Main navigation

กำเนิดชีวกโกมารภัจจ์

เหตุการณ์
ประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์

คนมีทรัพย์คณะหนึ่งชาวพระนครราชคฤห์ได้เดินทางไปพระนครเวสาลีด้วยกิจบางอย่าง ได้เห็นพระนครเวสาลีมั่งคั่งกว้างขวาง มีคนมาก คับคั่ง และมีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีสวนดอกไม้ ๗,๗๐๗ แห่ง มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ และมีหญิงงามเมืองชื่ออัมพปาลี เป็นสตรีทรงโฉมสคราญตา น่าเสน่หา ประกอบด้วยผิวพรรณเฉิดฉายยิ่ง ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง และประโคมดนตรี คนทั้งหลายที่มีความประสงค์ต้องการพาตัวไปร่วมอภิรมย์ด้วย ราคาตัวคืนละ ๕๐ กษาปณ์ พระนครเวสาลีงามเพริศพริ้งยิ่งกว่าประมาณเพราะนางอัมพปาลี หญิงงามเมืองนั้น

ครั้นพวกคนมีทรัพย์กลับมาพระนครราชคฤห์ ได้ไปเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้วกราบทูลถึงความมั่งคั่งของนครเวสาลีและนางอัมพปาลี หญิงงามเมือง แล้วกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า นครราชคฤห์ควรจะตั้งหญิงงามเมืองขึ้นบ้าง

พระเจ้าพิมพิสารทรงเห็นด้วย พวกคนมีทรัพย์ได้คัดเลือกกุมารีสาลวดีเป็นหญิงงามเมือง ไม่นานนัก นางก็ได้เป็นผู้ชำนาญในการฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงเครื่องดนตรี คนที่มีความประสงค์ต้องการตัวไปร่วมอภิรมย์ ราคาตัวคืนละ ๑๐๐ กษาปณ์

ไม่นาน นางสาลวดีหญิงงามเมืองก็ตั้งครรภ์ และคิดว่าสตรีมีครรภ์ไม่เป็นที่พอใจของพวกบุรุษ เกรงว่าลาภผลของนางจักเสื่อม จึงได้ปิดผู้อื่นว่าเป็นไข้ นางได้คลอดบุตรเป็นชาย และให้ทาสีนำทารกไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ

ก็ครั้งนั้น เวลาเช้า เจ้าชายอภัยกำลังเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ได้ทอดพระเนตรเห็นทารกที่ฝูงกาห้อมล้อมอยู่ยังมีชีวิต จึงนำไปที่วังให้นางนมเลี้ยง อาศัยคำว่า ยังเป็นอยู่ เจ้าชายจึงขนานนามทารกนั้นว่า ชีวก ตั้งนามสกุลว่า โกมารภัจจ์

 

 

 

อ้างอิง
พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๗ ข้อที่ ๑๒๘ หน้า ๒๔๑-๒๔๓
ลำดับที่
3

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ