Main navigation

มหาสุญญตสูตร

ว่าด้วย
ความว่างเปล่า สูตรใหญ่
เหตุการณ์
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พระอานนท์เรื่องความว่าง กามคุณ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ อุปัททวะของอาจารย์และศิษย์ วิธีพึงปฏิบัติต่อพระศาสดา

พระผู้มีพระภาคทรงกล่าวกับพระอานนท์ว่า

ภิกษุผู้ชอบคลุกคลีกัน ยินดีในการคลุกคลีกัน ประกอบเนืองๆ ซึ่งความชอบคลุกคลีกัน ชอบเป็นหมู่ ยินดีในหมู่ บันเทิงร่วมหมู่ 

ย่อมไม่งามเลย 

ไม่อยู่ในฐานะที่จะได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ ตามความปรารถนา โดยไม่ยากไม่ลำบาก 

ไม่อยู่ในฐานะที่จะบรรลุเจโตวิมุติอันปรารถนาเพียงชั่วสมัย หรือเจโตวิมุติอันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่  

ส่วนข้อที่ภิกษุเป็นผู้เดียว หลีกออกจากหมู่อยู่

พึงหวังเป็นผู้ได้สุขเกิดแต่เนกขัมมะ สุขเกิดแต่ความสงัด สุขเกิดแต่ความเข้าไปสงบ สุขเกิดแต่ความตรัสรู้ ตามความปรารถนา โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก นั่นเป็นฐานะที่มีได้

พึงหวังบรรลุเจโตวิมุติอันน่าปรารถนาเพียงชั่วสมัย หรือเจโตวิมุติอันไม่กำเริบมิใช่เป็นไปชั่วสมัยอยู่ นั่นเป็นฐานะที่มีได้

ทรงไม่พิจารณาเห็นแม้รูปอย่างหนึ่งซึ่งเป็นที่ไม่เกิดโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เพราะความแปรปรวนและความเป็นอย่างอื่นของรูป ตามที่เขากำหนัดกันอย่างยิ่ง ซึ่งบุคคลกำหนัดแล้ว

วิหารธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ในที่นั้น คือบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน เพราะไม่ใส่ใจนิมิตทั้งปวงอยู่

ถ้ามีบุคคลใดเข้าไปหาพระพุทธองค์ผู้อยู่ด้วยสุญญตสมาบัติวิหารธรรมนี้ในที่นั้น ๆ พระพุทธองค์ย่อมมีจิตน้อมไปในวิเวก ยินดียิ่งแล้วในเนกขัมมะ ปราศจากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะโดยประการทั้งปวง 

ถ้าภิกษุหวังว่าจะบรรลุสุญญตสมาบัติภายใน พึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่นด้วยการเข้ารูปฌาณ ๔ แล้วมนสิการความว่างภายใน ความว่างภายนอก ความว่างภายในและภายนอก และอาเนญชสมาบัติ

เมื่อกำลังมนสิการความว่างภายใน ความว่างภายนอก ความว่างภายในและภายนอก ในอาเนญชสมาบัติ จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน ความว่างภายนอก ความว่างภายในและภายนอก ในอาเนญชสมาบัติ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน ความว่างภายนอก ความว่างภายในและภายนอก ในอาเนญชสมาบัติ จิตยังไม่แล่นไป ยังไม่เลื่อมใส ยังไม่ตั้งมั่น ยังไม่นึกน้อมไปในความว่างภายใน

ด้วยอาการนี้ ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายใน ความว่างภายนอก ความว่างภายในและภายนอก ในอาเนญชสมาบัตินั้น

ภิกษุนั้นพึงดำรงจิตภายใน ให้จิตภายในสงบ ทำจิตภายในให้เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งจิตภายในให้มั่น ในสมาธินิมิตข้างต้น แล้วมนสิการความว่างภายใน ความว่างภายนอก ความว่างภายในและภายนอก และอาเนญชสมาบัติ

จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในความว่างภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เมื่อเรากำลังใส่ใจความว่างภายใน จิตย่อมแล่นไป เลื่อมใส ตั้งมั่น นึกน้อมไปในความว่างภายใน ความว่างภายนอก ความว่างภายในและภายนอก ในอาเนญชสมาบัติ

ด้วยอาการนี้แล ย่อมเป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องความว่างภายในนั้นได้

เมื่อบุคคลอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้

เมื่อจะจงกรม ยืน นั่ง นอน

ย่อมใส่ใจว่า อกุศลธรรมลามกคือ อภิชฌาและโทมนัส จะไม่ครอบงำการเดินจงกรม ยืน นั่ง นอน ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในการเดินจงกรม ยืน นั่ง นอน

เมื่อจะพูด จักพูดเรื่องราวซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด 

เมื่อจะตรึก จักไม่ตรึกในกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก ซึ่งเป็นวิตกที่เลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน และใส่ใจว่า เราจักตรึกในเนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก ซึ่งเป็นวิตกของพระอริยะ ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในการตรึก 

พิจารณาจิตในเรื่องกามคุณ ๕

ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่ามีความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เราเพราะกามคุณ ๕ ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้ เรายังละไม่ได้  

แต่ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่าไม่มีเลยที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นเพราะกามคุณ ๕ ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้เราละได้แล้ว ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องกามคุณ ๕  

พิจารณาความเกิดดับในอุปาทานขันธ์ ๕

เมื่อพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่ ย่อมละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราละอัสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้แล้ว ด้วยอาการนี้ เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕ 

สาวกไม่ควรจะติดตามศาสดาเพียงเพื่อฟังสุตตะ เคยยะ และไวยากรณ์เลย เพราะธรรมทั้งหลายอันพวกเธอสดับแล้ว ทรงจำแล้ว เพ่งตามด้วยใจแล้ว แทงตลอดดีแล้วด้วยความเห็น เป็นเวลานาน

สาวกควรจะใกล้ชิดติดตามศาสดา เพื่อฟังเรื่องราวซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อความกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ

 

 

อ่าน มหาสุญญตสูตร

 

อ้างอิง
มหาสุญญตสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มท่ี ๑๔ ข้อที่ ๓๔๓-๓๕๖ หน้า ๑๘๕-๑๙๓
ลำดับที่
14

อารมณ์

สงบ มั่นคง

สถานการณ์

การปฏิบัติธรรม

พระไตรปิฎกเสียงชุดอื่นๆ

พระธรรม

ธรรมปฏิบัติ

พระธรรม

วิเวก

พระธรรม

ธรรมวิภังค์

พระธรรม

เวทัลลธรรม

พระธรรม

อานุภาพกรรม

พระธรรม

สุคติ สุคโต

พระธรรม

ฆราวาสธรรม