Main navigation

ตนแลเป็นที่พึ่งของตน

ว่าด้วย
มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ
เหตุการณ์
พระผู้มีพระภาคเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ

มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ เป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงราชคฤห์ นางได้ขอบรรพชาตั้งแต่เวลาที่เป็นผู้รู้เดียงสา นางอ้อนวอนอยู่บ่อย ๆ ก็ไม่ได้รับอนุญาตจากมารดาและบิดา เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้แต่งงานไปสู่ตระกูลสามี ต่อมาไม่นานนักได้ตั้งครรภ์แต่ยังไม่ทราบ นางได้ปรนนิบัติสามีให้ยินดี แล้วขอบรรพชา

สามีของนางอนุญาต แล้วนำนางไปสู่สำนักของนางภิกษุณีด้วยสักการะใหญ่ ให้บวชในสำนักของนางภิกษุณีที่เป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต ต่อมาพวกภิกษุณีทราบว่านางมีครรภ์ จึงถามว่านี่อะไรกัน นางตอบว่า นางไม่ทราบ แต่ศีลของนางไม่ด่างพร้อยเลย

พวกนางภิกษุณีนำนางไปสู่สำนักของพระเทวทัต แล้วถามพระเทวทัตว่าพวกนางจะทำอย่างไร

พระเทวทัตคิดเหตุเพียงเท่านี้ว่า ความเสียชื่อเสียงจงอย่าเกิดขึ้นแก่พวกนางภิกษุณีผู้ทำตามโอวาทของเรา จึงบอกจงให้นางนั้นสึกเสีย นางได้ฟังคำนั้นแล้วกล่าวขอว่า อย่าให้นางฉิบหายเสียเลย นางมิได้บวชเจาะจงพระเทวทัต ขอจงนำนางไปสู่พระเชตวัน ซึ่งเป็นสำนักของพระศาสดาเถิด

นางภิกษุณีเหล่านั้นจึงพานางไปสู่พระเชตวัน กราบทูลเรื่องราวแด่พระศาสดา

พระผู้มีพระภาคแม้ทรงทราบอยู่ว่านางตั้งครรภ์ขณะเป็นคฤหัสถ์ แต่เพื่อจะเปลื้องความสงสัยของชนอื่น จึงรับสั่งให้เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านมหาอนาถบิณฑิกะ ท่านจุลอนาถบิณฑิกะ นางวิสาขาอุบาสิกา และสกุลใหญ่อื่น ๆ มา แล้วตรัสกับพระอุบาลีเถระว่า จงชำระกรรมของภิกษุณีสาวนี้ให้หมดจดในท่ามกลางบริษัท ๔

พระเถระให้เชิญนางวิสาขามาตรงพระพักตร์ของพระราชา แล้วให้สอบสวนอธิกรณ์นั้น

นางวิสาขาให้คนล้อมม่าน ตรวจดูมือ เท้า สะดือ และท้องของนางภิกษุณีนั้น แล้วนับเดือนและวันดู ก็ทราบว่านางได้มีครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ จึงบอกความนั้นแด่พระอุบาลีเถระ พระเถระทำให้นางเป็นผู้บริสุทธิ์ในท่ามกลางบริษัท

ในเวลาต่อมา นางคลอดบุตรผู้มีอานุภาพมาก ซึ่งมีความปรารถนาตั้งไว้แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้า ปทุมุตตระ

ต่อมาวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไป ณ ที่ใกล้สำนักของนางภิกษุณี ทรงสดับเสียงทารก ได้ทราบจากอำมาตย์ว่า บุตรของนางภิกษุณีนั้นเกิดแล้ว ได้ทรงนำกุมารนั้นไปสู่พระราชมนเทียร ประทานให้แก่แม่นมทั้งหลาย ในวันตั้งชื่อ ชนทั้งหลายตั้งชื่อกุมารว่า "กัสสป"  ความเป็นผู้อันพระราชาทรงเลี้ยง ด้วยเครื่องบริหารของพระกุมาร จึงเรียกกันว่า "กุมารกัสสป"

เมื่อพระกุมารเจริญวัย วันหนึ่งได้ทะเลาะทุบตีพวกเด็ก ๆ พวกเด็กกล่าวว่า พวกเราถูกคนไม่มีแม่ไม่มีพ่อทุบตีแล้ว พระกุมารจึงเข้าไปเฝ้าพระราชาเพื่อทูลขอพระองค์ตรัสบอกถึงมารดา

พระราชาทรงดำริว่าพระองค์ไม่อาจลวงกุมารได้ จึงตรัสบอกว่ามารดาของพระกุมารเป็นภิกษุณี พระองค์นำพระกุมารมาจากสำนักนางภิกษุณี

พระกุมารเกิดความสังเวชขึ้น จึงกราบทูลขอบวช พระราชารับคำแล้ว ให้บวชในสำนักของพระศาสดาด้วยสักการะเป็นอันมาก เมื่อได้อุปสมบทแล้วปรากฏนามว่า พระกุมารกัสสปเถระ ท่านเรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดา เข้าไปสู่ป่า พยายามแล้วไม่สามารถจะให้คุณวิเศษบังเกิดได้ จึงคิดว่า จะเรียนกัมมัฏฐานให้วิเศษอีก มาสู่สำนักของพระศาสดา ณ ป่าอันธวัน

ครั้งนั้น พรหมองค์หนึ่ง ผู้เคยเป็นภิกษุที่ทำสมณธรรมร่วมกันกับท่านในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า แล้วบรรลุอนาคามิผลไปบังเกิดในพรหมโลก มาจากพรหมโลก ถามปัญหา ๑๕ ข้อกะท่าน แล้วบอกกับท่านว่า

คนอื่นนอกจากพระศาสดาเสีย ไม่สามารถจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ท่านจงไป จงเรียนเนื้อความของปัญหาเหล่านี้ในสำนักของพระศาสดาเถิด

พระกุมารกัสสปเถระก็ได้บรรลุพระอรหัตผลในเวลาที่พระศาสดาทรงแก้ปัญหาจบ

ตั้งแต่วันที่พระเถระนั้นออกไปอยู่กับพระราชา นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาของท่านได้เศร้าโศกเสียใจ มีน้ำตานองหน้าตลอด ๑๒ ปี มีทุกข์เพราะพลัดพรากจากบุตร มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา

วันหนึ่ง นางเที่ยวไปเพื่อภิกษา เห็นพระเถระในระหว่างทาง จึงร้องว่า ลูก ลูก นางวิ่งเข้าไปเพื่อจะจับพระเถระ ได้ซวนเซล้มลง แล้วลุกขึ้นไปจับพระเถระ

พระเถระคิดว่าถ้าเราจะพูดถ้อยคำอันไพเราะ มารดาของตนจักฉิบหายเสีย ตนจักพูดกับนางด้วยคำกระด้าง พระเถระจึงกล่าวว่าท่านเที่ยวทำอะไรอยู่ จึงไม่อาจตัดความรักได้

นางคิดว่าถ้อยคำของพระเถระหยาบคาย กล่าวว่า ท่านพูดอะไร

พระเถระกล่าวอย่างนั้นอีกครั้ง นางจึงคิดว่านางไม่อาจอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ตลอด ๑๒ ปี เพราะบุตรคนนี้ แต่เธอมีหัวใจกระด้าง จะมีประโยชน์อะไรที่จะคร่ำครวญถึง นางได้ตัดความเสน่หาในบุตร แล้วบรรลุพระอรหัตผลในวันนั้นนั่นเอง

วันหนึ่ง ในเวลาเย็น พวกภิกษุประชุมกันในโรงธรรมสภา นั่งพรรณนาพระพุทธคุณว่า พระเทวทัตทำพระกุมารกัสสปเถระและพระเถรีให้พินาศ เพราะความที่ตนไม่รู้ และเพราะความไม่มีขันติและเมตตา แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นปัจจัยแก่ท่านทั้งสองนั้น เพราะพระองค์เป็นพระธรรมราชา และเพราะทรงถึงพร้อมด้วยพระขันติ พระเมตตา และความเอ็นดู

พระศาสดาเสด็จมายังโรงธรรมสภา ได้ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันอยู่ ได้ตรัสว่าทรงเป็นปัจจัยและเป็นที่พึ่งแก่ชนทั้งสองนี้ ในบัดนี้เท่านั้น หามิได้ แม้ในกาลก่อน ก็ได้เป็นแล้วเหมือนกัน แล้วจึงตรัสนิโครธชาดก โดยพิสดาร

นิโครธชาดก

ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในกำเนิดมฤคชาติ พระโพธิสัตว์เมื่อออกจากท้องของมารดา ได้มีสีเหมือนดังสีทอง นัยน์ตาทั้งสองเป็นเหมือนลูกแก้วมณีกลม เขาทั้งคู่มีสีดังเงิน หน้ามีสีดังผ้ากัมพลแดง ขนหางเป็นเหมือนขนจามรี เนื้อนั้นชื่อว่า นิโครธมิคราช มีบริวาร ๕๐๐ ในที่ไม่ไกลจากที่อยู่ของพระยาเนื้อนิโครธนั้น มีเนื้อชื่อสาขะ ซึ่งมีเนื้อ ๕๐๐ เป็นบริวาร อาศัยอยู่ แม้เนื้อสาขะก็มีสีดุจสีทอง

พระเจ้าพาราณสีทรงยินดีการล่าเนื้อ ทรงเสด็จไปล่าเนื้อทุกวัน ชาวเมืองทั้งหลายต้องตามเสด็จเพื่อช่วยไล่ต้อนเนื้อ เกิดความเดือดร้อนเพราะมิได้ทำการงานของตน จึงคิดกันว่า พวกเขาจะวางเหยื่อของเนื้อไว้ในพระราชอุทยาน จัดน้ำดื่มไว้ให้พร้อม ต้อนพวกเนื้อให้เข้าไปยังพระราชอุทยาน แล้วปิดประตู มอบถวายพระราชา

ชาวเมืองจึงปลูกผักที่เป็นเหยื่อของเนื้อไว้ในพระราชอุทยาน จัดน้ำดื่มไว้ให้พร้อม สร้างประตู ถือบ่วง มือถืออาวุธนานาชนิด เข้าป่าแสวงหาเนื้อ เมื่อพบแล้วได้ต้อนหมู่เนื้อนั้นให้เข้าพระราชอุทยาน แล้วปิดประตู แล้วพากันเข้าไปเฝ้าพระราชา แล้วกราบทูลความนั้น

พระราชาทรงสดับคำแล้ว ได้เสด็จไปพระราชอุทยานทอดพระเนตรเนื้อทั้งหลาย ทรงเห็นเนื้อสีทอง ๒ ตัว จึงได้พระราชทานอภัยแก่เนื้อทั้งสองนั้น
ตั้งแต่นั้นมา บางคราวเสด็จไปเอง ทรงฆ่าเนื้อตัวหนึ่งแล้วนำมา บางคราวพ่อครัวของพระองค์ไปฆ่าแล้วนำมา พวกเนื้อทั้งหลายเมื่อเห็นธนูเท่านั้น ก็กลัวตาย พากันหนีไป ลำบากไปบ้าง ป่วยไปบ้าง ถึงความตายบ้าง หมู่เนื้อจึงเล่าเหตุการณ์นั้นแก่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ไห้เรียกเนื้อสาขะมา แล้วกล่าวว่า

เนื้อเป็นอันมากพากันฉิบหาย เมื่อเนื้อมีอันจะต้องตายอยู่แล้ว ตั้งแต่นี้ไปผู้จะฆ่าจงอย่าเอาลูกศรยิงเนื้อ วาระของเนื้อทั้งหลายจงมีแก่บริวารของเราวันหนึ่ง จงมีแก่บริวารของท่านวันหนึ่งสลับกันไป เนื้อตัวที่ถึงวาระจงไปนอนพาดหัวที่ไม้ค้อนพิพากษา เมื่อเป็นเช่นนั้น เนื้อทั้งหลายจะได้ไม่กลัว เนื้อสาขะรับคำ

ตั้งแต่นั้นมา เนื้อที่ถึงวาระจะไปนอนพาดคอที่ไม้ค้อนพิพากษา พ่อครัวจะมาจับเอาเนื้อตัวที่นอนอยู่นั้นไป อยู่มาวันหนึ่ง ถึงวาระของแม่เนื้อผู้มีครรภ์ตัวหนึ่ง เป็นบริวารของเนื้อสาขะ แม่เนื้อนั้นเข้าไปหาเนื้อสาขะ แล้วกล่าวว่าตนมีครรภ์ เมื่อคลอดลูกแล้ว พวกตนทั้งสองจะไปตามวาระ ท่านจงให้ข้ามวาระของตนไปก่อน

เนื้อสาขะไม่ให้วาระแก่เนื้อตัวอื่น ๆ เจ้าเท่านั้นที่รู้ว่าเจ้ามีบุตร จงไปตามวาระของเจ้าเถอะ

แม่เนื้อนั้นไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเนื้อสาขะ จึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ เล่าเรื่องราวนั้น พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำของแม่เนื้อนั้นคิดว่าก็พระโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อนเห็นทุกข์ของคนอื่น ย่อมไม่ห่วงใยชีวิตของตน ประโยชน์ของผู้อื่นจากประโยชน์ตนเป็นสิ่งที่หนักกว่าสำหรับพระโพธิสัตว์เหล่านั้น เหล่านก ปศุสัตว์ มฤคในป่าทั้งหมด ย่อมเป็นอยู่ด้วยตนเอง

นักปราชญ์ทั้งหลายผู้สงบ ยินดีแล้วในประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ ย่อมกระทำผู้อื่นให้เป็นอยู่ ก็นักปราชญ์เหล่านั้น สละทรัพย์ อวัยวะ และชีวิต เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เรานั้นเป็นผู้สามารถจะกระทำเหล่าสัตว์เป็นอันมากพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามได้ด้วย ก็ความไม่มีบุญเพราะกายอันไร้สาระนี้ เราจักได้ลาภของท่านอันยั่งยืนด้วยตนเองแน่

ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงกล่าวกับแม่เนื้อนั้นว่า จงไปเถอะ เราจักให้วาระของเจ้าข้ามไป แล้วตนเองก็ไปนอนพาดศีรษะไว้ที่ไม้ค้อนพิพากษา

พ่อครัวเห็นดังนั้น คิดว่า เพราะเหตุอะไรพระยาเนื้อผู้ได้รับพระราชทานอภัยนอนอยู่ที่ไม้ค้อนพิพากษา จึงรีบไปกราบทูลพระราชา พระราชาเสด็จไปพร้อมด้วยบริวารใหญ่ เห็นพระโพธิสัตว์จึงตรัสถามว่าทรงให้อภัยแก่พระยาเนื้อไว้แล้ว เพราะเหตุไรจึงนอนอยู่ ณ ที่นี้

พระยาเนื้อกราบทูลความที่แม่เนื้อผู้มีครรภ์มาขอยังวาระของนางให้ถึงแก่เนื้อตัวอื่น ก็ท่านไม่อาจโยนมรณทุกข์ของเนื้อตัวหนึ่งไปยังเนื้อตัวอื่นได้ จึงให้ชีวิตของตนแก่แม่เนื้อนั้น ถือเอาความตายอันเป็นของแม่เนื้อนั้นแล้วจึงนอนอยู่ ณ ที่นี้

พระราชาตรัสว่า แม้ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ก็ไม่เคยเห็นคนผู้เพียบพร้อมด้วยขันติ เมตตา และความเอ็นดูเช่นกับท่าน ด้วยเหตุนั้น จึงเลื่อมใสท่าน ได้ให้อภัยแก่ท่านและแก่แม่เนื้อนั้น

พระโพธิสัตว์ได้ทูลขอพระราชทานอภัยให้กับเนื้อที่เหลือด้วย ทั้งในพระราชอุทยาน และนอกพระราชอุทยาน ตลอดทั้งสัตว์ ๔ เท้า หมู่นก พวกปลาที่อยู่ในน้ำ พระราชาตรัสให้อภัยแก่สรรพสัตว์นั้น

พระมหาสัตว์ได้ให้พระราชาคงอยู่ในศีล ๕ แล้ว ได้แสดงธรรมแก่พระราชาด้วยลีลาของพระพุทธเจ้าว่า

จงประพฤติธรรมในพระชนกชนนี ในพระโอรสพระธิดา ในพราหมณ์ คฤหบดี ในชาวนิคมและชาวชนบท เมื่อทรงประพฤติธรรม ประพฤติสม่ำเสมออยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

พระยาเนื้ออยู่ในอุทยาน ๒๓ วัน ให้โอวาทแก่พระราชาแล้ว เข้าสู่ป่าพร้อมด้วยหมู่เนื้อทั้งหลาย

แม่เนื้อนั้นได้ตกลูกออกมา ลูกเนื้อเมื่อเจริญวัย จะไปเล่นบริเวณที่อยู่ของเนื้อสาขะ มารดาได้กล่าวห้าม และให้โอวาทว่าพึงคบหาแต่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธเท่านั้น ไม่ควรเข้าไปอาศัยอยู่กับพระยาเนื้อชื่อว่าสาขะ ความตายในหมู่ของพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ ประเสริฐกว่า การมีชีวิตอยู่ในหมู่ของพระยาเนื้อสาขะ จะประเสริฐอะไร

ส่วนพวกเนื้อที่ได้รับอภัย พากันกินข้าวกล้าของพวกชาวบ้าน พวกชาวบ้านไม่อาจตีหรือไล่พวกเนื้อนั้น ด้วยรู้ว่าเนื้อเหล่านั้นได้รับพระราชทานอภัย จึงพากันประชุมที่พระลานหลวง กราบทูลแด่พระราชา พระองค์ตรัสว่าทรงมีความเลื่อมใส ให้พรแก่พระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ ถึงจะละราชสมบัติ ก็จะไม่ทำลายปฏิญญานั้น ใคร ๆ ย่อมไม่ได้รับอนุญาตประหารเนื้อทั้งหลายในแว่นแคว้นนี้

พระยาเนื้อนิโครธได้สดับเหตุการณ์นั้น จึงให้หมู่เนื้อประชุมกัน และโอวาทเนื้อทั้งหลายว่า แต่นี้ไป อย่าได้กินข้าวกล้าของคนอื่น แล้วได้บอกแก่มนุษย์ทั้งหลายว่าตั้งแต่นี้ไป อย่าทำรั้วเพื่อจะรักษาข้าวกล้า แต่จงผูกสัญญาด้วยใบไม้ ปักนาไว้

แต่นั้น จึงเกิดสัญญาในการผูกใบไม้ขึ้นในนาทั้งหลาย ชื่อว่าเนื้อผู้ล่วงละเมิดสัญญาในการผูกใบไม้ ย่อมไม่มี

พระโพธิสัตว์โอวาทหมู่เนื้ออย่างนี้แล้ว ดำรงอยู่ตลอดชั่วอายุพร้อมกับเนื้อทั้งหลาย ได้ไปตามยถากรรม ฝ่ายพระราชาทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ ทรงกระทำบุญทั้งหลายได้เสด็จไปตามยถากรรมแล้วเหมือนกัน

ก็ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงเทศนาว่าด้วยอริยสัจ ๔ แล้วทรงประชุมชาดกว่า

เนื้อชื่อสาขะในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต แม้บริวารของเนื้อสาขะนั้น ก็ได้เป็นบริวารของพระเทวทัตนั่นแหละ แม่เนื้อนั้นในครั้งนั้น ได้เป็นพระเถรี ลูกเนื้อในครั้งนั้นได้เป็นพระกุมารกัสสป พระราชาได้เป็นอานนท์ ส่วนพระยาเนื้อชื่อว่านิโครธ ได้เป็นเราตถาคต

เมื่อจะทรงประกาศความที่พระเถรีตัดความรักในบุตรแล้ว ทำที่พึ่งแก่ตนเองแล จึงตรัสว่า

เพราะบุคคลอาศัยคนอื่นไม่สามารถเพื่อจะมีสวรรค์หรือมรรคเป็นที่ไปในเบื้องหน้าได้ ฉะนั้น ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นจะทำอะไรได้
ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

ตนแลเป็นที่พึ่งของตน บุคคลอื่นใครเล่า พึงเป็นที่พึ่งได้
เพราะบุคคล มีตนฝึกฝน ดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่ง อันบุคคลได้โดยยาก

ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล

 

 

อ่าน
คาถาธรรมบท อัตตวรรค
อรรถกถาเรื่อง มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ

 

อ้างอิง
คาถาธรรมบท อัตตวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๒๒/๒๕ และอรรถกถาเรื่อง มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ ๔๒ หน้าที่ ๒๐๓-๒๐๘
ลำดับที่
29

อารมณ์

เมตตา

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ