมารทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับถึงพระโอรส ตำหนิพระโอรสว่า

"ลูกเราโง่เขลาไม่รู้อุบาย จงปิดประตูน้อย ล้อมกรุงไว้"

พระราชกุมารทรงสดับพระราชสาสน์ของพระมารดา จึงได้ทรงกระทำอย่างนั้นถึง ๗ วัน ชาวพระนครเมื่อออกไปข้างนอกไม่ได้ วันที่ ๗ จึงได้เอาพระเศียรของพระราชานั้นไปมอบแด่พระราชกุมาร พระราชกุมารได้เสด็จเข้ากรุงยึดราชสมบัติ

ท่านได้กระทำกรรมนี้แล้ว ในกาลที่สุดแห่งอายุ ไปบังเกิดในอเวจี หมกไหม้อยู่ในนรกตราบเท่ามหาปฐพีนี้หนาขึ้นได้ประมาณโยชน์หนึ่ง

ครั้นพ้นจากนรกอเวจีแล้ว ก็เที่ยวเกิดไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จนถึงสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ จึงได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระนางสุปปวาสา ราชบุตรีของเจ้าโกลิยะ กษัตริย์พระนครโกลิยะ ซึ่งทรงอภิเษกกับเจ้าศากยวงศ์พระองค์หนึ่ง พระนางนั้นพระบรมศาสดาได้ทรงสถาปนาพระนางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายของมีรสประณีต และได้ทรงปฏิบัติธรรมจนบรรลุโสดาปัตติผล

ด้วยกุศลกรรมแห่งการที่ท่านเป็นผู้เลิศด้วยลาภ เพราะอานุภาพที่ถวายมหาทาน แล้วตั้งความปรารถนาในสมัยแห่งองค์พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าขอเป็นผู้เลิศด้วยลาภ และอานิสงส์ที่ถวายน้ำผึ้งและนมส้มมีค่า ๑,๐๐๐ กหาปณะพร้อมชาวเมือง แล้วได้ตั้งความปรารถนาในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี นับแต่วันที่ท่านถือปฏิสนธิ ก็มีคนถือเอาเครื่องบรรณาการมาให้พระนางสุปปวาสาวันละร้อยเล่มเกวียน ทั้งในเวลาเย็นและในเวลาเช้า

ครั้งนั้น คนทั้งหลายปรารถนาจะลองบุญนั้น จึงให้พระนางเอามือจับกระเช้าพืช พืชแต่ละเมล็ดผลิตผลออกมาเป็นพืชตั้งร้อยกำ พันกำ พืชที่หว่านลงไปในที่นาแต่ละกรีส (หน่วยวัดที่นาในสมัยพุทธกาล) ก็เกิดผลประมาณ ๕๐ เล่มเกวียนบ้าง ๖๐ เล่มเกวียนบ้าง แม้ในเวลาขนข้าวใส่ยุ้ง คนทั้งหลายก็ให้พระนางเอามือจับประตูยุ้ง ข้าวที่พร่องอยู่ก็กลับเต็มเหมือนเดิม ให้พระนางจับหม้อข้าวสวยไว้ และตักออกแจกจ่าย ตราบใดที่พระนางยังไม่ยกพระหัตถ์ออก ข้าวสวยก็ยังไม่หมดไป คนทั้งหลายจึงกล่าวกันว่าเป็นบุญของพระนางสุปปวาสา

ด้วยผลกรรมของพระนางที่ได้ส่งสาส์นลับไปแนะนำพระราชโอรส ร่วมกับวิบากกรรมของพระโอรสในอดีตที่ได้ล้อมกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลาถึง ๗ ปี ทำให้เวลาล่วงไปถึง ๗ ปี ก็ยังไม่มีพระประสูติกาล

ครั้นเมื่อครบกำหนด ๗ ปีแล้ว ด้วยวิบากกรรมร่วมกันของพระนางกับพระโอรสที่ได้ปิดล้อมประตูเล็กของกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลา ๗ วัน ทำให้ชาวเมืองไม่สามารถออกจากเมืองมาหาอาหารและสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ได้รับความลำบากมาก ทำให้พระนางเสวยทุกข์หนักตลอด ๗ วัน

พระนางปรารภกับพระสวามีว่า

"หม่อมฉันปรารถนาจะถวายทานแด่พระศาสดาก่อนที่จะตาย"

แล้วตรัสต่อว่า

"ขอพระองค์จงไปกราบทูลให้พระศาสดาทรงทราบความเป็นไป แล้วจงทรงนิมนต์พระศาสดามา ถ้าพระศาสดาตรัสพระดำรัสอันใด พระองค์จงทรงจำพระดำรัสนั้นให้ดีแล้วกลับมาบอกแก่หม่อมฉัน"

พระสวามีจึงเดินทางไปแล้วกราบทูลข่าวแด่พระพุทธองค์ พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า

"พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงมีความสุข จงมีความสบาย ไม่มีโรค จงคลอดบุตรที่หาโรคมิได้เถิด"

พระสวามีได้ยินดังนั้นจึงถวายบังคมพระศาสดา ทรงมุ่งหน้าเสด็จกลับพระราชนิเวศน์

ในเวลาเมื่อพระบรมสุคตตรัสเสร็จ พระกุมารก็คลอดจากพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสาอย่างสะดวก เหล่าพระญาติและบริวารที่นั่งล้อมอยู่เริ่มหัวเราะทั้งที่หน้านองด้วยน้ำตา มหาชนยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ได้ไปกราบทูลข่าวที่น่ายินดีแด่พระสวามีที่กำลังเดินทางกลับ พระราชาทรงเห็นอาการของชนเหล่านั้นทรงดำริว่า

"พระดำรัสที่พระทศพลตรัสเห็นจะเป็นผลแล้ว"

พระองค์จึงกราบทูลข่าวของพระทศพลนั้นแด่พระนางสุปปวาสา พระนางตรัสให้พระสวามีไปนิมนต์พระทศพลตลอด ๗ วัน พระสวามีทรงกระทำดังนั้น และได้มีการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน การประสูติของทารกได้ดับจิตที่เร่าร้อนของพระประยูรญาติทั้งหมด พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามของกุมารนั้นว่า “สีวลีทารก”

พระสีวลีบวชเมื่อเกิดได้ ๗ วัน

ตั้งแต่เวลาที่ได้เกิดมาแล้ว ทารกนั้นได้เป็นผู้แข็งแรง อดทนได้ในการงานทั้งปวงเพราะค่าที่อยู่ในครรภ์มานานถึง ๗ ปี ครั้นถึงวันที่ ๗ พระนางสุปปวาสาตกแต่งพระสีวลีกุมารผู้โอรส ถวายบังคมพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระกุมารถูกนำเข้าไปสักการะพระสารีบุตรเถระนั้น พระเถระได้กระทำปฏิสันถารกับเธอว่า

"สีวลี เธอยังจะพอทนได้หรือ"

สีวลีกุมาร ได้ตรัสตอบพระเถระว่า

"ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมจะมีความสุขที่ไหนได้เล่า กระผมนั้นต้องอยู่ในครรภ์ถึง ๗ ปี"

"ก็ถ้าเธอได้รับความทุกข์ถึงขนาดนั้นแล้ว บวชเสียไม่สมควรหรือ"

"ถ้าบวชได้ก็จะบวช"

พระนางสุปปวาสาเห็นทารกนั้นพูดอยู่กับพระเถระ ก็คิดว่า

"บุตรของเราพูดอะไรกับพระธรรมเสนาบดีหนอ"

จึงเข้าไปหาพระเถระถามว่า

"บุตรของดิฉันพูดอะไรกับพระคุณเจ้า เจ้าคะ"

พระเถระกล่าวว่า

"บุตรของท่านพูดถึงความทุกข์ที่อยู่ในครรภ์ที่ตนได้รับ แล้วกล่าวว่าถ้าท่านอนุญาต ก็จะบวช"

"ดีละเจ้าข้า โปรดให้เขาบรรพชาเถิด"

พระเถระนำทารกนั้นไปวิหาร ให้ตจปัญจกกัมมัฎฐาน (กรรมฐาน 5 กอง คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ) และได้กล่าวว่า

"สีวลี เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก เธอจงพิจารณาทุกข์ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปีนั่นแหละ"

ในขณะที่โกนผมปอยแรก พระสีวลีก็บรรลุโสดาปัตติผล และในขณะที่โกนผลปอยที่ ๒ ก็บรรลุสกทาคามิผล และในขณะที่โกนผมปอยที่ ๓ ก็บรรลุอนาคามิผล และก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมกันกับที่โกนผมหมด

พระสีวลีทดลองบุญ

ในเวลาต่อมา พระบรมศาสดาได้เสด็จไปยังพระนครสาวัตถี พระสีวลีเถระถวายอภิวาทพระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักทดลองบุญของข้าพระองค์ ขอพระองค์จงมอบภิกษุ ๕๐๐ รูปแก่ข้าพระองค์"

พระศาสดาตรัสสั่งว่า

"จงรับไปเถิด สีวลี"

ท่านพระสีวลีเถระพาภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางบ่ายหน้าไปสู่หิมวันตประเทศ เดินทางผ่านดงเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไทรที่ท่านเห็นเป็นครั้งแรก ได้ถวายทานตลอด ๗ วัน เทวดาทั้งหลายได้ถวายทานทุก ๆ ๗ วัน ในสถานที่ทั่ว ๆ ไป ที่ท่านเห็นต่างกรรม ต่างวาระกัน ดังนี้ คือ

ท่านเห็นต้นไทรเป็นครั้งแรก เห็นภูเขาชื่อว่าปัณฑวะเป็นครั้งที่ ๒ เห็นแม่น้ำอจิรวดีเป็นครั้งที่ ๓ เห็นแม่น้ำวรสาครเป็นครั้งที่ ๔ เห็นภูเขาหิมวันต์เป็นครั้งที่ ๕ ถึงป่าฉัททันต์ เป็นครั้งที่ ๖ ถึงภูเขาคันธมาทน์เป็นครั้งที่ ๗ และพบพระเรวตะ เป็นครั้งที่ ๘

ประชาชนทั้งหลายได้ถวายทานในที่ทุกแห่งตลอด ๗ วันเท่านั้น ก็ในบรรดา ๗ วัน นาคทัตตเทวราชที่ภูเขาคันธมาทน์ ได้ถวายบิณฑบาตชนิดน้ำนม (ขีรบิณฑบาต) สลับวันกับถวายบิณฑบาตชนิดเนยใส (สัปปิบิณฑบาต) วันเว้นวัน

ลำดับนั้นภิกษุสงฆ์จึงถามท่านเทวราช ว่า

"ของที่ท่านนำมาถวายนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อแม่โคนมที่เขารีดนมถวายแด่เทวราชนี้ก็ไม่ได้ปรากฏ การคั้นเนยใสก็ไม่มี"

นาคทัตตเทวราชตอบว่า

"นี้เป็นอานิสงส์แห่งการถวายสลากภัตรเจือน้ำนมในกาลแห่งพระกัสสปทศพล"

เหตุเรื่องให้ทรงแต่งตั้งพระสีวลีเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศด้วยลาภและด้วยยศ

ในกาลต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่าพระเรวตขทิรวนิยะ ผู้เป็นน้องชายพระสารีบุตร บรรลุพระอรหัตแล้ว ทรงประสงค์จะเสด็จไปเยี่ยม ตรัสสั่งให้พระสารีบุตรแจ้งแก่ภิกษุทั้งหลาย พระเถระสั่งให้ภิกษุทั้งหลายมาประชุมกัน แล้วแจ้งให้ทราบว่า

"ผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดามีพระประสงค์จะเสด็จจาริกไป พวกท่านต้องการตามเสด็จ ก็จงมาเถิด"

ครั้งนั้น มีภิกษุต้องการตามเสด็จจำนวนมาก เพราะต่างต้องการเห็นพระสรีระดุจทองคำและฟังธรรมจากพระองค์ เมื่อเสด็จถึงหนทางแห่งหนึ่ง เป็นทาง ๒ แพร่ง พระอานนท์กราบทูลถามว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ตรงนี้มีหนทาง ๒ แพร่ง ภิกษุสงฆ์จะไปทางไหน พระพุทธเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสถามว่า

"อานนท์ หนทางไหนเป็นหนทางตรง"

พระอานนท์กราบทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หนทางตรงมีระยะทางไกลประมาณ ๓๐ โยชน์ เป็นที่อยู่ของพวกอมนุษย์ ส่วนหนที่อ้อมมีระยะทางไกลประมาณ ๖๐ โยชน์ เป็นหนทางสะดวกปลอดภัย มีอาหารหาได้ง่าย"

"อานนท์ สีวลีมาพร้อมกับพวกเรามิใช่หรือ"

"พระสีวลีมาด้วย พระพุทธเจ้าข้า"

"ถ้าอย่างนั้น ภิกษุสงฆ์จงไปตามเส้นทางตรง เราจะได้ทดลองบุญของพระสีวลี"

จากนั้น ทรงพาภิกษุสงฆ์ไปตามหนทางตรง หมู่เทวดาได้ช่วยกันเนรมิตนครขึ้นทุก ๆ โยชน์ จัดแจงพระวิหารให้เสด็จประทับและให้ภิกษุสงฆ์พัก พวกเทวดาทำตัวดุจกรรมกรที่พระราชาทรงส่งมาปรนนิบัติ พวกเทวดาถือข้าวยาคูและของควรเคี้ยว เป็นต้น เข้าไปถามหาพระสีวลีว่า

"พระผู้เป็นเจ้าสีวลีไปไหน"

ทราบแล้ว ก็นำของเหล่านั้นถวายแก่ท่าน

พระเถระรับแล้วให้ภิกษุช่วยกันนำไปถวายพระศาสดาและภิกษุสงฆ์

พระศาสดาเสด็จไปวันละหนึ่งโยชน์ พวกเทวดาก็จะถวายสักการะแด่พระสีวลีเช่นนี้เรื่อยไปจนครบ ๓๐ วัน ๓๐ โยชน์ จนถึงที่อยู่ของพระเรวตะ

ในกาลต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้าแล้ว ทรงสถาปนาพระเถระนั้นไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระสีวลีเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีลาภ"

 


อ้างอิง : สารานุกรม พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน

 

 

 

อ้างอิง
สารานุกรม พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน
ลำดับที่
6

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ