Main navigation
สัตบุรุษ
Share:

(๑)  ก็สัตบุรุษเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษ


ธรรมของสัตบุรุษ

(๒)  สัตบุรุษผู้ฉลาด เฉียบแหลม ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ย่อมบริหารตนไม่ให้ถูกกำจัด ไม่ให้ถูกทำลาย ย่อมเป็นผู้ไม่มีโทษ วิญญูชนไม่พึงติเตียน และได้ประสบบุญเป็นอันมาก ธรรม ๓ ประการ คือ

กายกรรมที่สะอาด ๑
วจีกรรมที่สะอาด ๑
มโนกรรมที่สะอาด ๑

(๓) บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิตเฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนให้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ เป็นผู้หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ธรรม ๔ ประการ คือ

ใคร่ครวญ สืบสวนรอบคอบแล้ว

กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ๑
กล่าวสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑
ยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
ยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑

(๔)  สัตบุรุษย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้เป็นภูมิสัตบุรุษ

(๕) บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่าเป็นสัตบุรุษ คือ

สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถาม ก็ไม่เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้า ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว กล่าวความเสียหายของผู้อื่นโดยย่อไม่เต็มที่ พึงทราบว่า ท่านผู้นี้เป็นสัตบุรุษ

อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลก แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่
หน่วงเหนี่ยว กล่าวความดีของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง

อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความเสียหายของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็แก้ปัญหาโดยตรง  ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง

อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถาม ก็ไม่เปิดเผยความดีของตนจะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถามเล่า แต่เมื่อถูกถามเข้าก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม
หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่

บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ พึงทราบว่าเป็นอสัตบุรุษ คือ

อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความเสียหายของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามเข้า ก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของผู้อื่นเต็มที่อย่างกว้างขวาง

อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถาม ก็ไม่เปิดเผยความดีของผู้อื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวสรรเสริญคุณผู้อื่นโดยย่อ ไม่เต็มที่

อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ถูกถาม ก็ไม่เปิดเผยความเสียหายของตน จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม และเมื่อถูกถามแล้ว ก็ไม่แก้ปัญหาโดยตรง อ้อมค้อม หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความเสียหายของตนโดยย่อ ไม่เต็มที่

อีกประการหนึ่ง อสัตบุรุษในโลกนี้ แม้ไม่ถูกถาม ก็เปิดเผยความดีของตน จะกล่าวอะไรถึงถูกถามเล่า และเมื่อถูกถามแล้วก็แก้ปัญหาโดยตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่หน่วงเหนี่ยว แล้วกล่าวความดีของตนเต็มที่อย่างกว้างขวาง

(๖) สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง

๑. เป็นผู้รู้จักเหตุ (ธัมมัญญู)
๒. เป็นผู้รู้จักผล (อัตถัญญู)
๓. เป็นผู้รู้จักตน (อัตมัญญู)
๔. เป็นผู้รู้จักประมาณ (มัตตัญญู)
๕. เป็นผู้รู้จักกาล (กาลัญญู)
๖. เป็นผู้รู้จักบริษัท (ปริสัญญู)
๗. เป็นผู้รู้จักบุคคล (ปุคคลปโรปรัญญู)

(๗) ก็ภิกษุเป็นธัมมัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ธรรม คือ สุตตะ เคยยะ ไวยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ หากภิกษุไม่พึงรู้จักธรรม คือ สุตตะ ... เวทัลละ เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นธัมมัญญู

ก็ภิกษุเป็นอัตถัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักเนื้อความแห่งภาษิตนั้น ๆ ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ ๆ หากภิกษุไม่พึงรู้เนื้อความแห่งภาษิตนั้นๆ  ว่า นี้เป็นเนื้อความแห่งภาษิตนี้ๆ เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นอัตถัญญู

ก็ภิกษุเป็นอัตตัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เพียงเท่านี้ ถ้าภิกษุไม่
พึงรู้จักตนว่า เราเป็นผู้มีศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปฏิภาณ เพียงเท่านี้เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นอัตตัญญู

ก็ภิกษุเป็นมัตตัญญูอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ รู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หากภิกษุไม่พึงรู้จักประมาณในการรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นมัตตัญญู

ก็ภิกษุเป็นกาลัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น หากภิกษุไม่พึงรู้จักกาลว่า นี้เป็นกาลเรียน นี้เป็นกาลสอบถาม นี้เป็นกาลประกอบความเพียร นี้เป็นกาลหลีกออกเร้น เราไม่พึงเรียกว่าเป็นกาลัญญู

ก็ภิกษุเป็นปริสัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ นี้บริษัทคฤหบดี นี้บริษัทสมณะ ในบริษัทนั้น เราพึงเข้าไปหาอย่างนี้ พึงยืนอย่างนี้ พึงทำอย่างนี้ พึงนั่งอย่างนี้ พึงนิ่งอย่างนี้ หากภิกษุไม่รู้จักบริษัทว่า นี้บริษัทกษัตริย์ ... พึงนิ่งอย่างนี้ เราก็ไม่พึงเรียกว่าเป็นปริสัญญู

ก็ภิกษุเป็นปุคคลปโรปรัญญูอย่างไร

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ คือ บุคคล ๒ จำพวก คือ

พวกหนึ่งต้องการเห็นพระอริยะ พวกหนึ่งไม่ต้องการเห็นพระอริยะ

บุคคลที่ไม่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะ พึงได้รับความ
สรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ

บุคคลที่ต้องการเห็นพระอริยะก็มี ๒ จำพวก คือ

พวกหนึ่งต้องการจะฟังสัทธรรม พวกหนึ่งไม่ต้องการฟังสัทธรรม

บุคคลที่ไม่ต้องการฟังสัทธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ

บุคคลที่ต้องการฟังสัทธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ

พวกหนึ่งตั้งใจฟังธรรม พวกหนึ่งไม่ตั้งใจฟังธรรม

บุคคลที่ไม่ตั้งใจฟังธรรม พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรม พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุ
นั้น ๆ

บุคคลที่ตั้งใจฟังธรรมก็มี ๒ จำพวก คือ

พวกหนึ่งฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ พวกหนึ่งฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้

บุคคลที่ฟังแล้วไม่ทรงจำธรรมไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ

บุคคลที่ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ

พวกหนึ่งพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พวกหนึ่งไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้

บุคคลที่ไม่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ

บุคคลที่พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ก็มี ๒ จำพวก คือ

พวกหนึ่งรู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พวกหนึ่งหารู้อรรถรู้ธรรมแล้ว ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่

บุคคลที่หารู้อรรถรู้ธรรมปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม พึงได้รับความสรรเสริญ ด้วยเหตุนั้น ๆ

บุคคลที่รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ก็มี ๒ จำพวก คือ

พวกหนึ่งปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น พวกหนึ่งปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น

บุคคลที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น ๆ บุคคลที่ปฏิบัติทั้งเพื่อประโยชน์ตนและเพื่อประโยชน์ผู้อื่น พึงได้รับความสรรเสริญด้วยเหตุนั้น ๆ

ภิกษุเป็นผู้รู้จักบุคคลโดยส่วน ๒ ฉะนี้แล ภิกษุเป็นบุคคลปโรปรัญญูอย่างนี้แล


สัตบุรุษไม่ยกตน ข่มผู้อื่น

(๘) อสัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้ออกจากสกุลสูงบวชแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ออกจากสกุลสูง สกุลใหญ่ มีโภคะมาก มียศ บวชแล้ว ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้มิใช่เป็นผู้ออกจากสกุลสูง สกุลใหญ่ มีโภคะมาก มียศ บวชแล้ว อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีสกุลสูง สกุลใหญ่ มีโภคะมากนั้น นี้คือ อสัปปุริสธรรม

ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไปเพราะความเป็นผู้มีสกุลสูง สกุลใหญ่ มีโภคะมาก มียศ เลย ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ออกจากสกุลสูง สกุลใหญ่ มีโภคะมาก มียศ บวชแล้ว แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้น ๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นเพราะความเป็นผู้มีสกุลสูง สกุลใหญ่ มีโภคะมาก มียศ นั้น นี้คือ สัปปุริสธรรม

ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้ได้จีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะการได้นั้น แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม

ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะการได้ ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นผู้ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้น ๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติแต่ภายในเท่านั้น ไม่
ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะการได้นั้น แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม

ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นพหูสูต ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เราเป็นพหูสูต ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นพหูสูต เป็นพระวินัยธร เป็นพระธรรมกถึก เป็นผู้ถือธุดงควัตร อสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพหูสูต เป็นพระวินัยธร เป็นพระธรรมกถึก เป็นผู้ถือธุดงควัตร นั้น แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม

ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ย่อมไม่ถึงความหมดสิ้นไป เพราะความเป็นพหูสูต เป็นพระวินัยธร เป็นพระธรรมกถึก เป็นผู้ถือธุดงควัตร ถึงแม้ภิกษุไม่ใช่เป็นพหูสูต เป็นพระวินัยธร เป็นพระธรรมกถึก เป็นผู้ถือธุดงควัตร แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติธรรมอันสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญเธอในที่นั้น ๆ สัตบุรุษนั้นทำการปฏิบัติ แต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นพหูสูต เป็นพระวินัยธร เป็นพระธรรมกถึก เป็นผู้ถือธุดงควัตรนั้น แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม

ประการอื่นยังมีอีก อสัตบุรุษเป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ ส่วนภิกษุอื่นเหล่านี้ ไม่ใช่เป็นผู้ได้ปฐมฌานสมาบัติ ทุติยฌานสมาบัติ ตติยาฌานสมาบัติ จตุตถฌานสมาบัติ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ อากิญจัญญายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติอสัตบุรุษนั้นจึงยกตน ข่มผู้อื่น ด้วยฌานสมาบัตินั้น แม้นี้ก็คือ อสัปปุริสธรรม

ส่วนสัตบุรุษแล ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า แม้ปฐมฌานสมาบัติ ทุติยฌานสมาบัติ ตติยาฌานสมาบัติ จตุตถฌานสมาบัติ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ อากิญจัญญายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า ไม่มีตัณหาแล้ว เพราะคนทั้งหลายสำคัญกันด้วยเหตุใด ๆ เหตุนั้น ๆ ย่อมเป็นอย่างอื่นจากที่สำคัญนั้น สัตบุรุษนั้นทำความไม่มีตัณหาแต่ภายในเท่านั้น ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยฌานสมาบัตินั้น แม้นี้ก็คือ สัปปุริสธรรม


วิถีของสัตบุรุษ

(๙)  สัตบุรุษย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษ ภักดีต่อสัตบุรุษ มีความคิดอย่างสัตบุรุษ มีความรู้อย่างสัตบุรุษ มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษ มีการงานอย่างสัตบุรุษ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษ

สัตบุรุษเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษอย่างไร คือ

สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา

สัตบุรุษเป็นผู้ภักดีต่อสัตบุรุษอย่างไร คือ

สัตบุรุษในโลกนี้ มีสมณพราหมณ์ชนิดที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ มีสุตะมาก มีความเพียรปรารภแล้ว มีสติตั้งมั่น มีปัญญา เป็นมิตร เป็นสหาย

สัตบุรุษเป็นผู้มีความคิดอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ

สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมไม่คิดเบียดเบียนตนเอง ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย

สัตบุรุษเป็นผู้มีความรู้อย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ

สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมไม่รู้เพื่อเบียดเบียนตนเอง ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่รู้เพื่อเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย

สัตบุรุษเป็นผู้มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ

สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากคำพูดส่อเสียด งดเว้นจากคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ

สัตบุรุษเป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ

สัตบุรุษในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล สัตบุรุษชื่อว่าเป็นผู้มีการงานอย่างสัตบุรุษ
           
สัตบุรุษเป็นผู้มีความเห็นอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ

สัตบุรุษในโลกนี้เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า

ทานที่ให้แล้ว มีผล ยัญที่บูชาแล้ว มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่ว มีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกมีอยู่
           
สัตบุรุษย่อมให้ทานอย่างสัตบุรุษอย่างไร คือ

สัตบุรุษในโลกนี้ ย่อมให้ทานโดยเคารพ ทำความอ่อนน้อมให้ทาน ให้ทานอย่างบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความเห็นว่ามีผล จึงให้ทาน

สัตบุรุษเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของสัตบุรุษอย่างนี้ ภักดีต่อสัตบุรุษอย่างนี้ มีความคิดอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีความรู้อย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีถ้อยคำอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีการงานอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษอย่างนี้ ให้ทานอย่างสัตบุรุษอย่างนี้แล้ว เมื่อตายไป ย่อมบังเกิดในคติของสัตบุรุษ

ก็คติของสัตบุรุษคืออะไร คือ

ความเป็นผู้มีตนเป็นผู้ควรบูชาในเทวดา หรือในมนุษย์


สัตบุรุษเกิดมาเพื่อประโยชน์ของมหาชน

(๑๐) สัปบุรุษเมื่อเกิดในตระกูล ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่ชนเป็นอันมาก คือ ย่อมเกิดเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข

แก่มารดาบิดา ๑
แก่บุตรภรรยา ๑
แก่ทาสกรรมกร ๑
แก่มิตรอำมาตย์ ๑
แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ๑
แก่พระราชา ๑
แก่เทวดาทั้งหลาย ๑
แก่สมณพราหมณ์ ๑

มหาเมฆเมื่อตกให้ข้าวกล้าเจริญงอกงาม ย่อมตกเพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก ฉันใด สัปบุรุษก็ฉันนั้นเหมือนกัน

สัปบุรุษผู้มีปัญญาอยู่ครองเรือน เป็นผู้ไม่เกียจคร้านทั้งกลางคืนกลางวัน บำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่ชนเป็นอันมากในชั้นต้นระลึกถึงอุปการะที่ท่านทำไว้ก่อน ย่อมบูชามารดาบิดาโดยชอบธรรม

สัปบุรุษผู้มีศรัทธาตั้งมั่นแล้ว และมีศีลเป็นที่รัก ทราบธรรมแล้ว ย่อมบูชาบรรพชิตผู้ไม่ครองเรือนผู้ไม่มีบาปประพฤติพรหมจรรย์

สัปบุรุษนั้นเป็นผู้เกื้อกูลต่อพระราชา ต่อเทวดา ต่อญาติและสหายทั้งหลาย ตั้งมั่นแล้วในสัทธรรม เป็นผู้เกื้อกูลแก่คนทั้งปวง

สัปบุรุษนั้นกำจัดมลทินคือความตระหนี่ได้แล้ว ย่อมประสบโลกอันเกษม

(๑๑) บุคคลควรนั่งร่วมกับพวกสัตบุรุษ ควรทำความสนิทกับพวกสัตบุรุษ บุคคลทราบสัทธรรมของพวกสัตบุรุษแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

(๑๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์และชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์และชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการลักทรัพย์

ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกามและชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จและชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ

ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการกล่าวคำส่อเสียดด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นให้เว้นขาดจากการกล่าวคำส่อเสียดอีกด้วย

ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นให้เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบอีกด้วย

ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นให้เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อเจ้ออีกด้วย

ตนเองเป็นผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาทและชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท

บุคคลนี้เรียกว่า สัตบุรุษที่ยิ่งกว่าสัตบุรุษ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความถึงพร้อมด้วยศรัทธาอีกด้วย

เป็นผู้มีหิริด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความเป็นผู้มีหิริอีกด้วย

เป็นผู้มีโอตตัปปะด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความเป็นผู้มีโอตตัปปะอีกด้วย

เป็นผู้มีสติตั้งมั่นด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความมีสติตั้งมั่นอีกด้วย

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความถึงพร้อมด้วยปัญญาอีกด้วย

บุคคลนี้เราเรียกว่าสัปบุรุษที่ยิ่งกว่าสัปบุรุษ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มักโลภด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความไม่มักโลภอีกด้วย

เป็นผู้ไม่มีจิตพยาบาทด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความไม่มีจิตพยาบาทอีกด้วย

เป็นผู้มีความเห็นชอบด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความเห็นชอบอีกด้วย

บุคคลนี้เราเรียกว่าสัปบุรุษที่ยิ่งกว่าสัปบุรุษ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นชอบด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความเห็นชอบอีกด้วย

เป็นผู้มีความดำริชอบด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความดำริชอบอีกด้วย

เป็นผู้มีวาจาชอบด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในวาจาชอบอีกด้วย

เป็นผู้มีการงานชอบด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการงานชอบอีกด้วย

เป็นผู้มีอาชีพชอบด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในอาชีพชอบอีกด้วย

เป็นผู้มีความพยายามชอบด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในความพยายามชอบอีกด้วย

เป็นผู้ตั้งสติชอบด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นในการตั้งสติชอบอีกด้วย

เป็นผู้ตั้งใจมั่นด้วยตนเองและชักชวนผู้อื่นในความตั้งใจมั่นอีกด้วย

บุคคลนี้เราเรียกว่าสัปบุรุษที่ยิ่งกว่าสัปบุรุษ


บุคคลควรคบสัตบุรุษ

(๑๓) ท่านควรคบสัตบุรุษ เพราะเมื่อใดท่านคบสัตบุรุษ เมื่อนั้นท่านจักได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ เมื่อท่านได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ ท่านจักปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เมื่อท่านปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ท่านจักรู้เอง เห็นเองว่า โรค ฝี ลูกศร คืออันนี้ โรค ฝี ลูกศร จะดับไปโดยไม่เหลือในที่นี้

เพราะอุปาทานของเรานั้นดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสก็ดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยประการฉะนี้

 

 

อ้างอิง:
(๑) อสัปปุริสสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๗๒ หน้า ๑๙
(๒) ขตสูตรที่ ๔ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๙๓ หน้า ๒๘๕
(๓) ขตสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๓ หน้า ๓
(๔) สมจิตวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๒๗๗ หน้า ๕๘
(๕) สัปปุริสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๗๓
(๖) สังคีติสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๑ ข้อที่ ๓๓๑
(๗) ธัมมัญญูสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๖๕
(๘) สัปปุริสสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๑๗๘-๑๙๗ หน้าที่ ๑๑๓ - ๑๒๒
(๙) จูฬปุณณมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๑๔๓-๑๕๒ หน้า ๘๗-๘๙
(๑๐) สัปปุริสสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๑๒๘ หน้า ๑๙๐
(๑๑) สัพภิสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๘๕
(๑๒) สัปปุริสวรรคที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๒๐๑-๒๐๕
(๑๓) มาคัณฑิยสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๒๙๑ หน้า ๒๒๐
 
 
 
 

คำต่อไป