Main navigation
กรรม
Share:

(๑) กรรม คือเจตนา บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ

เหตุเกิดแห่งกรรม คือ ผัสสะ

ความต่างแห่งกรรม คือ

กรรมที่ให้วิบากในนรก
ที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
ที่ให้วิบากในเปรตวิสัย
ที่ให้วิบากในมนุษยโลก
ที่ให้วิบากในเทวโลก

วิบากแห่งกรรม มี ๓ ประการ คือ

กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน ๑
กรรมที่ให้ผลในภพที่เกิด ๑
กรรมที่ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป ๑

ความดับแห่งกรรม ย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ

ปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม คือ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม

ก็เมื่อใด อริยสาวกย่อมทราบชัดกรรม เหตุเกิดแห่งกรรม ความต่างแห่งกรรม วิบากแห่งกรรม ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งกรรมอย่างนี้  เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นย่อมทราบชัดพรหมจรรย์ อันเป็นไปในส่วนแห่งความชำแรกกิเลสเป็นที่ดับกรรมนี้

(๒) เมื่อตาย สัตว์ทั้งหลายจักไปตามกรรม เข้าถึงผลแห่งบุญและบาป คือ ผู้มีกรรมเป็นบาป จักไปสู่นรก ส่วนผู้มีกรรมเป็นบุญ จักไปสู่สุคติ เพราะฉะนั้น พึงทำกรรมงามอันจะนำไปสู่สัมปรายภพ สั่งสมไว้ บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก

(๓) สัตว์ทั้งหลายเมื่อตายไปแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคะ ความเสื่อมเพราะโรค (แต่ว่า) สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะเหตุแห่งความเสื่อมศีล หรือเพราะเหตุแห่งความเสื่อมทิฐิ

(๔)  บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนชั่วเพราะชาติก็หาไม่ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ ที่แท้ ชื่อว่าเป็นคนชั่วเพราะกรรม ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นศิลปินเพราะกรรม เป็นพ่อค้าเพราะกรรม เป็นคนรับใช้เพราะกรรม แม้เป็นโจรก็เพราะกรรม แม้เป็นทหารก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตเพราะกรรม แม้เป็นพระราชาก็เพราะกรรม

บัณฑิตทั้งหลายมีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า

โลกย่อมเป็นไปเพราะกรรม
หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม
สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้ในกรรม
เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไปฉะนั้น

(๕) วิบากแห่งกรรมเป็นอจินไตย อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิด พึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน

(๖) ก็กรรมเก่าเป็นไฉน

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า อันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา นี้เราเรียกว่า กรรมเก่า

ก็กรรมใหม่เป็นไฉน

กรรมที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา ใจ ในบัดนี้ นี้เราเรียกว่า กรรมใหม่

ก็ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน

นิโรธที่ถูกต้องวิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม นี้เราเรียกว่า ความดับแห่งกรรม

ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรมเป็นไฉน

อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑  นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับกรรม

(๗) บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่างต่างกันเหล่านี้ คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่าในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรมว่ามีโทษมากเหมือนมโนกรรมหามิได้ (ความจงใจในการทำกรรมเกิดจากมโนกรรม ใจที่ประทุษร้ายหนึ่งดวงสร้างโทษได้มาก)

เพราะกรรมให้ผล ภพจึงมี

(๘) ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในกามธาตุไม่มีแล้ว กามภพไม่พึงปรากฏ

เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างเลวของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก

ก็กรรมที่อำนวยผลให้ในรูปธาตุไม่มีแล้ว รูปภพไม่พึงปรากฏ

เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างกลางของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก

ก็กรรมที่อำนวยผลให้อรูปธาตุจักไม่มีแล้ว อรูปภพไม่พึงปรากฏ

เหตุนี้แล กรรมจึงชื่อว่าเป็นไร่นา วิญญาณชื่อว่าเป็นพืช ตัณหาชื่อว่าเป็นยาง เจตนา ความปรารถนาประดิษฐานแล้ว เพราะธาตุอย่างประณีตของสัตว์พวกที่มีอวิชชาเป็นเครื่องสกัดกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกใจ ด้วยประการฉะนี้ จึงมีการเกิดในภพใหม่ต่อไปอีก

ภพย่อมมีได้ด้วยเหตุดังกล่าวมาฉะนี้แล


การชำระกรรม ๓

(๙) พิจารณาก่อนทำ

เธอปรารถนาจะทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เธอพึงพิจารณาเสียก่อนว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่นบ้าง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี้เป็นอกุศลมีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ

ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใด กรรมของเรานี้ พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเห็นปานนี้ เธอไม่พึงทำ

แต่ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราปรารถนาจะทำกรรมใด กรรมของเรานี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนทั้งผู้อื่น กรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ ายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเห็นปานนั้น เธอพึงทำ

พิจารณาขณะทำ

แม้เมื่อเธอกำลังทำกรรมใดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เธอก็พึงพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนมกรรม นั้นแหละว่า เรากำลังทำกรรมใด กรรมของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ

ถ้าเมื่อเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำกรรมใด กรรมของเรานี้ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเลิกกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเห็นปานนั้นเสีย

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราทำกรรมใด กรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงเพิ่มกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้นแหละ

พิจารณาหลังทำ

แม้เธอทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจแล้ว เธอก็พึงพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้นแหละว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใด กรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากกระมังหนอ

ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใด กรรมของเรานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กรรมนี้เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบากดังนี้ไซร้ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้น เธอพึงแสดง เปิดเผย ทำให้ตื้น ในพระศาสนา หรือในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้วิญญู แล้วพึงสำรวมต่อไป

แต่ถ้าเธอพิจารณาอยู่ พึงรู้อย่างนี้ว่า เราได้ทำแล้วซึ่งกรรมใด กรรมของเรานี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง และเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง กายกรรมนี้เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบากดังนี้ไซร้ เธอพึงมีปีติและปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้นแหละ

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ในอนาคตกาล ได้ชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมแล้ว สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหมดนั้นพิจารณาๆ อย่างนี้นั่นเอง แล้วจึงชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม


วิบากแห่งกรรม

(๑๐) กรรมฝ่ายอกุศลกรรมที่แก้ไขไม่ได้ (อนันตริยกรรม)

บุคคล ๕ จำพวกนี้ เป็นผู้ต้องไปอบายต้องไปนรก เดือดร้อน แก้ไขไม่ได้ คือ

บุคคลผู้ฆ่ามารดา ๑
ผู้ฆ่าบิดา ๑
ผู้ฆ่าพระอรหันต์ ๑
ผู้มีจิตประทุษร้ายทำโลหิตของพระตถาคตให้ห้อ ๑
ผู้ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ๑

(๑๑)  บุคคล ๓ จำพวกนี้ ไม่ละบาปกรรม ๓ อย่างนี้ จักต้องไปอบาย จักต้องไปนรก คือ

ผู้ที่ไม่ใช่พรหมจารีแต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารี ๑
คนที่ตามกำจัดท่านที่มีพรหมจรรย์บริสุทธิ์ ประพฤติพรหมจรรย์หมดจด ด้วยกรรมเป็นข้าศึกแก่พรหมจรรย์อันไม่มีมูล ๑
คนที่มีวาทะอย่างนี้ มีทิฐิอย่างนี้ว่า โทษในกามไม่มี ถึงความเป็นผู้ตกไปในกามทั้งหลาย ๑

(๑๒) บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ นี้ ย่อมเกิดในนรก เหมือนถูกนำมาทิ้งลง ธรรม ๔ ประการ คือ

กายกรรมอันมีโทษ มีความเบียดเบียน ๑
วจีกรรมอันมีโทษ มีความเบียดเบียน ๑
มโนกรรมอันมีโทษ มีความเบียดเบียน ๑
ทิฐิอันมีโทษ มีความเบียดเบียน ๑

บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเกิดในสวรรค์เหมือนเชิญมาประดิษฐานไว้ ธรรม ๔ ประการ คือ

กายกรรมอันไม่มีโทษ ไม่มีความเบียดเบียน ๑
วจีกรรมอันไม่มีโทษ ไม่มีความเบียดเบียน ๑
มโนกรรมอันไม่มีโทษ ไม่มีความเบียดเบียน ๑
ทิฐิอันไม่มีโทษ ไม่มีความเบียดเบียน ๑


(๑๓)  ผู้ปิดทางอบาย

บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะความสิ้นไปรอบแห่งสังโยชน์ทั้ง ๓ เป็นโสดาบัน มีอันไม่ไปเกิดในอบายเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยง จะได้ตรัสรู้ในเบื้องหน้า บุคคลนั้นจะแล่นไปท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ไม่เกิน ๗ ชาติ แล้วทำที่สุดทุกข์ได้


กรรมเป็นเหตุให้ต้องกระเสือกกระสน

(๑๔) ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นไฉน

สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของ ๆ ตน เป็นผู้รับผลของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กระทำกรรมใดไว้ เป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

ผู้ฆ่าสัตว์ หยาบช้า ตั้งอยู่ในการฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์ที่มีชีวิต ผู้ลักทรัพย์ ผู้ประพฤติผิดในกาม ผู้พูดเท็จ ผู้พูดส่อเสียด ผู้พูดคำหยาบ ผู้พูดเพ้อเจ้อ ผู้อยากได้ของผู้อื่น ผู้คิดปองร้าย ผู้มีความเห็นผิด คือมีความเห็นวิปริตว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล การบูชาไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ไม่มีในโลก

บุคคลนั้นย่อมกระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาคด วจีกรรมของเขาก็คด มโนกรรมของเขาคด คติของเขาก็คด อุบัติของเขาก็คด

เรากล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ นรกอันมีทุกข์โดยส่วนเดียว หรือกำเนิดดิรัจฉานอันมีปรกติกระเสือกกระสนของบุคคลผู้มีคติคด ผู้มีอุบัติอันคด

ก็กำเนิดดิรัจฉานมีปรกติกระเสือกกระสนนั้นเป็นไฉน

คือ งู แมลงป่อง ตะขาบ พังพอน แมว หนู นกเค้าแมว หรือสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานเหล่าใดเหล่าหนึ่ง แม้อื่น ๆ ที่เห็นมนุษย์แล้วย่อมกระเสือกกระสน

การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้วด้วยประการดังนี้ คือ เขาย่อมอุปบัติด้วยกรรมที่เขาทำ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว 

เราย่อมกล่าวว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้รับผลของกรรมด้วยประการฉะนี้ คือ เขาย่อมอุบัติด้วยกรรมที่เขาทำ ผัสสะอันเป็นวิบากย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว

บุคคลบางคนในโลกนี้ ละการฆ่าสัตว์เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางศาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ละการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม ละการพูดเท็จเว้นขาดจากการพูดเท็จ ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากคำส่อเสียด ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ ละการพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ เป็นผู้ไม่อยากได้ของผู้อื่น  เป็นผู้มีจิตไม่คิดปองร้าย เป็นผู้มีความเห็นชอบ คือ มีความเห็นไม่วิปริตว่า ทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทำดีทำชั่วมีอยู่ โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นอุปปาติกะมีอยู่ สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ผู้ปฏิบัติชอบ ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม มีอยู่ในโลก

บุคคลนั้นย่อมไม่กระเสือกกระสนด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ กายกรรมของเขาตรง วจีกรรมของเขาก็ตรง มโนกรรมของเขาก็ตรง คติของเขาก็ตรง การอุบัติของเขาก็ตรง

เราย่อมกล่าวคติ ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ของบุคคลผู้มีคติอันตรง ผู้มีการอุบัติอันตรง คือสัตว์ทั้งหลายผู้มีสุขโดยส่วนเดียว หรือสกุลที่สูง ๆ คือสกุลกษัตริย์มหาศาล สกุลพราหมณ์มหาศาล หรือ สกุลคฤหบดีมหาศาล อันมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีเงินทองมาก มีเครื่องอุปกรณ์แห่งทรัพย์เครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์และข้าวเปลือกมาก

การอุบัติของสัตว์ย่อมมีเพราะกรรมอันมีแล้วด้วยประการดังนี้ คือ สัตว์นั้นย่อมอุบัติด้วยกรรมที่ตนทำไว้ ผัสสะอันเป็นวิบากทั้งหลายย่อมถูกต้องเขาผู้อุบัติแล้ว


(๑๒) กรรม ๔ ประการนี้ เรากระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้ทราบ คือ

กรรมดำมีวิบากดำก็มี
กรรมขาวมีวิบากขาวก็มี
กรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็มี
กรรมไม่ดำไม่ขาวมีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมก็มี

ก็กรรมดำ มีวิบากดำเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร อันมีความเบียดเบียน ครั้นแล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน ผัสสะอันมีความเบียดเบียนย่อมถูกต้องบุคคลนั้น ผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียน เขาอันผัสสะที่มีความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนาที่มีความเบียดเบียน เป็นทุกข์โดยส่วนเดียว เปรียบเหมือนสัตว์นรก นี้เราเรียกว่ากรรมดำมีวิบากดำ

บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท นี้เราเรียกว่ากรรมดำมีวิบากดำ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่ามารดา ฆ่าบิดา ฆ่าพระอรหันต์ มีจิตประทุษร้ายต่อพระตถาคต ยังพระโลหิตให้ห้อขึ้น ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน นี้เราเรียกว่ากรรมดำมีวิบากดำ

(๑๕) บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขารอันมีความทุกข์ ประมวลวจีสังขารอันมีความทุกข์ ประมวลมโนสังขารอันมีความทุกข์ ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันมีความทุกข์ ผัสสะอันประกอบด้วยทุกข์ ย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกอันมีทุกข์ เขาอันผัสสะประกอบด้วยทุกข์ถูกต้อง ย่อมเสวยเวทนาอันประกอบด้วยทุกข์ อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียวดุจสัตว์นรก

เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว แม้เพราะอย่างนี้เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้ เรากล่าวว่ากรรมดำมีวิบากดำ

ก็กรรมขาว มีวิบากขาวเป็นไฉน

(๑๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารอันไม่มีความเบียดเบียน ครั้นแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน ผัสสะอันไม่มีความเบียดเบียนย่อมถูกต้องบุคคลนั้น ผู้เข้าถึงโลกที่ไม่มีความเบียดเบียน เขาอันผัสสะที่ไม่มีความเบียดเบียนถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนาอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุขโดยส่วนเดียว เปรียบเหมือนเทพชั้นสุภกิณหะ นี้เราเรียกว่ากรรมขาวมีวิบากขาว

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มากไปด้วยความเพ่งเล็ง มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ นี้เราเรียกว่ากรรมขาวมีวิบากขาว

(๑๕) บุคคลบางคนในโลกนี้ประมวลกายสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลวจีสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลมโนสังขารอันไม่มีความทุกข์ ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ ผัสสะอันไม่มีความทุกข์ย่อมถูกต้อง เขาผู้เข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ เขาอันผัสสะไม่มีความทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความทุกข์ เป็นสุขโดยส่วนเดียวดุจเทพชั้นสุภกิณหะ

เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว ดูกรปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าว สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมขาว มีวิบากขาว

ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวเป็นไฉน

(๑๒) บุคคลบางคนในโลกนี้ ปรุงแต่งกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารอันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ครั้นแล้วย่อมเข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ผัสสะอันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง ย่อมถูกต้องบุคคลนั้น ผู้เข้าถึงโลกที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง เขาอันผัสสะที่มีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้างถูกต้องแล้ว ย่อมได้เสวยเวทนาอันมีความเบียดเบียนบ้าง ไม่มีความเบียดเบียนบ้าง มีทั้งสุขและทั้งทุกข์ระคนกัน เปรียบเหมือนมนุษย์ เทพบางพวก และวินิปาติกสัตว์บางพวก นี้เราเรียกว่ากรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

(๑๕) บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลวจีสังขารอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ผัสสะอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ย่อมถูกต้องเขา ผู้เข้าถึงโลก อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง เขาอันผัสสะที่มีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง มีทั้งสุขและทุกข์ระคนกัน ดุจพวกมนุษย์ เทพบางเหล่า และสัตว์วินิบาตบางเหล่า

เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้เรากล่าวว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว

ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมเป็นไฉน

(๑๒) เจตนาใดเพื่อละกรรมดำอันมีวิบากดำในบรรดากรรมเหล่านั้นก็ดี เจตนาใดเพื่อละกรรมขาวอันมีวิบากขาวก็ดี เจตนาใดเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาวมีวิบากทั้งดำทั้งขาวก็ดี นี้เราเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ นี้เราเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ นี้เราเรียกว่ากรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม


การเสวยวิบากกรรม

(๑๖) เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น ก็วิบากนั้นอันสัตว์ผู้ทำพึงได้เสวยในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียะ) ในอัตภาพถัดไป (อุปปัชชเวทนียะ) หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไป (อปราปรเวทนียะ)

วิบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง (ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม)
การงานทางวาจา ๔ อย่าง (พูดเท็จทั้งที่รู้ พูดส่อเสียดให้คนแตกกัน พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม)
การงานทางใจ ๓ อย่าง (อยากได้ของผู้อื่น คิดปองร้าย มีมิจฉาทิฏฐิ)
อันมีความตั้งใจเป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก

สมบัติแห่งการงานทางกาย ๓ อย่าง  (ละจากการฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม)
การงานทางวาจา ๔ อย่าง (ละจากการพูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ พูดจาอิงอรรถ อิงธรรม)
การงานทางใจ ๓ อย่าง (ไม่อยากได้ของผู้อื่น ไม่คิดปองร้าย มีสัมมาทิฏฐิ)
อันมีความตั้งใจเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก


(๑๗) ผู้ใดกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำบาปไว้อย่างไร เขาจะต้องเสวยกรรมนั้นอย่างนั้น ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของผู้นั้นย่อมมีไม่ได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบ ย่อมไม่ปรากฏ

ส่วนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษนี้ทำกรรมที่จะต้องเสวยผลไว้ด้วยอาการใด ๆ เขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้นด้วยอาการนั้น ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ของผู้นั้นย่อมมีได้ โอกาสที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบย่อมปรากฏ

บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมเพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นย่อมให้ผลทันตาเห็นเฉพาะส่วนที่มาก แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ

บุคคลเช่นไร ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อยบาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่อบรมกาย ไม่อบรมศีล ไม่อบรมจิต ไม่อบรมปัญญา มีคุณน้อย มีอัตภาพเล็ก มีปรกติอยู่เป็นทุกข์ เพราะวิบากเล็กน้อย บุคคลเช่นนี้ ทำบาปกรรมแม้เล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก

บุคคลเช่นไรเล่า ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็นเฉพาะส่วนที่มาก แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ

บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญา มีคุณไม่น้อย มีอัตภาพใหญ่ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่หาประมาณมิได้ บุคคลเช่นนี้ทำบาปกรรมเล็กน้อยเช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็นเฉพาะส่วนที่มาก แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ

เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือลงในขันใบน้อย น้ำในขันเพียงเล็กน้อยนั้น พึงเค็มดื่มกินไม่ได้ เพราะก้อนเกลือโน้นใช่ไหม เพราะในขันน้ำมีน้ำนิดหน่อย ฉะนั้นน้ำนั้นจึงเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะก้อนเกลือนี้

เปรียบเหมือนบุรุษพึงใส่ก้อนเกลือลงในแม่น้ำคงคา แม่น้ำคงคาไม่พึงเค็ม ดื่มไม่ได้ เพราะก้อนเกลือโน้น เพราะในแม่น้ำคงคานั้น มีห้วงน้ำใหญ่ ฉะนั้น ห้วงน้ำใหญ่นั้นจึงไม่เค็ม ดื่มได้

บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง หนึ่งกหาปณะบ้าง ร้อยกหาปณะบ้าง ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะ แม้เพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะ แม้เพราะทรัพย์ตั้งร้อยกหาปณะ

ก็บุคคลเช่นไรเล่า ถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง หนึ่งกหาปณะบ้าง ร้อยกหาปณะบ้าง

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนขัดสน มีสิ่งของของตนน้อย มีโภคทรัพย์น้อย บุคคลเช่นนี้ย่อมถูกจองจำเพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะบ้าง หนึ่งกหาปณะบ้าง ร้อยกหาปณะบ้าง

บุคคลเช่นไรเล่า ไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะ แม้เพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะ แม้เพราะทรัพย์ร้อยกหาปณะ

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์เหลือเฟือ มีโภคะมากมาย บุคคลเช่นนี้ย่อมไม่ถูกจองจำแม้เพราะทรัพย์กึ่งกหาปณะ แม้เพราะทรัพย์หนึ่งกหาปณะ แม้เพราะทรัพย์ร้อยกหาปณะ

เปรียบเหมือนเจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะบางคน สามารถที่จะฆ่า หรือจองจำ หรือเอาไฟเผาคนลักแกะ หรือทำตามที่ตนปรารถนา บางคนไม่สามารถที่จะฆ่า หรือจองจำ หรือเอาไฟเผาคนลักแกะ หรือทำตามที่ตนปรารถนาได้

เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไรเล่า สามารถที่จะฆ่า หรือจองจำ หรือเอาไฟเผาคนลักแกะ หรือทำตามที่ตนปรารถนา

เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะบางคนในโลกนี้ เป็นคนขัดสน มีสิ่งของของตนน้อย มีโภคทรัพย์น้อย เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ สามารถที่จะฆ่า หรือจองจำคนลักแกะ หรือเอาไฟเผา หรือทำตามที่ตนปรารถนา

เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นไรเล่า ไม่สามารถที่จะฆ่า หรือจองจำ หรือเอาไฟเผาคนลักแกะ หรือทำตามที่ตนปรารถนา

เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะบางคนในโลกนี้ เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะเหลือเฟือ เป็นพระราชา หรือมหาอำมาตย์ของพระราชา เจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะเช่นนี้ ไม่สามารถที่จะฆ่า หรือจองจำ หรือเอาไฟเผาคนลักแกะ หรือทำตามที่ตนปรารถนา ความจริงเจ้าของแกะหรือคนฆ่าแกะนั้น ย่อมจะเป็นผู้ประนมมือขอเขาได้ว่า ข้าแต่ท่าน ขอท่านจงให้แกะหรือทรัพย์ที่เป็นมูลค่าของแกะแก่ฉันเถิด

ฉันนั้นเหมือนกัน บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำบาปกรรมไว้เพียงเล็กน้อย บาปกรรมนั้นก็นำเขาเข้านรก ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ได้ทำบาปกรรมเล็กน้อยไว้เช่นนั้นเหมือนกัน บาปกรรมนั้นให้ผลทันตาเห็นเฉพาะส่วนที่มาก แต่ส่วนน้อยไม่ปรากฏ


(๑๘) บุคคลทำกรรมชนิดที่ประกอบด้วยความจงใจแล้วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจอันให้ผลเป็นสุข เขาย่อมเสวยสุข อันให้ผลเป็นทุกข์ เขาย่อมเสวยทุกข์ อันให้ผลไม่ทุกข์ไม่สุข เขาย่อมเสวยอทุกขมสุข

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี

เป็นอันว่า เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีมิจฉาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็แหละบุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง มักถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักเจรจาเพ้อเจ้อ มากด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็มี

เป็นอันว่า เขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อน ๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีสัมมาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไปจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็แหละบุคคลที่เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ฯลฯ มีความเห็นผิดในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากพูดส่อเสียด เว้นขาดจากพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็มี

เป็นอันว่า เขาทำกรรมดีที่ให้ผลเป็นสุขไว้ในกาลก่อน ๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีสัมมาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ก็แหละบุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบากของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากพูดส่อเสียด เว้นขาดจากพูดคำหยาบ เว้นขาดจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ไม่มากด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบอยู่ในโลกนี้ เขาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็มี

เป็นอันว่า เขาทำกรรมชั่วที่ให้ผลเป็นทุกข์ไว้ในกาลก่อน ๆ หรือในกาลภายหลัง หรือว่ามีมิจฉาทิฐิพรั่งพร้อม สมาทานแล้วในเวลาจะตาย เพราะฉะนั้น เขาตายไป จึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็แหละบุคคลที่เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ มีความเห็นชอบในโลกนี้นั้น เขาย่อมเสวยวิบาก ของกรรมนั้นในชาตินี้ หรือในชาติหน้า หรือในชาติต่อไป

ด้วยประการนี้ กรรมไม่ควร ส่องให้เห็นว่าไม่ควรก็มี ให้เห็นว่าควรก็มี และกรรมที่ควรแท้ ๆ ส่องให้เห็นว่าควรก็มี ให้เห็นว่าไม่ควรก็มี


(๑๙) คนลามกย่อมเห็นความเจริญตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปย่อมให้ผล คนลามกจึงเห็นบาปเมื่อนั้น แม้คนเจริญก็ย่อมเห็นบาป ตราบเท่าที่ความเจริญยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดกรรมดีย่อมให้ผล เขาจึงเห็นความเจริญ

อากาศ ท่ามกลางสมุทร ช่องภูเขาอันเป็นที่เข้าไป ส่วนแห่งแผ่นดินที่บุคคลสถิตอยู่แล้ว พึงพ้นจากกรรมอันลามกได้ ไม่มีเลย


เหตุให้เกิดกุศลกรรม อกุศลกรรม

(๒๐) ธรรมชาติ ๓ ประการนี้ เป็นเหตุให้เกิดกรรม คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑

กรรมที่ถูกโลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำ เกิดแต่โลภะ โทสะ โมหะ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นแดนเกิด ย่อมให้ผลในที่ที่เกิดอัตภาพของเขา กรรมนั้นให้ผลในขันธ์ใด ในขันธ์นั้นเขาจะต้องเสวยวิบากของกรรมนั้น ในลำดับที่เกิดหรือต่อ ๆ ไปในปัจจุบันนั่นเอง 

เปรียบเหมือนเมล็ดพืชที่ไม่แตกหักเสียหาย ไม่ถูกลมแดดกระทบ มีสาระ เก็บงำไว้ดี เขาหว่านลงบนพื้นดินที่พรวนไว้ดีแล้วในไร่ที่ดี ทั้งฝนก็ตกดีตามฤดูกาล เมล็ดพืชเหล่านั้นย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์โดยแท้ทีเดียว

ธรรมชาติ ๓ ประการนี้ เป็นเหตุให้เกิดกรรม คือ อโลภะ ๑ อโทสะ ๑ อโมหะ ๑

กรรมที่ถูกอโลภะ อโทสะ อโมหะครอบงำ เกิดแต่อโลภะ อโทสะ อโมหะ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นเหตุ มีอโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นแดนเกิด เมื่อโลภะ โทสะ โมหะปราศไปแล้ว ย่อมเป็นอันบุคคลละได้เด็ดขาด ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา 

เปรียบเหมือนบุรุษพึงเอาไฟเผาเมล็ดพืชที่ไม่แตกหักเสียหาย ยังไม่ถูกลมแดดกระทบ มีสาระถูกเก็บงำไว้ดีแล้ว ครั้นแล้วพึงทำให้เป็นเขม่า แล้วโปรยลงไปในลมพายุ หรือลอยเสียในแม่น้ำที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว พึงเป็นพืชถูกถอนรากขึ้น ถูกทำให้เหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มีไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา

ผู้รู้จักกรรมอันเกิดแต่โลภะ เกิดแต่โทสะและเกิดแต่โมหะ เขาทำกรรมใด จะน้อยหรือมากก็ตาม เขาจะต้องเสวยผลกรรมนั้นในอัตภาพนี้แหละ วัตถุชนิดอื่นย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้รู้แจ้งความโลภ ความโกรธ และความหลง ทำให้วิชชาบังเกิดขึ้น พึงละทุคติเสียได้ทั้งหมด


บุคคลผู้โลภ ผู้โกรธ ผู้หลง กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล

(๒๑) บุคคลผู้โลภ ผู้โกรธ ผู้หลงถูกความโลภ ความโกรธ ความหลง ครอบงำ มีจิตอันความโลภ ความโกรธ กลุ้มรุม ย่อมก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้อื่นโดยไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน การจองจำ ให้เสื่อม ติเตียน หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นอกุศล

อกุศลธรรมอันลามกเป็นอันมากที่เกิดเพราะความโลภ ความโกรธ ความหลง มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นเหตุ มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นแดนเกิด มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นปัจจัยนี้ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้

บุคคลเห็นปานนี้ ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งเกิดเพราะความโลภ ความโกรธ ความหลงครอบงำ มีจิตอันอกุศลธรรมกลุ้มรุมในปัจจุบันย่อมอยู่เป็นทุกข์ ลำบาก คับแค้น เดือดร้อน เมื่อแตกกายตายไปทุคติเป็นอันหวังได้

บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง กระทำกรรมใดด้วยกาย วาจา ใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นกุศล บุคคลผู้ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ไม่ถูกความโลภ ความโกรธ ความหลงครอบงำ มีจิตอันความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่กลุ้มรุม ไม่ก่อทุกข์ให้เกิดแก่ผู้อื่นโดยความไม่เป็นจริง ด้วยการเบียดเบียน จองจำ ให้เสื่อม หรือโดยการขับไล่ ด้วยการอวดอ้างว่า ฉันเป็นคนมีกำลัง ตั้งอยู่ในกำลัง แม้ข้อนั้นก็เป็นกุศล

กุศลธรรมเป็นอันมากที่เกิดเพราะความไม่โลภ มีความไม่โลภเป็นเหตุ มีความไม่โลภเป็นแดนเกิด มีความไม่โลภเป็นปัจจัย ย่อมเกิดมีแก่บุคคลนั้น ด้วยประการฉะนี้

บุคคลเห็นปานนี้ละธรรมฝ่ายบาปอกุศลที่เกิดเพราะโลภะ โทสะ โมหะได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ย่อมอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่มีทุกข์ ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน ปรินิพพานในปัจจุบันนี้เอง


(๒๒) กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นเหตุ มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อความดับกรรม

กรรมใดซึ่งบุคคลทำด้วยความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง เกิดแต่ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง มีความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลงเป็นเหตุ มีความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลงเป็นแดนเกิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นเป็นไปเพื่อความดับกรรม กรรมนั้นไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป


(๒๓) เหตุแห่งความเกิดขึ้นแห่งกรรม ๓ ประการนี้ คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑

เทวดา มนุษย์หรือสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น ย่อมไม่ปรากฏเพราะกรรมเกิดแต่โลภะ โทสะ โมหะ. 

นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉานปิตติวิสัย หรือทุคติ อย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น ย่อมปรากฏเพราะกรรมเกิดแต่โลภะ โทสะ โมหะ.

อกุศลมูล ๓ ประการนี้ คือ โลภะอกุศลมูล ๑ โทสะอกุศลมูล ๑ โมหะอกุศลมูล ๑ เพื่อความเกิดแห่งอัตภาพในนรก ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในปิตติวิสัย (เปรตวิสัย)

นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย หรือทุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น ย่อมไม่ปรากฏเพราะกรรมเกิดแต่อโลภะ อโทสะ อโมหะ

เทวดา มนุษย์ หรือสุคติอย่างใดอย่างหนึ่งแม้อื่น ย่อมปรากฏเพราะกรรมเกิดแต่อโลภะ อโทสะ อโมหะ.

กุศลมูล ๓ ประการนี้ คือ อโลภะกุศลมูล ๑ อโทสะกุศลมูล ๑ อโมหะกุศลมูล ๑ เพื่อความเกิดแห่งอัตภาพในเทวดา และในมนุษย์


(๒๔)  ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้ เป็นเหตุให้เกิดกรรม คือ

ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ๑
ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ๑
ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ๑

ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างไร

บุคคลปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ตรึกตรองตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ตรึกตรองตามอยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น  เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์

ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างนี้แล

ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างไร

บุคคลปรารภธรรมอันที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ตรึกตรองตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ตรึกตรองตามอยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์

ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างนี้แล

ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างไร

บุคคลปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ตรึกตรองตามด้วยใจ เมื่อเขาปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ตรึกตรองตามอยู่ด้วยใจ ย่อมเกิดความพอใจ ผู้ที่เกิดความพอใจแล้ว ย่อมประกอบด้วยธรรมเหล่านั้น เรากล่าวความกำหนัดแห่งใจนั้นว่าเป็นสังโยชน์

ความพอใจย่อมเกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างนี้แล

ธรรมชาติ ๓ อย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดกรรม คือ

ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ๑
ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคต ๑
ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ๑

ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างไร

บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีต ครั้นแล้วละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นแล้วฟอกด้วยใจ เห็นตลอดด้วยปัญญา ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอดีตอย่างนี้แล

ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างไร

บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งฉันทราคะในอนาคต ครั้นแล้วละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นแล้วฟอกด้วยใจ เห็นตลอดด้วยปัญญา ความพอใจย่อมไม่เกิด เพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในอนาคตอย่างนี้แล

ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบันอย่างไร

บุคคลรู้ชัดซึ่งวิบากต่อไปของธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน ครั้นแล้วละเว้นวิบากนั้นเสีย ครั้นแล้วฟอกด้วยใจ เห็นตลอดด้วยปัญญา ความพอใจย่อมไม่เกิดเพราะปรารภธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งฉันทราคะในปัจจุบัน
 

กรรมคือสิ่งที่จำแนกสัตว์

(๒๕) สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้

กรรมที่ทำให้อายุสั้น

บุคคลผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุสั้น

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้นนี้ คือ เป็นผู้มักทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง เป็นคนเหี้ยมโหด มีมือเปื้อนเลือด หมกมุ่นในการประหัตประหาร ไม่เอ็นดูในเหล่าสัตว์มีชีวิต

กรรมที่ทำให้อายุยืน

บุคคลผู้ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้น อันเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีอายุยืน

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืนนี้ คือ ละปาณาติบาตแล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติบาต วางอาชญา วางศาตราได้ มีความละอาย ถึงความเอ็นดู อนุเคราะห์ด้วยความเกื้อกูลในสรรพสัตว์และภูตอยู่

กรรมที่ทำให้มีโรคมาก

ผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคมาก

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากนี้ คือ เป็นผู้มีปรกติเบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา

กรรมที่ทำให้มีโรคน้อย

ผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโรคน้อย

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคน้อยนี้ คือ เป็นผู้มีปรกติไม่เบียดเบียนสัตว์ด้วยฝ่ามือ หรือก้อนดิน หรือท่อนไม้ หรือศาตรา

กรรมที่ทำให้มีผิวพรรณทราม

คนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีผิวพรรณทราม

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทรามนี้ คือ เป็นคนมักโกรธ มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่าเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท มาดร้าย ทำความโกรธ ความร้ายและความขึ้งเคียดให้ปรากฏ

กรรมที่ทำให้เป็นคนมีผิวพรรณผ่องใส

คนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย และความขึ้งเคียดให้ปรากฏ เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนน่าเลื่อมใส

ปฏิปทาเป็นไปเป็นคนมีผิวพรรณผ่องใสนี้ คือ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่มากด้วยความแค้นเคือง ถูกเขาว่ามากก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธเคือง ไม่พยาบาท ไม่มาดร้าย ไม่ทำความโกรธ ความร้าย ความขึ้งเคียดให้ปรากฏ

กรรมที่ทำให้เป็นคนมีศักดาน้อย

ผู้มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลังจะเป็นคนมีศักดาน้อย

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อยนี้ คือ มีใจริษยา ย่อมริษยา มุ่งร้าย ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น

กรรมที่ทำให้เป็นคนมีศักดามาก

ผู้มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น เขาตายไปจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีศักดามาก

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดามากนี้ คือ มีใจไม่ริษยา ย่อมไม่ริษยา ไม่มุ่งร้าย ไม่ผูกใจอิจฉาในลาภสักการะ ความเคารพ ความนับถือ การไหว้ และการบูชาของคนอื่น

กรรมที่ทำให้เป็นคนมีโภคะน้อย

ผู้ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไปจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะน้อย

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะน้อยนี้ คือ ไม่ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีปแก่สมณะหรือพราหมณ์

กรรมที่ทำให้เป็นคนมีโภคะมาก

ผู้ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาตายไปจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีโภคะมาก

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมากนี้ คือ ให้ข้าว น้ำ ผ้า ยานดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย เครื่องตามประทีป แก่สมณะหรือพราหมณ์

กรรมที่ทำให้เกิดในสกุลต่ำ

คนกระด้าง เย่อหยิ่ง ไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไปจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำนี้ คือ เป็นคนกระด้าง เย่อหยิ่ง ย่อมไม่กราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ไม่ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ไม่ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ไม่ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง ไม่สักการะคนที่ควรสักการะ ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ ไม่นับถือคนที่ควรนับถือ ไม่บูชาคนที่ควรบูชา

กรรมที่ทำให้เกิดในสกุลสูง

คนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา เขาตายไปจะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนเกิดในสกุลสูง

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีสกุลสูงนี้ คือ เป็นคนไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่ง ย่อมกราบไหว้คนที่ควรกราบไหว้ ลุกรับคนที่ควรลุกรับ ให้อาสนะแก่คนที่สมควรแก่อาสนะ ให้ทางแก่คนที่สมควรแก่ทาง สักการะคนที่ควรสักการะ เคารพคนที่ควรเคารพ นับถือคนที่ควรนับถือ บูชาคนที่ควรบูชา

กรรมที่ทำให้เป็นคนมีปัญญาทราม

ผู้ไม่เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่า อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไป ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใด ๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญาทราม

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญาทรามนี้ คือ ไม่เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน

กรรมที่ทำให้เป็นคนมีปัญญาดี

ผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน เขาตายไป จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมนั้นเขาให้พรั่งพร้อม สมาทานไว้อย่างนี้ หากตายไปไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้ามาเป็นมนุษย์ เกิด ณ ที่ใดๆ ในภายหลัง จะเป็นคนมีปัญญามาก

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามากนี้ คือ เป็นผู้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วสอบถามว่า อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเสพ อะไรไม่ควรเสพ อะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน หรือว่าอะไรเมื่อทำ ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขสิ้นกาลนาน

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุสั้น ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุสั้น
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีอายุยืน ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีอายุยืน

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคมากย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคมาก
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโรคน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโรคน้อย

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีผิวพรรณทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีผิวพรรณทราม
ปฏิปทาที่เป็นไปเพื่อความมีผิวพรรณผ่องใส ย่อมนำเข้าไปสู่ความมีผิวพรรณผ่องใส

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดาน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดาน้อย
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีศักดามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีศักดามาก

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะน้อย ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะน้อย
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีโภคะมาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีโภคะมาก

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลต่ำ ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลต่ำ
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อเกิดในสกุลสูง ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนเกิดในสกุลสูง

ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญาทราม ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญาทราม
ปฏิปทาเป็นไปเพื่อมีปัญญามาก ย่อมนำเข้าไปสู่ความเป็นคนมีปัญญามาก

สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีต


สิ่งที่พึงหวังไม่ได้แห่งกรรม

(๒๖) พวกท่านจะพึงปรารถนาไม่ได้ดังนี้ว่า

กรรมใดเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในชาติหน้า ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด

กรรมใดเป็นของให้ผลในชาติหน้า ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลในปัจจุบัน ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด

กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นสุข ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด

กรรมใดเป็นของให้ผลเป็นทุกข์ ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเป็นสุข ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด

กรรมใดเป็นของให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลอย่าเพ่อเสร็จสิ้น ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด

กรรมใดเป็นของให้ผลยังไม่เสร็จสิ้น ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลเสร็จสิ้นด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด

กรรมใดเป็นของให้ผลมาก ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลน้อย ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด

กรรมใดเป็นของให้ผลน้อย ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผลมาก ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด

กรรมใดเป็นของให้ผล ขอกรรมนั้นจงเป็นของอย่าให้ผล ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด

กรรมใดเป็นของไม่ให้ผล ขอกรรมนั้นจงเป็นของให้ผล ด้วยความพยายามหรือด้วยความเพียรเถิด


(๒๗) บุรุษในโลกนี้ฆ่าสัตว์ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนมาประชุมกันแล้ว พึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบผู้นั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไปจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ บุรุษนั้นเมื่อตายไปไม่พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์เพราะเหตุการสวดวิงวอน เพราะเหตุการสรรเสริญ หรือเพราะเหตุการประนมมือเดินเวียนรอบของมหาชน

เปรียบเหมือนบุรุษโยนหินก้อนหนาใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบหินนั้นว่า ขอจงโผล่ขึ้นเถิดท่านก้อนหิน ขอจงลอยขึ้นเถิดท่าน ก้อนหิน ขอจงขึ้นบกเถิดท่านก้อนหิน ก้อนหินนั้นพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้น หรือพึงขึ้นบก เพราะเหตุการสวดวิงวอน สรรเสริญประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ

ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษคนใดฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไปจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็จริง แต่บุรุษนั้นเมื่อตาย พึงเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก

บุรุษในโลกนี้เว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก บุรุษนั้นเมื่อตายไปไม่พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก เพราะเหตุการสวดวิงวอน สรรเสริญ หรือเพราะเหตุการประนมมือเดินเวียนรอบของมหาชน

เปรียบเหมือนบุรุษลงยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใสหรือหม้อน้ำมัน ก้อนกรวดหรือก้อนหินที่มีอยู่ในหม้อนั้น พึงจมลง เนยใสหรือน้ำมันที่มีอยู่ในหม้อนั้นพึงลอยขึ้น หมู่มหาชนพึงมาประชุมกันแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบเนยใสหรือน้ำมันนั้นว่า ขอจงจมลงเถิดท่านเนยใสและน้ำมัน ขอจงดำลงเถิดท่านเนยใสและน้ำมัน ขอจงลงภายใต้เถิดท่านเนยใสและน้ำมัน ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เนยใสและน้ำมันนั้นพึงจมลง พึงดำลง พึงลงภายใต้ เพราะเหตุการสวดวิงวอนสรรเสริญ หรือเพราะเหตุการประนมมือเดินเวียนรอบของหมู่มหาชนบ้างหรือ

ฉันนั้นเหมือนกัน บุรุษใดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ ไม่มากไปด้วยอภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ หมู่มหาชนจะพากันมาประชุมแล้วสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบบุรุษนั้นว่า ขอบุรุษนี้เมื่อตายไป จงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ก็จริง แต่บุรุษนั้นเมื่อตายไป พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์


การอโหสิกรรม (การอดโทษ)

(๒๘) ตัวอย่างการอดโทษของพระผู้มีพระภาค

เทวดาที่ได้รุกรานพระผู้มีพระภาคทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงอดโทษ เพื่อจะสำรวมในกาลต่อไป

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

เมื่อพวกท่านแสดงโทษอยู่ หากบุคคลใดมีความโกรธอยู่ในภายใน มีความเคืองหนัก ย่อมไม่อดโทษให้ บุคคลนั้นย่อมสอดสวมเวร เราไม่ชอบเวรนั้น เราย่อมอดโทษแก่ท่านทั้งหลาย

(๒๙) ตัวอย่างการอดโทษของพระสารีบุตร

ภิกษุรูปหนึ่งได้กล่าวตู่พระสารีบุตร เมื่อพระสารีบุตรบันสือสีหนาทแล้ว ภิกษุรูปนั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษได้ครอบงำข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง เป็นคนไม่ฉลาดอย่างไร ที่ข้าพระองค์ได้กล่าวตู่ท่านพระสารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่เป็นจริง ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดรับโทษของข้าพระองค์นั้น โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

โทษได้ครอบงำเธอผู้เป็นคนพาล คนหลง ไม่ฉลาดอย่างไร ที่เธอได้กล่าวตู่สารีบุตรด้วยคำอันไม่มี เปล่า เท็จ ไม่เป็นจริง แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว กระทำคืนตามธรรม เราย่อมรับโทษของเธอนั้น

ข้อที่ภิกษุ (ก) เห็นโทษโดยความเป็นโทษ (ข) แล้วทำคืนตามธรรม (ค) ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า

ดูกรสารีบุตร เธอจงอดโทษต่อโมฆบุรุษผู้นี้ มิฉะนั้น เพราะโทษนั้น ศีรษะของโมฆบุรุษนี้จักแตก ๗ เสี่ยง

พระสารีบุตรกล่าวว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมอดโทษต่อท่านผู้มีอายุนั้น ถ้าผู้มีอายุนั้นกล่าวกะข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ขอท่านผู้มีอายุจงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วย


การก้าวล่วงบาปกรรม

(๓๐) พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนปาณาติบาต และตรัสว่า จงงดเว้นจากปาณาติบาต ทรงตำหนิติเตียนอทินนาทาน และตรัสว่า จงงดเว้นจากอทินนาทาน ทรงตำหนิติเตียนกาเมสุมิจฉาจาร และตรัสว่าจงงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ทรงตำหนิติเตียนมุสาวาท และตรัสว่า จงงดเว้นจากมุสาวาท โดยอเนกปริยาย

สาวกเป็นผู้เลื่อมใสในพระศาสดานั้น ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนปาณาติบาตโดยอเนกปริยาย และตรัสว่าจงเว้นจากปาณาติบาต

ก็สัตว์ที่เราฆ่ามีอยู่มากมาย ข้อที่เราฆ่าสัตว์มากมายนั้น ไม่ดีไม่งาม เราแลพึงเดือดร้อนเพราะข้อนี้เป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นหามิได้

เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละปาณาติบาตนั้นด้วย ย่อมงดเว้นจากปาณาติบาตต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้ด้วยประการอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิติเตียนอทินนาทานโดยอเนกปริยาย และตรัสว่าจงงดเว้นจากอทินนาทาน

ทรัพย์ที่เราลักมีอยู่มากมาย ข้อที่เราลักทรัพย์มากมายนั้น ไม่ดี ไม่งาม เราแลพึงเดือดร้อน เพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นหามิได้

เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละอทินนาทานนั้นด้วย ย่อมงดเว้นจากอทินนาทานต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้ด้วยประการอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิ ติเตียนกาเมสุมิจฉาจารโดยอเนกปริยาย และตรัสว่าจงงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร

เราประพฤติผิดในกามมีอยู่มากมาย ข้อที่เราประพฤติผิดในกามมากมายนั้น ไม่ดี ไม่งาม เราแลพึงเดือดร้อนเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นหามิได้

เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละกาเมสุมิจฉาจารนั้นด้วย ย่อมงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้ด้วยประการอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคทรงตำหนิ ติเตียนมุสาวาทโดยอเนกปริยาย และตรัสว่า จงงดเว้นจากมุสาวาท

ก็เราพูดเท็จมีอยู่มากมาย ข้อที่เราพูดเท็จมากมายนั้น ไม่ดี ไม่งาม เราแลพึงเดือดร้อนเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัยแท้ เราจักไม่ได้ทำบาปกรรมนั้นหามิได้

เขาพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ย่อมละมุสาวาทนั้นด้วย ย่อมงดเว้นจากมุสาวาทต่อไปด้วย เป็นอันว่าเขาละบาปกรรม ก้าวล่วงบาปกรรมได้ด้วยประการอย่างนี้

สาวกนั้นละปาณาติบาต งดเว้นจากปาณาติบาต ละอทินนาทาน งดเว้นจากอทินนาทาน ละกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ละมุสาวาท งดเว้นจากมุสาวาท ละปิสุณาวาจา งดเว้นจากปิสุณาวาจา ละผรุสวาจา งดเว้นจากผรุสวาจา ละสัมผัปลาปะ งดเว้นจากสัมผัปลาปะ ละอภิชฌา ไม่โลภมาก ละความประทุษร้าย คือ พยาบาท ไม่มีจิตพยาบาท  ละความเห็นผิด มีความเห็นชอบ

อริยสาวกนั้นปราศจากอภิชฌา ปราศจากพยาบาทอย่างนี้ ไม่หลงงมงาย มีความรู้สึกตัว มีสติ มีใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ กรรมที่ทำพอประมาณอันใด ในเมตตาเจโตวิมุตติ กรุณาเจโตวิมุตติ มุทิตาเจโตวิมุตติ อุเบกขาเจโตวิมุตติอันบุคคลอบรมแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างนี้ กรรมนั้นจะไม่เหลือ ไม่ตั้งอยู่ในรูปาวจรนั้น

 

 

อ้างอิง:
(๑)  นิพเพธิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๓๓๔ หน้า ๓๖๘
(๒)  อัยยิกาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๔๐๑ หน้า ๑๒๐
(๓)  สัมปทาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๓๐ หน้า ๑๓๓
(๔)  วาเสฏฐสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๗๐๗ หน้า ๔๘๙
(๕)  อจินติตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๗๗ หน้า ๗๙
(๖)  กรรมสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๒๒๗-๒๓๑ หน้า ๑๓๖
(๗)  อุปาลิวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๖๔ หน้า ๔๗-๔๘
(๘)  ภวสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๑๗ หน้า ๒๑๒-๒๑๓
(๙)  จูฬราหุโลวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๑๒๘-๑๓๒ หน้า ๑๐๖-๑๑๐
(๑๐)  ปริกุปปสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒ ข้อที่ ๑๒๙ หน้า ๑๓๒-๑๓๓
(๑๑)  อาปายิกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๕๓ หน้า ๒๕๓
(๑๒)  กรรมวรรคที่ ๔ พระไตรปิฎ กฉบับหลวง เล่มที่ ๒๑ ข้อที่ ๒๓๒-๒๔๐ หน้า ๒๑๙-๒๒๔
(๑๓)  เอกกนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวงเล่มที่ ๓๖ ข้อที่ ๔๗-๔๙ หน้า ๑๑๑
(๑๔)  ธรรมปริยายสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๑๙๓ หน้า ๒๖๖
(๑๕) กุกกุโรวาทสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๓ ข้อที่ ๘๘ หน้า ๖๖-๖๘
(๑๖)  กรรมสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๔ ข้อที่ ๑๙๔ หน้า ๒๖๓-๒๖๖
(๑๗)  โลณกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๔๐ หน้า ๒๓๗-๒๓๙
(๑๘)  มหากัมมวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๖๐๒-๖๑๖ หน้า ๒๙๔-๓๐๐
(๑๙)  ปาปวรรค พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๙ หน้า ๒๒
(๒๐)  นิทานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๔๗๓ หน้า ๑๒๘-๑๓๐
(๒๑)  มูลสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๐๙ หน้า ๑๙๒-๑๙๓
(๒๒) นิทานสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๕๑ หน้า ๒๔๙-๒๕๐
(๒๓)  จูฬนิทเทส พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๐ ข้อที่ ๑๑๗ หน้า ๓๔
(๒๔) นิทานสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ข้อที่ ๕๕๒ หน้า ๒๕๐-๒๕๒
(๒๕)  จูฬกัมมวิภังคสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๕๘๑-๕๙๖ หน้า ๒๘๗-๒๙๒
(๒๖)  เทวทหสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวงเล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๑๑-๑๒ หน้า ๙-๑๐
(๒๗)  ภูมกสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวงเล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๕๙๘-๖๐๒ หน้า ๓๑๙-๓๒๒
(๒๘)  อุชฌานสัญญีสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวงเล่มที่ ๑๕ ข้อที่ ๑๑๑ หน้า ๒๘
(๒๙)  วุฏฐิสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวงเล่มที่ ๒๓ ข้อที่ ๒๑๕ หน้า ๓๐๓
(๓๐)  อสังขาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวงเล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๖๑๕-๖๑๙ หน้า ๓๒๗-๓๒๙
 

 

คำต่อไป