Main navigation
ทุกข์
Share:

(๑)  ความเป็นทุกข์ ๓ อย่าง คือ

ความเป็นทุกข์เกิดจากความไม่สบายกาย ๑
ความเป็นทุกข์เกิดจากสังขาร ๑
ความเป็นทุกข์เกิดจากความแปรปรวน ๑

ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละความเป็นทุกข์ ๓ อย่างนี้ 

(๒) ข้อที่เรากล่าวว่า เธอทั้งหลายพึงทราบทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความต่างแห่งทุกข์ วิบากแห่งทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าว

ก็ทุกข์เป็นไฉน คือ

แม้ชาติก็เป็นทุกข์ แม้ชราก็เป็นทุกข์ แม้พยาธิก็เป็นทุกข์ แม้มรณะก็เป็นทุกข์ แม้โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ก็เหตุเกิดแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ

ตัณหา เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์

ก็ความต่างแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ

ทุกข์มากก็มี ทุกข์น้อยก็มี ทุกข์ที่คลายช้าก็มี ทุกข์ที่คลายเร็วก็มี นี้เรียกว่าความต่างแห่งทุกข์

ก็วิบากแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ

บุคคลบางคนในโลกนี้ ถูกทุกข์อย่างใดครอบงำ มีจิตอันทุกข์อย่างใดกลุ้มรุม ย่อมเศร้าโศก ลำบาก รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ถึงความหลง หรือบางคนถูกทุกข์ใดครอบงำแล้ว มีจิตอันทุกข์ใดกลุ้มรุมแล้ว ย่อมแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์ในภายนอกว่า ใครจะรู้ทางเดียวหรือสองทางเพื่อดับทุกข์นี้ได้

เรากล่าวทุกข์ว่า มีความหลงใหลเป็นผล หรือว่า มีการแสวงหาเหตุปลดเปลื้องทุกข์ภายนอกเป็นผล

นี้ เรียกว่าวิบากแห่งทุกข์

ก็ความดับแห่งทุกข์เป็นไฉน คือ

ความดับแห่งทุกข์ย่อมเกิดขึ้น เพราะความดับแห่งตัณหา

อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งทุกข์

ความเกิดและความดับแห่งทุกข์

(๓) ก็ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์เป็นไฉน

เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

นี้แลเป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์

เพราะอาศัยหูและเสียง...
เพราะอาศัยจมูกและกลิ่น...
เพราะอาศัยลิ้นและรส...
เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ ...

เพราะอาศัยใจและธรรม จึงเกิดมโนวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

นี้แลเป็นความเกิดขึ้นแห่งทุกข์

ก็ความดับแห่งทุกข์เป็นไฉน

เพราะอาศัยจักษุและรูป จึงเกิดจักขุวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

เพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสก ปริเทว ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

นี้แลเป็นความดับแห่งทุกข์

เพราะอาศัยหูและเสียง...
เพราะอาศัยจมูกและกลิ่น...
เพราะอาศัยลิ้นและรส...
เพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพะ...

เพราะอาศัยใจและธรรม จึงเกิดมโนวิญญาณ
ความประชุมแห่งธรรม ๓ ประการเป็นผัสสะ
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา

เพราะตัณหานั้นเทียวดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ อุปาทานจึงดับ
เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ
เพราะภพดับ ชาติจึงดับ
เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสก ปริเทว ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้

นี้แลเป็นความดับแห่งทุกข์


อุปมาทุกข์

(๔) ฝุ่นประมาณเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคทรงเอาปลายพระนขาช้อนขึ้นนี้มีประมาณน้อย เมื่อเทียบกับแผ่นดินใหญ่แล้ว ฝุ่นที่พระผู้มีพระภาคทรงเอาปลายพระนขาช้อนขึ้นมีประมาณน้อยย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑,๐๐๐ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐

ฉันนั้นเหมือนกัน ความทุกข์ที่หมดไป สิ้นไปของบุคคลผู้เป็นพระอริยสาวก สมบูรณ์ด้วยทิฐิ ตรัสรู้แล้ว มีมากกว่า ส่วนที่เหลือมีประมาณน้อย ความที่ทุกข์เป็นสภาพยิ่งใน ๗ อัตภาพ เมื่อเทียบเข้ากับกองทุกข์ที่หมดสิ้นไปอันมีในก่อน ไม่เข้าถึงเสี้ยวที่ ๑๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐๐ เสี้ยวที่ ๑๐๐,๐๐๐ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้แล การได้ธรรมจักษุให้สำเร็จประโยชน์ใหญ่อย่างนี้


ผู้ควร-ไม่ควรสิ้นทุกข์

(๕) ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้มานะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในมานะนั้น ยังละมานะนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ส่วนภิกษุรู้ยิ่ง กำหนดรู้มานะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในมานะนั้น ละมานะนั้นได้เด็ดขาด เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

หมู่สัตว์นี้ประกอบแล้วด้วยมานะ มีมานะเป็นเครื่องร้อยรัด ยินดีแล้วในภพ ไม่กำหนดรู้มานะ ต้องเป็นผู้มาสู่ภพอีก ส่วนสัตว์เหล่าใดละมานะได้แล้ว น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นมานะ สัตว์เหล่านั้นครอบงำกิเลสเครื่องร้อยรัดคือมานะเสียได้ ก้าวล่วงได้แล้วซึ่งกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง

(๖) ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้โลภะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในโลภะ ยังละโลภะนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ส่วนภิกษุรู้ยิ่ง กำหนดรู้โลภะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในโลภะนั้น ละโลภะนั้นได้เด็ดขาด เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งความโลภอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้โลภไปสู่ทุคติแล้ว ละได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ

(๗) ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้โทสะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในโทสะนั้น ยังละโทสะนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ส่วนภิกษุรู้ยิ่ง กำหนดรู้โทสะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในโทสะนั้น ละโทสะนั้นได้เด็ดขาด เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งโทสะอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประทุษร้ายไปสู่ทุคติแล้ว ละได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ

(๘) ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้โมหะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในโมหะนั้น ยังละโมหะนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ส่วนภิกษุรู้ยิ่ง กำหนดรู้โมหะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในโมหะนั้น ละโมหะนั้นได้เด็ดขาด เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งโมหะอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้หลงไปสู่ทุคติ แล้วละได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ

(๙) ภิกษุไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้มักขะ ไม่ยังจิตให้คลายกำหนัดในมักขะนั้น ยังละมักขะนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นผู้ไม่ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ส่วนภิกษุรู้ยิ่ง กำหนดรู้มักขะ ยังจิตให้คลายกำหนัดในมักขะนั้น ละมักขะนั้นได้เด็ดขาด เป็นผู้ควรเพื่อความสิ้นทุกข์

ชนผู้เห็นแจ้งทั้งหลาย รู้ชัดด้วยดีซึ่งมักขะอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ลบหลู่ไปสู่ทุคติ แล้วละได้ ครั้นละได้แล้ว ย่อมไม่มาสู่โลกนี้อีกในกาลไหน ๆ

 


 
 
 
อ้างอิง:
(๑)  ทุกขตาสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ ข้อที่ ๓๑๙ หน้า ๘๓
(๒)  นิพเพธิกสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๒  ข้อที่ ๓๓๔ หน้า ๓๖๙
(๓)  ทุกขนิโรธสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๑๖๑-๑๖๓ หน้า ๗๐ข๗๑
(๔)  นขสิขสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๖ ข้อที่ ๓๑๑-๓๑๒ หน้า ๑๓๐
(๕) มานสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๘๖
(๖) โลภสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๘๗
(๗) โทสสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๘๘
(๘) โมหสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๘๘
(๙) มักขสูตร พระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่มที่ ๒๕ ข้อที่ ๑๙๑
 
 
 

คำต่อไป